แขนหุ่นยนต์สวมใส่ได้ที่มีในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะออกแบบให้ติดตั้งบนร่างกายส่วนบนของผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์ เช่น ต้นแขน เอว ไหล่ แม้ว่าระบบเหล่านี้บางอย่างก็มีผลน่าพึงพอใจ แต่โดยทั่วไปแล้วระบบจะใช้ฮาร์ดแวร์ขนาดใหญ่ แถมการสวมใส่อาจทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกไม่สบายนักเนื่องจากหนักและใช้พื้นที่เยอะ
ล่าสุดทีมวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยโตเกียว นำเสนอผลงานพัฒนาใหม่เกี่ยวกับแขนหุ่นยนต์ที่ออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด สามารถพับเป็นชิ้นเล็กๆได้โดยไม่รบกวนกิจกรรมประจำวันของผู้สวมใส่ เหมาะอย่างยิ่งต่อการใช้งานเป็นเวลานาน แขนหุ่นยนต์แบบใหม่นี้มีชื่อว่า AugLimb สร้างจากเครื่องพิมพ์และมอเตอร์ 3 มิติทั่วไป สามารถขยายได้ถึง 250 มิลลิเมตร และจับวัตถุต่างๆในบริเวณใกล้เคียงของผู้ใช้งานได้ เรียกว่าทำหน้าที่เป็นแขนที่ 3 ให้กับร่างกายนั่นเอง
นอกจากจะมีขนาดกะทัดรัดแล้ว AugLimb ยังมีน้ำหนักเบา สวมใส่สบาย เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่มีร่างกายเปราะบางไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้สูงวัย และอาจมีประโยชน์ในสถานการณ์ที่มนุษย์ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการวัตถุจำนวนมาก เช่น ทำอาหาร ทำความสะอาด ก่อสร้าง หรืออาจนำไปช่วยทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม AugLimb ตัวต้นแบบยังถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่มนุษย์ แต่ทีมยังต้องการปรับปรุงกลไกควบคุมและสำรวจทางเลือกอื่นๆต่อไป.
(ภาพประกอบ Credit : Ding et al.)