วัคซีนโควิดที่ใช้กันทั่วโลกขณะนี้น่าจะเรียกได้เต็มปากว่าเป็นวัคซีนประทัง ผ่อนหนักเป็นเบาหรือภาษาชาวบ้านคงจะเป็นแบบขัดตาทัพไปก่อน
และกระบวนการที่ใช้จะเป็นลักษณะจำยอมที่จะใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีเวลาการพัฒนาการศึกษาวิจัยในขั้นต่างๆในระยะเวลาไม่นานนัก และมีการประเมินสรุปประสิทธิภาพในระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งความปลอดภัย
การประเมินจากองค์กรนานาชาติทางด้านระบาดวิทยาและสถิติ สรุปในต้นเดือนกันยายนนี้ ในการประชุมที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดว่ารายงานของวัคซีนที่อยู่ในวารสาร ที่เรียกว่าเป็น RCT ที่ผ่านการประเมินและถือเป็นวารสารชั้นนำของโลก เมื่อเจาะลึกถึงข้อมูลในด้านต่างๆจะพบว่า มีความโอนเอียง (bias) ในระดับสูงถึงร้ายแรง (serious) และเมื่อเป็นในสถานการณ์จริงในระยะต่อมา ที่กระทำได้โดยการเฝ้าติดตามสังเกตอย่างเต็มที่ ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ด้อยกว่ารายงานช่วงแรกในการพัฒนาระยะที่สาม
และยังไม่สามารถระบุได้ชี้ชัดว่าอะไรที่เป็นตัวชี้บ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดและว่าจะเป็นไปได้ยาวนานเท่าใดและการป้องกันการตาย (correlates of protection และ severity)
...
แม้ว่ากลไกการป้องกันการติดจะรู้มากกว่าบ้าง และยังไม่ทราบชัดถึงความสำคัญของระบบเซลล์ชนิดใดรวมทั้งระบบย่อยต่างๆ
ทั้งนี้ โดยความจริงที่ว่ามีปัจจัยหลากหลายที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนในเรื่องของผู้ได้รับวัคซีนเอง อายุ เพศ ปัจจัยส่งเสริมให้ติดโรคง่าย อาการหนักง่าย สถานการณ์ของการได้รับเชื้อ ปริมาณของเชื้อ ลักษณะชนิดของเชื้อ
ภูมิคุ้มกันดั้งเดิมที่บางคนหรือประชาชนในบางพื้นที่อาจจะมีอยู่เก่าก่อน เนื่องจากอาจได้รับเชื้อที่มีลักษณะคล้ายกัน และมีภูมิความจำหลงเหลืออยู่ ที่เมื่อเจอโควิดแล้วสามารถถูกปลุกกระตุ้นให้ตื่นและทำงานได้สมศักดิ์ศรีทั้งระบบ ในขณะเดียวกันยังขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาต่อสู้ป้องกันของแต่ละคนว่าจะมีความไวและเก่งขนาด
ไหน...นอกจากนั้น ในตัวไวรัสเองซึ่งมีความสามารถอยู่แล้วในการเจาะลึกเข้าเซลล์และเนื้อเยื่อของมนุษย์ได้หลากหลาย ยังมีกลไกในการกดการสร้างปราการต่อสู้ และมิหนำซ้ำยังสามารถใช้มนุษย์คุ้มในส่วนของพลังงานในเซลล์มนุษย์ที่ติดเชื้อไปแล้วเอามาเอื้อประโยชน์ให้ตัวไวรัสอีก จนกระทั่งเซลล์พลังงานหมดเหี่ยวแห้งตายไป
บทบาทที่สำคัญอีกประการก็คือ ภูมิตอบสนองของมนุษย์ยังเป็นตัวกำหนดให้ติดยากหรือติดง่าย และตายยากหรือตายง่าย โดยมีทั้งภูมิเฉยๆ ภูมิดีที่ยับยั้งไวรัส ภูมิเลวที่กลับทำให้มีการอักเสบรุนแรงขึ้นจนกระทั่งถึงภูมิชั่วร้ายที่กลับทำให้ไวรัสเก่งขึ้นติดได้ง่าย เพิ่มจำนวนได้มากขึ้นและแพร่กระจายไปทั่ว และภูมิแปรปรวนที่กดการสร้างอินเตอร์เฟียรอน
ซึ่งจะยับยั้งไวรัสในระยะแรก และจนกระทั่งถึงปัจจุบันยังมีภูมิที่ไปจับกับตัวรับไวรัสของมนุษย์ที่เรียกว่า ACE2 และทำให้ผันผวนเกิดผลในทางลบและทำให้การอักเสบเกิดขึ้นไม่หยุดยั้ง แม้ว่าตัวไวรัสจะไม่อยู่แล้วก็ตามและกลายเป็นรากฐานของการเกิดโควิดตามหลังแบบยาวที่เรียกว่า long COVID
และผลจากการควบคุมการระบาดไม่ดีทำให้ไวรัสมีการปรับรหัสพันธุกรรมไปมากขึ้นเรื่อยๆและทำให้วัคซีนไม่ได้ผล จนต้องมีการปรับให้มีการกระตุ้นเข็มที่สามและด้วยยี่ห้อที่ต่างกันออกไปจากสองเข็มแรก
สาเหตุและเบื้องหลังที่เรียกว่าเป็นทางผ่านของวัคซีนในปัจจุบันนี้ เพราะตัวของวัคซีนนั้นต่างก็เลือกส่วน หรืออย่างน้อยก็ต้องมีส่วนของไวรัสที่ใช้ในการจับติดกับเซลล์ของมนุษย์ ACE2 ซึ่งไวรัสใช้ส่วนนี้ไม่ใช่ในการติดเชื้อแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกระตุ้นการอักเสบแบบไม่รู้จบเป็นวงจรและเกิดเยื่อพังผืดเช่นที่เกิดขึ้นในปอดและทำให้ปอดพัง...การที่วัคซีนจำลองส่วนของไวรัสมาใช้ ทั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการตาย ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดผล
ข้างเคียงหรือผลแทรกซ้อนแบบเดียวกับที่พบในคนป่วยที่ติดเชื้อโควิดจริงๆ
...
พวกเราคงจะจำกันได้ตั้งแต่เริ่มมีการใช้วัคซีนในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตายซึ่งน่าจะถือว่าเป็นวัคซีนที่รู้จักกันมานานที่สุดและควรจะมีความปลอดภัยสูงสุด แต่กระนั้นก็พบว่ามีผลข้างเคียงเรื่อยมาจนกระทั่งวัคซีนเทคโนโลยีอื่นๆที่ใช้กันในประเทศไทย ได้แก่ แอสตราฯไปจนกระทั่งถึงเทคโนโลยีใหม่สุด ไฟเซอร์ โมเดอร์นา
...ผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ แม้ว่าจะสรุปว่าไม่มากนักก็ตาม แต่แน่นอน
ไม่มีใครอยากได้และพูดกันเล่นๆว่ารอดแล้วจากวัคซีน โดยรอดที่หนึ่งคือตั้งแต่ฉีดจนกระทั่งถึงสามวันแรก รอดที่สองถึงประมาณวันที่ 12 และรอดที่สามถึงกระทั่งประมาณ 21 ถึง 22 วัน แต่มีที่เกิดหลังกว่านั้น
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงเหล่านี้เหมือนกับที่พบในคนติดเชื้อโควิดแทบทุกประการและเมื่อเทียบเคียงกับอาการที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อโควิดในระยะยาว ก็จะมีลักษณะคล้ายกัน...ทั้งนี้ โดยวัคซีนแต่ละชนิดดูจะมีลักษณะการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างกันเกือบจะเป็นลักษณะเฉพาะตัว เฉพาะอายุ แต่ทั้งหมดนี้อธิบายได้จากการอักเสบที่กระตุ้นจากวัคซีนแทนที่จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันดีอย่างเดียว
...
การอักเสบดังกล่าวที่ปะทุในร่างกายส่งผลทั้งในเรื่องของการปวดเมื่อย ตะคริวเฉพาะที่หรือทั้งตัว ท้องเสีย มีการหดเกร็ง (vasoconstriction หรือ spasm) ของเส้นเลือดในสมองและเส้นเลือดหัวใจตลอดจนการเกิดลิ่มเลือดในที่ต่างๆ ทั้งในเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำโดยจะร่วมหรือไม่ร่วมกับการที่มีเกล็ดเลือดต่ำก็ตาม หัวใจอักเสบ บางรายส่งผลถึงความแปรปรวนของเส้นประสาทแขนขาและลำตัวหรือเส้นประสาทสมอง ทำให้มีอาการเจ็บชา หรือทำให้กล้ามเนื้อกระตุก เช่น บริเวณใบหน้า ปาก ตา คิ้ว จนเส้นประสาทอักเสบอ่อนแรง
ที่สำคัญก็คือ การอักเสบทำให้โรคประจำตัวที่ซ่อนอยู่ทั้งที่คุมอาการได้แล้วหรือยังไม่ปรากฏอาการขึ้นแสดงตัวใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโรคพุ่มพวง SLE โรคสมองอักเสบทั้ง NMO MS และอาการทางหัวใจหรืออัมพฤกษ์เดิม...การอักเสบในร่างกายเหล่านี้แทรกซึมเข้าไปในสมองและจุดปะทุให้เกิดการอักเสบในส่วนใจกลางสมองที่ควบคุมการทำงานของสมองและควบคุมร่างกายทั้งหมด ความแปรปรวนที่เกิดขึ้น เช่น หลับตลอดเวลาหรือนอนไม่หลับ และมีอาการทางอารมณ์ทั้งจิตแปรปรวน
แต่เป็นโชคดีที่ผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์เหล่านี้ ถ้าไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิตหรือหัวใจวายหรือเส้นเลือดตัน ก็จะกลับคืนดีภายในระยะเวลาเป็นวันแต่อาจกินเวลาไปเป็นหลายอาทิตย์ และหลายรายที่ยังคงมีอาการค้างคาอยู่...ลักษณะดังกล่าวถ้าไม่ใช่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน วัคซีนทั้งหมดอาจจะไม่มีทางได้ออกมาใช้
และเป็นที่มาว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงเหล่านี้ เช่น ใช้ปริมาณน้อยลงโดยการฉีดเข้าชั้นผิวหนังซึ่งได้ประสิทธิภาพเท่ากัน แต่อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการคุ้มกันอาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการฉีดซ้ำซาก โดยที่เป็นที่ทราบกันแล้วว่าวัคซีนแต่ละชนิดระยะเวลาในการคุ้มกันจะตกลงตั้งแต่สองสามเดือนหลังฉีดเข็มสุดท้ายจนกระทั่งถึงสี่ถึงห้าเดือนและประจวบเหมาะกับการที่ไวรัสมีการผันแปร ทำให้ความเก่งของวัคซีนต่างๆด้อยลงไปอีก
...
จากเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ตราบใดที่วัคซีนยังคงต้องใช้ส่วนของไวรัสที่ใช้ในการเจาะเข้ามนุษย์และในการสร้างความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อของมนุษย์ ก็คงต้องพ่วงด้วยผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์เหล่านี้ ตราบจนกว่าที่จะมีวัคซีนยอดขุนพลที่จะกำราบเหล่าไวรัสได้ทั้งตระกูลโดยไม่แถมผลแทรกซ้อน
แล้วถ้าถามว่ายังคงต้องฉีดวัคซีนไหม คำตอบคือยังไงๆ ก็ต้องฉีดครับ ไม่มีทางเลือกอื่นในปัจจุบันนี้.
หมอดื้อ