การพัฒนาเครื่องบินที่บินเร็วกว่าเสียงเป็นหนึ่งในการแข่งขันของหลายองค์กรหลายประเทศ ตามทฤษฎีแล้ว เครื่องบินที่มีความเร็วเหนือเสียงสามารถเดินทางจากลอนดอนในอังกฤษไปยังซิดนีย์ในออสเตรเลียได้ใน 4 ชั่วโมง แต่ยังมีความท้าทายนั่นคือเรื่องของระดับความร้อนสูง

เมื่อเร็วๆนี้มีผลศึกษาจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย อาร์เอ็มไอที (RMIT) ในนครเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เผยว่าได้จัดการกับความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งในการพัฒนาเครื่องบินที่มีความเร็วเหนือเสียง นั่นคือการควบคุมความร้อนสูงที่ก่อตัวขึ้นเมื่อเครื่องบินบินด้วยความเร็วมากกว่าเสียงถึง 5 เท่า โดยได้พัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาอเนกประสงค์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติที่มีประสิทธิภาพสูง ตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดใหม่นี้จะทำหน้าที่เป็นตัวแลกเปลี่ยนความร้อน ทำจากโลหะผสมและเคลือบด้วยแร่สังเคราะห์ที่เรียกว่าซีโอไลต์ (Zeolites) ทีมได้ทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งพบว่าตัวเร่งปฏิกิริยาที่พิมพ์ 3 มิตินี้ สามารถใช้เพื่อขับเคลื่อนการบินด้วยความเร็วเหนือเสียง ในขณะเดียวกันก็ทำให้ระบบเย็นลง

นักวิจัยระบุว่าการพัฒนานี้สามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องความร้อนสูงเกินไปในเครื่องบินที่มีความเร็วเหนือเสียง อีกทั้งยังเป็นการเสนอทางออกที่อาจปฏิวัติด้านการจัดการความร้อนในอุตสาหกรรมต่างๆอีกนับไม่ถ้วน อีกจุดเด่นที่ทีมวิจัยชูขึ้นก็คือการสร้างต้นทุนที่คุ้มค่าและปรับขนาดได้ง่าย นอกจากนี้ ยังหวังที่จะขยายความเป็นไปได้กับการใช้งานเพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศสำหรับยานพาหนะและอุปกรณ์ขนาดเล็ก เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการไวรัสติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่นโควิด-19.

(ภาพประกอบ Credit : NASA)