พวกเราทั่วไป แม้กระทั่งหมอจะถูกฝังหัวเชื่อว่า ของโบราณเชย ล้าสมัย ไม่ได้ผล ไม่มีประสิทธิภาพ และดาหน้าเข้าไปหายาใหม่จากบริษัทยา ซึ่งการจะออกยาใหม่แต่ละครั้งจะมีการวิจัยศึกษาออกแบบกระบวนการซึ่งดูหรูหรา
น่าเชื่อถือ และประชาชีต่างตื่นเต้นในค่าสถิติที่แสดงออกมาว่าช่วยได้นั่นโน่นนี่ มีนัยสำคัญ มีความเสี่ยงในการลดอันตรายแม้กระทั่งลดความเสี่ยงแบบอ้อมๆ (Relative risk reduction) ซึ่งไม่ตรงไปตรงมา ต่างกับการอธิบายตรงไปตรงมาว่าจะต้องรักษาไปกี่คนถึงจะช่วยชีวิตได้หนึ่งคน ซึ่งเมื่อดูข้อมูลเช่นนี้ (NNT number needed to treat) และจะรู้สึกใจหายว่าต้องรักษาเท่าใด หลาย 1,000 คน จึงจะช่วยชีวิตได้หนึ่งคน
กลยุทธ์ดังกล่าวทำให้มีการวิจัยและพัฒนายาใหม่ออกมาและยาเก่าโบราณซึ่งมีการใช้มาเนิ่นนานและหมดสิทธิบัตรแล้ว ราคาถูกจะไม่มีทางได้เข้ามาร่วมในการศึกษาในลักษณะดังกล่าว เพราะถ้าผลออกมาแล้วเกิดใช้ได้ดี หนำซ้ำใช้ได้ดีกว่ายาใหม่ด้วยซ้ำ จะเอาอะไรไปขาย ยาใหม่หน้าแตก กำไรหด
ลักษณะหลักฐานการวิจัยเชิงประจักษ์ ตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ ใครไม่อ่าน ใครไม่รู้จัก ถือเป็นเชย แต่แท้จริงแล้ว
สิ่งสำคัญที่แพทย์ทุกคนจำเป็นต้องรู้ นั่นก็คือกลไกที่ทำให้เกิดโรค ทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะนั้นๆ และกลไกอะไรที่ทำให้โรคดำเนินต่อไปได้
...
ถ้าขาดความรู้ในลักษณะนี้จะเป็นเพียงการเชื่อและการปฏิบัติตามข้อมูลที่ได้จากการตีความทางสถิติ ซึ่งความจริงไม่ต้องเป็นหมอที่ต้องเรียนตั้งแต่ 6 ปี 10 ปี 15 ปีขึ้นไป มีคนป่วยเข้ามากรอกประวัติใส่เข้าเครื่องประมวลผล และสั่งยาที่ได้รับการรับรองใหม่เอี่ยมแพงเลิศหรู และเสร็จแล้วจะมีประชาชนในประเทศกี่คนที่สามารถใช้ได้อาจจะมีเพียง 3 ถึง 5% ที่ร่ำรวยที่เป็นเจ้าของประเทศ แต่คนเดินดินชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่เท่าเทียม...สิ่งสำคัญของระบบสาธารณสุข คือการเข้าถึงการรักษาบริบาล ความเท่าเทียม ความเสมอภาค และถ้าจะทำอย่างนั้นได้ ในระดับประเทศไทย ซึ่งยังคงด้อยพัฒนาในความคิดการบริหารและวิธีประพฤติปฏิบัติอีกทั้งส่งผลกระทบ งบประมาณไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม
แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร?
ความจริงในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเรื่องของการใช้ยาโบราณ เช่น ยาแก้ปวดข้อเกาต์ ที่เกิดจากมีกรดยูริกมากและเสมือนทำให้ตกตะกอนในข้อและกระตุ้นเซลล์อักเสบต่างๆ ทำให้เกิดข้อบวม แดงร้อน เจ็บปวดขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไม่ได้ ยาดังกล่าวคือ ยาโคลชิซิน (colchicine) ถูกแสนถูก
ตั้งแต่ปลายปี 2017 มีการพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ต้นเหตุที่สำคัญก็คือการอักเสบในร่างกายและในเส้นเลือด มีการปล่อยสารอักเสบ เช่น IL 1 beta IL 18 TNF IL-6 รวมกระทั่งถึงมีการกระตุ้นกลไกในระดับเซลล์ทำให้มีการรวมกลุ่มของเม็ดเลือดขาวและยิ่งกว่านั้นก็คือ ต่อเนื่องการอักเสบให้รุนแรงขึ้น
การศึกษาโดยการระงับการ อักเสบเหล่านี้โดยมุ่งตรงไปที่ตัว IL 1 beta (CANTOS study) แสดงให้เห็นว่าการลดการอักเสบดังกล่าวในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดหัวใจตันไปแล้วและใช้ยาในการลดไขมันรวมกระทั่งถึงยากันเส้นเลือดตีบ จะทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวายจากเส้นเลือดตันในภายภาคหน้าดีขึ้นไปอีกถึง 15%
รายงานการศึกษาต่อมาพบว่าคนป่วยที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบตันมาหมาดๆ เมื่อเริ่มใช้ยาแก้ปวดข้อเกาต์ดังกล่าว สามารถที่จะลดความเสี่ยงของการที่จะเกิดเส้นเลือดตีบตันไปอีกมหาศาล หลังจากที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหรือได้รับการรักษาด้วยการถ่างเส้นเลือด และรักษาด้วยยาปกติเต็มที่แล้ว
การศึกษาใหม่ล่าสุดนี้รายงานในวารสาร American College of Cardiology วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ซึ่งถือว่าเป็นบุญต่อชาวโลกตามหลังการศึกษาแรกๆที่ตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์ เพราะการศึกษาวิจัยและติดตามต้องใช้ทุนรอนมากมายและทำให้คนไม่สนใจที่จะทำเพราะไม่ได้ผลประโยชน์ตอบแทน
ยาแก้ปวดข้อดังกล่าวนี้มีผลในการระงับ ยับยั้ง NLRP3 inflammasome และทำให้กระบวนการต่อเนื่องของการอักเสบถูกยับยั้งไป
รายงานใหม่นี้เป็นการศึกษา ติดตาม และวิเคราะห์ผลของยาแก้ปวดข้อดังกล่าวในคนป่วยที่มีโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง (LoDoCo2 low dose colchicine 2 trial) เป็นจำนวน 5,522 ราย และมีการติดตามเป็นระยะเวลา 28.6 เดือน โดยดูผลว่าจะเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว เส้นเลือดหัวใจตัน เส้นเลือดสมองตัน รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาในการขยายหรือเปลี่ยนเส้นเลือด
...
ทั้งนี้ พบว่ายาแก้ปวดข้อโบราณสามารถที่จะลดความเสี่ยงได้ถึง 31% โดยลดความเสี่ยงของเส้นเลือดหัวใจตันและกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ 30% และถ้ารวมอัมพฤกษ์ การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและเส้นเลือดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายจะลดความเสี่ยงได้ 28%
คนป่วยที่อยู่ในการศึกษานี้จำนวน 84% มีประวัติเส้นเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลันและระยะเวลาจากเหตุการณ์วิกฤตินั้นจนกระทั่งเริ่มเข้าในการศึกษาและควบรวมด้วยยาแก้ปวดโบราณจะอยู่ที่ 6 ถึง 24 เดือน เป็นจำนวน 1,479 คน หรือ 27% และอยู่ในช่วงสองถึงเจ็ดปีเป็นจำนวน 1,582 คน หรือ 29% และมากกว่าเจ็ดปีเป็นจำนวน 1,597 คน หรือ 29%
ทั้งนี้ คนป่วยทั้งหมดจะต้องมีอาการคงที่อย่างน้อยหกเดือนหลังจากที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตินั้นแล้ว
ระยะเวลาที่จะเริ่มยาแก้ปวดโบราณไม่มีผลในการลดประโยชน์ที่ได้ และแม้แต่คนป่วยที่ไม่ถึงกับมีภาวะวิกฤติของเส้นเลือดหัวใจตันมากมายก็ยังได้รับอานิสงส์นี้เช่นกัน
รายงานนี้สนับสนุนรายงานก่อนหน้าที่ตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์ (COLCOT study) ที่มีคนป่วยเป็นจำนวน 4,745 ราย และได้รับยาแก้ปวดโบราณภายใน 30 วันหลังจากที่เกิดเหตุการณ์วิกฤติของเส้นเลือดหัวใจตันเฉียบพลันและกล้ามเนื้อหัวใจตาย ทั้งนี้ มีระยะเวลาการติดตาม 22.6 เดือนและได้ผลในการลดความเสี่ยง 23% และนอกจากสองรายงานนี้ยังมีอีกสามรายงานที่ชี้ชัดถึงผลประโยชน์ของยาโบราณนี้ ในวารสาร Can J Cardiology 2021 ; Am J Cardiol 2021 และ Eur Heart J 2021
...
การที่จะเกิดมีเส้นเลือดตันไม่ว่าจะเป็นหัวใจหรือสมองก็ตามมีพื้นฐานจากการอักเสบในร่างกาย ทั้งนี้จากโรคประจำตัวเช่น อ้วน สูบบุหรี่ เบาหวาน อาหารการกิน สารเคมี
การได้รับสารเคมีที่ปะปนในอาหาร สารฆ่าหญ้าและวัชพืชและแมลง ตลอดจนฝุ่นพิษจิ๋ว 2.5 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการอักเสบเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์วิกฤติเส้นเลือดตันไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากไม่สามารถที่จะละลายพฤติกรรมการบริโภคและไม่สามารถควบคุมการใช้สารเคมีอย่างบ้าคลั่งและไม่สามารถควบคุมมลภาวะ
อีกทั้งมีการนำเข้าขยะพิษเข้ามากำจัดในประเทศไทยและก่อให้เกิดมลพิษต่อเนื่องอย่างมหาศาลจากบริบทดังกล่าวนี้เองทำให้คนไทยเดินหน้าเข้าหาโรค มีเส้นเลือดตีบตันเข้าโรงพยาบาล มีศูนย์หัวใจผ่าตัดเส้นเลือดใส่ขดลวดถ่างเส้นเลือด มีการใช้ยาควบคุมอีกหลายขนานด้วยกันรวมกระทั่งถึงยาลดไขมัน และแน่นอนเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้นมากมายซึ่งการอักเสบเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน และพิสูจน์แล้วจาก CANTOS study ว่าถ้าลดการอักเสบจะไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยงของเส้นเลือดตันแต่สามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งในอวัยวะต่างๆได้แม้กระทั่งมะเร็งปอด
การนำมาซึ่งยาโบราณที่มีผลชัดเจนและใช้กันเนิ่นนานในการลดการอักเสบที่เกิดขึ้นจะเป็นการเพิ่มกำไรให้กับการรักษาในปัจจุบัน รวมกระทั่งถึงอาจจะสามารถลดชนิดและปริมาณของยาที่ใช้ควบรวมในโรคเหล่านี้ลงโดยพิจารณาถึงต้นเหตุและการควบคุมสาเหตุเหล่านี้ให้ได้เต็มที่พร้อมๆกัน
และเหล่านี้คือประโยชน์ของการที่ต้องทราบการกำเนิดโรค การดำเนินของโรค และการเลือกใช้ยาที่เหมาะสมที่ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการบรรเทาอาการแต่ต้องเป็นการขัดขวางการเกิดโรค หรือเมื่อเกิดโรคไปแล้วต้องชะลอไม่ให้โรคลุกลามไปอีก
หมอดื้อได้เชียร์หลายครั้งแล้วในบทความก่อนหน้าว่าต่อไปนี้คำขวัญของระบบสาธารณสุขคือ โรงพยาบาลต้องร้างไอซียู ต้องมีคนกวักมือเรียก มีโปรโมชัน ลดแลกแจกแถม ศูนย์หัวใจเจ๊งระเนระนาด ศูนย์ล้างไต ไม่มีไตให้ล้างเพราะไม่มีใครไตวาย เนื่องจากกำจัดควบคุมโรคทั้งหลายไม่ว่าความดันสูง เบาหวาน สารพิษได้ราบคาบ มีความรู้ในการไม่กินยาแก้ปวดเหมือนกับกินขนม
...
และอย่างว่า ทั้งหมดนี้เป็นความฝันหรือไม่ ถ้าจะให้เป็นจริงมาร่วมกันทำดีไหมครับ.
หมอดื้อ