- ปี 2563 อุตสาหกรรมดนตรีโลกมีรายได้รวมเป็นมูลค่า 21.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.4% จากปี 2562 เติบโตเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน
- Music Entrepreneurship คือ หลักสูตรของคณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) นับเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยและเอเชีย ที่หวังสร้างผู้ประกอบการที่มีทักษะธุรกิจดนตรี เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรียุคดิจิทัล
- ดนตรีเป็นศิลปะที่ชี้วัดความเจริญของประเทศ อาชีพนักดนตรีควรได้รับการส่งเสริมเชิงนโยบาย และไม่ควรถูกทิ้งไว้เบื้องหลังในยามวิกฤติ
“เรียนดนตรีจบไปจะทำงานอะไร?” อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เมื่อมีใครสักคนบอกว่าเลือกเรียนวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ค่านิยมสังคมไทยในอดีตมองว่านักดนตรีเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ไม่อาจสร้างรายได้ที่มั่นคง ทำให้การเล่นเครื่องดนตรี, ฟังเพลง, ร้องเพลง มักถูกจัดให้อยู่ในโหมดงานอดิเรกและความสามารถพิเศษเท่านั้น
แต่ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมดนตรีเติบโตอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับการเป็นฮับคอนเสิร์ตของกรุงเทพฯ ระบบสตรีมมิงเพลงเข้ามามีบทบาทช่วยเปิดเทรนด์แนวเพลงอินดี้ให้ผู้ฟัง รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งค่ายเพลง โอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกิจดนตรีในยุคดิจิทัลจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป จากความชื่นชอบในการฟังเพลง ก็สามารถต่อยอดไปสู่อาชีพใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีได้เช่นกัน
หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่าประเทศไทยมีหลักสูตร ‘Music Entrepreneurship’ (การเป็นผู้ประกอบธุรกิจดนตรี) ที่เปิดมารองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมดนตรีโดยเฉพาะ ซึ่งอยู่ในคณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ถือเป็นหลักสูตรแรกของไทยและเอเชีย เน้นสร้างนักดนตรี นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ นักการตลาดดนตรี ฯลฯ ที่มีความรู้ทางธุรกิจดนตรีระดับสูง
...
ไทยรัฐออนไลน์ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ปัณณวิช สนิทนราทร คณบดีคณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ถึงโอกาสในการสร้างรายได้และสร้างอาชีพจากดนตรี การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลที่หลายคนมองข้าม รวมถึงมุมมองที่มีต่ออุตสาหกรรมดนตรีไทยในปัจจุบัน เพื่อเป็นการแนะนำทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้ที่สนใจอยากเข้ามาทำงานในวงการดนตรีทั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลัง
รู้จัก "คณะดนตรี" หลักสูตร Music Entrepreneurship แห่งแรกของประเทศไทย
นับว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีหลักสูตรการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ที่ชื่อว่า ‘Music Entrepreneurship’ หรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจดนตรี อยู่ภายในคณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) เปิดครั้งแรกเมื่อปี 2563 เป็นการเรียนเพื่อสร้างศิลปินและผู้ที่สนใจดนตรีให้มีความเชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจ สามารถหาเงินจากดนตรีในยุคดิจิทัลได้ผ่านทักษะต่างๆ โดย ผศ.ดร.ปัณณวิช สนิทนราทร คณบดีคณะดนตรี ได้เผยแนวคิดเกี่ยวกับการสอนดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางของตลาดในปัจจุบัน เรียนเรื่องดนตรีอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ควรมีความรู้ด้านดิจิทัลและธุรกิจเข้ามาช่วยเสริมด้วย
“สมัยก่อนถ้าเราอยากเป็นศิลปิน มีทางเดียวคือเซ็นสัญญากับค่ายเพลง มีแมวมองมาเจอ หรือไปแข่งประกวด แล้วมีคนชักชวนไปอยู่ค่ายเพลง การจะทำอัลบั้มก็ต้องลงทุนมหาศาล แต่ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดของอุตสาหกรรมดนตรีเปลี่ยนไป จากสนามที่เคยแข่งกันบนโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ ก็ย้ายไปอยู่ที่แพลตฟอร์มออนไลน์คือ YouTube ไม่ว่าจะค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ ก็สามารถอัปโหลดวิดีโอได้ คนจะดูไม่ดูก็อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนวิทยุคนไม่ค่อยฟังกันแล้ว เปลี่ยนไปฟังสตรีมมิง การโปรโมตศิลปินก็เปลี่ยนไปใช้ Facebook หรือ Instagram แทน กลายเป็นว่าทุกคนมาอยู่ในสนามออนไลน์เหมือนกัน”
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ Music Entrepreneurship ไม่ได้เป็นหลักสูตรที่สอนแค่เรื่องดนตรี แต่มองข้ามไปถึงการสอนให้เข้าใจกลไกทางธุรกิจ เพื่อไปเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดนตรีได้อย่างมีคุณภาพ ไม่จำเป็นต้องเข้าค่ายเพลง ก็สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้สามารถหารายได้จากดนตรีได้อย่างยั่งยืน เป็นหลักสูตรที่ตลาดกำลังต้องการ ตอบโจทย์ยุคอินดี้อย่างแท้จริง เพราะใครๆ ก็สามารถเป็นศิลปินอิสระที่ทำเพลงเองได้ รองรับตลาดดนตรีที่ทำรายได้มูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
ทั้งนี้ จากรายงาน Global Music Report ของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (IFPI) ระบุว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมดนตรีโลกทำรายได้รวมกัน มูลค่าสูงถึง 21.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.4% จากปี 2562 เติบโตเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน การเติบโตอย่างรวดเร็วนี้เป็นผลของรายได้ที่มาจากการสตรีมมิง โดยเฉพาะรูปแบบการสมัครสมาชิกแบบชำระเงิน ที่เพิ่มขึ้น 18.5% มีจำนวนกว่า 443 ล้านบัญชี ซึ่งเข้ามาชดเชยรายได้รูปแบบอื่นๆ ของอุตสาหกรรมดนตรีที่ลดลง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
...
กว่าจะปลุกปั้นคนดนตรีให้ตอบโจทย์ตลาดดนตรียุคดิจิทัล ต้องเรียนอะไรบ้าง?
ผศ.ดร.ปัณณวิช สนิทนราทร กล่าวว่า คนดนตรีในยุคนี้ไม่ว่าจะทำงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ก็จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทักษะหลายๆ ด้านมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม เพิ่มโอกาสความสำเร็จ สู่การเป็นผู้ประกอบธุรกิจดนตรีในยุคดิจิทัล ตามหลักสูตร Music Entrepreneurship ได้แบ่งความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในยุคนี้ ออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
- Music (ดนตรี) : ทำความรู้จักพื้นฐานดนตรี ประวัติศาสตร์ดนตรี ทฤษฎีของดนตรีผ่านยุคสมัยต่างๆ การถอดบทเรียนวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จ หรือแม้แต่ความรู้ประยุกต์ เช่น Music and Health Science (ดนตรีกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาขาธุรกิจที่เริ่มได้รับความสนใจแล้วในประเทศไทย
- Creative & Production (ครีเอทีฟและโปรดักชั่น) : เรียนรู้กลไกการทำงานของดนตรี วิธีการเขียนเพลง ขั้นตอนการทำโปรดักชัน การบันทึกเสียง มิกซ์เสียงในสตูดิโอ ทำภาพนิ่ง ทำอาร์ตเวิร์ก การทำมิวสิกวิดีโอ รวมถึงการทำภาพปก (Thumbnail) สำหรับอัปโหลดเพลงลงแพลตฟอร์มสตรีมมิง
...
- Business (ธุรกิจ) : เข้าใจกระบวนการโซเชียลมีเดีย ทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง วิเคราะห์กลไกต่างๆ ควรทำคอนเทนต์อย่างไร โพสต์เมื่อไร การจัดคอนเสิร์ตให้วงต่างประเทศมาเล่น ต้องคิดราคาอย่างไร วิธีประเมินความเสี่ยง ลงทุนเท่าไรถึงจะคุ้ม และกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักดนตรีควรรู้
- Data (ข้อมูล) : ธุรกิจดนตรีเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง เพราะขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน แต่ทุกกลไกบนโซเชียลมีเดียที่ศิลปินใช้ ก็จะมี ‘ข้อมูล’ ให้นำมาวิเคราะห์จัดการต่อได้ แฟนเพจชอบโพสต์แบบไหน กดไลค์เวลาใดบ่อยที่สุด ฯลฯ การรู้จักใช้เครื่องมือดิจิทัล แอปพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ และปลั๊กอินต่างๆ จะช่วยชี้แนวทางให้ทำเพลงและคอนเทนต์ต่างๆ ถูกกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งช่วยลดข้อผิดพลาดจากการคาดเดาอีกด้วย
สิ่งที่นักดนตรีควรมี : "ติสต์" ให้ถูกที่ และบางทีแค่ "แพชชั่น" อย่างเดียวอาจไม่พอ
จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับค่ายเพลงและศิลปิน ผศ.ดร.ปัณณวิช ได้สะท้อนมุมมองว่า คนส่วนใหญ่อาจเห็นเฉพาะภาพเบื้องหน้าของศิลปินและนักดนตรี ที่เต็มไปด้วยความสุข แต่จริงๆ แล้วเบื้องหลังก็มีภาพทุกข์เยอะมากเช่นกัน แต่สิ่งที่หล่อเลี้ยงคนทำงานในสายอาชีพนี้ได้ก็คือ ‘แพชชั่น’ หรือความหลงใหลในสิ่งที่กำลังทำ ถือเป็นสิ่งที่คนดนตรีทุกคนต้องมีและรักษาไว้ ทว่านอกเหนือจากแพชชั่นแล้ว ก็ยังมีเรื่องของระเบียบวินัย และการวางตัวในฐานะศิลปิน ที่อยากแนะนำให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาทำงานในวงการนี้ได้ให้ความสำคัญ
...
“นักดนตรีต้องอาศัยระเบียบวินัยสูงมาก ผมสอนนักศึกษาว่าหากคุณมาสาย แล้วจะบอกว่าเพราะ ‘ติสต์’ นั่นเป็นการเข้าใจคอนเซปต์ของคำว่าติสต์ผิดไปเยอะมาก เพราะคำนี้มาจาก ‘อาร์ทิสต์’ (Artist) หมายถึง ผู้สร้างงานศิลป์จากทักษะที่ฝึกฝน ไม่ได้แปลว่าเขาจะสามารถทำอะไรตามใจก็ได้ สมมติต้องไปเล่นคอนเสิร์ตตอนบ่าย 3 โมง คุณมา 3 โมงแล้วบอกว่าผมมาตรงเวลา แต่สำหรับโลกของดนตรี คือคุณมาสายนะ เพราะคุณไม่สามารถวิ่งมาเหนื่อยๆ แล้วขึ้นเวทีได้เลย คุณต้องมีวินัยมาก่อนเวลาเพื่อจูนเสียง ซาวนด์เช็ก เตรียมจิตใจและความพร้อมเพื่อขึ้นเวที หรือถ้าคุณแต่งเพลง มิกซ์เพลง แต่ไม่สามารถส่งตามกำหนดได้ กว่าจะถึงมือศิลปิน หรือแผนงานที่ค่ายเพลงจะนำไปโปรโมตก็จะถูกเลื่อนไปหมด เพราะกระบวนการในอุตสาหกรรมดนตรีบางทีต้องอาศัยการทำงานต่อกันเป็นทอดๆ”
ผศ.ดร.ปัณณวิช กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ถือเรื่องความอ่อนน้อม โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับค่ายเพลง ศิลปิน ลูกค้า และแฟนเพลง เป็นการทำงานร่วมกับ 'คน' ที่มีความหลากหลาย จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะมีทักษะดังที่กล่าวมา
"สิ่งที่จะทำให้คุณปลอดภัยคือ อ่อนน้อม เป็นมิตร สุภาพ คุณอาจไม่รู้ว่าการไปเผลอทำตัว ‘ติสต์’ ใส่คนอื่น ซึ่งบังเอิญถ้าคนนั้นมีสิทธิให้โอกาสคุณเติบโตในอนาคตได้ล่ะ แต่เขาเข้าใจว่าเด็กคนนี้ไม่มีสัมมาคารวะ ขอข้ามไปดีกว่า งั้นคุณเสียโอกาสเลย ดังนั้นการทำงานร่วมกับคน ก็ควรมีทักษะสังคมส่วนนี้”
"SEO" และ "เว็บไซต์" การตลาดดิจิทัลที่ศิลปินไม่ควรมองข้าม
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังเกตได้ว่าในวงการเพลงให้ความสำคัญกับการตลาดดิจิทัลมากขึ้น ศิลปินอินดี้สามารถโปรโมตตัวเองและแจ้งเกิดผ่านโลกออนไลน์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งค่ายเพลง เทรนด์การทำภาพปกคลิปวิดีโอใน YouTube ให้ดึงดูดสายตา การสร้างสรรค์เนื้อหาผ่านโพสต์ใน Facebook ให้แฟนๆ เข้ามามีส่วนร่วม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ
แต่สิ่งหนึ่งที่ ผศ.ดร.ปัณณวิช มองว่ายังไม่ค่อยเห็นในเมืองไทยคือ ศิลปินส่วนใหญ่ไม่มีเว็บไซต์ ในขณะที่ศิลปินทั่วโลกนิยมสร้างเว็บไซต์ของตนเอง การฝากชีวิตไว้กับ Facebook, YouTube, Instagram ก็มีความเสี่ยง เพราะหากวันหนึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้มีปัญหาใช้งานไม่ได้ โดนปิดการเข้าถึง หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อศิลปินด้วย
“การทำเว็บไซต์ในยุคนี้ง่ายมาก มันมีแพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปทั้ง WIX หรือ WordPress หรือจะไปจ้างทำก็ได้ เพราะการมีเว็บไซต์ช่วยให้เข้าถึงวิธีทางการตลาดดิจิทัลด้วย SEO หรือ SEM ได้ด้วย ถ้ามีผู้ใช้งานลองค้นหาแนวดนตรีสักอย่างใน Google ก็มีโอกาสที่เว็บไซต์ศิลปินจะถูกค้นพบมากขึ้น นี่คือโลกยุคแห่งการเสิร์ช (Search) นึกถึงเวลาก่อนที่เราจะเป็นแฟนคลับใคร ถ้าอยากรู้จัก เราจะลองสุ่ม Keyword เสิร์ชก่อน ระบบเว็บไซต์ทำงานคนละแบบกับโซเชียลมีเดีย หรือสมมติถ้าสื่อสนใจอยากจะสัมภาษณ์หรือเขียนถึง อันดับแรกเขาก็ต้องเสิร์ชข้อมูลก่อน แต่ถ้าศิลปินไม่ได้ฝากข้อมูลอะไรไว้บนโลกออนไลน์เลย เราอาจจะเสียโอกาสที่จะถูกหยิบมาพูดถึง”
เมื่อ "ตัวเลข" เป็นส่วนหนึ่งในการวัดความสำเร็จ
การวัดความสำเร็จของนักดนตรีหรือศิลปินด้วย ‘ตัวเลข’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีตก็วัดกันด้วยตัวเลขเช่นกัน เพียงแต่อยู่ในรูปของยอดจำหน่ายเทป ซีดี แผ่นเสียง ส่วนปัจจุบันคือยุคสตรีมมิง ยอดวิวต่างๆ จึงเข้ามาตอบโจทย์ในลักษณะเดียวกัน แล้วตัวศิลปินจะรักษาสมดุลระหว่างความฝันและความสำเร็จอย่างไร?
“ก่อนอื่น คุณอาจจะต้องตอบคำถามว่าคุณคาดหวังอะไรจากการเป็นศิลปิน ถ้าเป็นเรื่องธุรกิจ มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำเพลงที่มีความแมส เพื่อให้คนฟังกลุ่มใหญ่เข้าถึงได้ง่าย พอมีคนฟังเยอะ สปอนเซอร์ก็จะชอบคุณด้วย แล้วดึงคุณให้มาอยู่ในแบรนด์หรือธุรกิจต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนสื่อสารกับลูกค้าของเขา แต่ถ้าศิลปินบอกว่า แค่อยากถ่ายทอดความเป็นตัวตนผ่านเสียงเพลง คุณก็อาจต้องยอมรับว่าจำนวนคนติดตามก็จะน้อย เพราะเพลงมีความเฉพาะกลุ่มมากขึ้น แต่คุณจะได้เหล่าแฟนพันธุ์แท้ เพราะพวกเขาชอบที่ตัวตนคุณจริงๆ"
ผศ.ดร.ปัณณวิช เสนอทางเลือกว่า ศิลปินสามารถทำได้ทั้ง 2 อย่าง โดยทำเพลงที่มีความแมสที่เข้าถึงคนกลุ่มหลัก ขณะเดียวกันก็ทำเพลงตามแบบที่ชอบ โดยใส่ไว้เป็นเพลย์ลิสต์แยกเป็นโปรเจคพิเศษ เป็นการทดลองตลาดไปในตัว โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์จะเห็นว่าศิลปินหลายคนหันมาเปิดช่อง Facebook หรือ YouTube และทำคอนเทนต์วิดีโอออนไลน์กันเยอะขึ้น เพราะเป็นโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม หรือหากใครที่มีความรู้ด้านการทำซาวนด์ ก็สามารถทำไปขายในเว็บไซต์ต่างๆ ที่รองรับ ถือเป็นรายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่งเช่นกัน
ทำอย่างไรให้ "เพลงไทย" ไปตีตลาดโลก?
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนนิติบุคคลประเภทต่างๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีทั่วประเทศทั้งสิ้น 720 ราย ยังไม่นับรวมคนดนตรีและศิลปินอิสระอีกมากมายที่หันมาสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง อีกทั้งเพลงบน YouTube ของศิลปินไทยหลายคนก็มียอดวิวที่สูงมาก บางวิดีโอสูงกว่าผลงานเพลงของศิลปินชื่อดังในต่างประเทศด้วยซ้ำ
ทว่าการเติบโตเหล่านี้ก็ดำเนินแค่ในประเทศเท่านั้น หากต้องการยกระดับวงการเพลงไทยไปตีตลาดโลก ก็จำเป็นต้องพัฒนาอีกหลายปัจจัย รวมถึงภาครัฐและเอกชนก็ต้องเข้ามาช่วยในเชิงนโนบาย ยกตัวอย่างเช่น
- ทำเพลงภาษาอังกฤษ
เพลงส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาไทย ซึ่งอาจเป็นกำแพงภาษาสำหรับนักดนตรีไทย ยากที่จะทำให้คนทั่วโลกมาฟังได้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ผู้คนค้นหาดนตรีใหม่ๆ หากภาษาและบริบทอื่นๆ ไม่เชื่อมโยงกัน ก็มีโอกาสที่เพลงไทยไม่ได้ไปต่อสำหรับกลุ่มคนฟังต่างชาติ
- ปรับการทำเพลงให้อินเตอร์มากขึ้น
เพลงส่วนใหญ่มีแนวโน้มความเป็นไทย ทำให้คนไทยฟัง หากอยากส่งออก จำเป็นต้องปรับให้มีความอินเตอร์มากขึ้น เช่น เนื้อเพลง ดนตรี หรือคัลเจอร์บางอย่างที่ทำให้คนฟังรู้สึกมีจุดร่วม แม้แต่เพลงเกาหลี ญี่ปุ่น ที่ไม่ได้ใช้เนื้อเพลงภาษาอังกฤษ แต่ดนตรีและรูปแบบที่นำเสนอค่อนข้างมีความเป็นตะวันตก
- สร้างวัฒนธรรมดนตรีตั้งแต่ระดับท้องถิ่น
ควรมีการส่งเสริมเปิดพื้นที่ดนตรีตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ให้แต่ละชุมชนและจังหวัดมี 'ไลฟ์เฮาส์' (Live House) ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ตอบโจทย์วงดนตรีอินดี้ ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งวงดนตรีท้องถิ่น วงดนตรีของเยาวชน มีพื้นที่มาแสดงให้คนดู ไม่จำเป็นต้องไปเล่นแค่ในผับ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเสพดนตรี
- ภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุน
ต้องมีการปรับทัศนคติในเรื่องของดนตรีก่อน สนับสนุนและส่งเสริมเชิงนโยบาย มองเห็นความสำคัญของอาชีพนักดนตรี เพื่อให้คนที่มีความฝัน มีแพชชั่น มองเห็นลู่ทางที่จะสร้างอาชีพและหารายได้ที่มั่นคงจากอาชีพนี้
"ครูสอนธุรกิจดนตรี" อาชีพที่ขาดแคลนในระบบการศึกษา
แม้ว่าโรงเรียนสอนดนตรีและอาชีพครูสอนดนตรีจะมีให้เห็นทั่วไป แต่แทบทั้งหมดเป็นไปในลักษณะการสอนเล่นเครื่องดนตรี และสอนร้องเพลง โดย ผศ.ดร.ปัณณวิช กล่าวว่า อาชีพที่หายากมากๆ คือ 'ครูสอนธุรกิจดนตรี' ทั้งที่อุตสาหกรรมนี้ใหญ่และสร้างรายได้มูลค่ามหาศาลให้ประเทศ หากจะมองหาคนไทยที่ไปเรียนด้านธุรกิจดนตรีที่ต่างประเทศมาโดยเฉพาะ ก็ยังมีจำนวนน้อยเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง สะท้อนว่าประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรที่จะมาเป็นผู้สอน และผู้ผลิตคนดนตรีคุณภาพเพื่อป้อนสู่ตลาดเพลง
จากความชื่นชอบและหลงใหลในดนตรี ผศ.ดร.ปัณณวิช ศึกษาต่อด้านธุรกิจดนตรี ที่ London College of Music และ University of Liverpool ประเทศอังกฤษ แน่นอนว่าการศึกษาคือการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่หากได้นำความรู้เหล่านั้นมาสอนคนไทยในฐานะครู ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้แก่ผู้เรียน โดยไม่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ เปรียบเสมือนการหย่อนเมล็ดพันธุ์คนดนตรีให้เติบโตผ่านระบบการศึกษาให้จบไปหาเลี้ยงชีพได้ ถือเป็นการผ่อนคืนทางอ้อมในสิ่งที่ครูลงทุนไป
"ผมคิดว่าครูสอนธุรกิจดนตรี เป็นอาชีพที่ยังขาดแคลนในเมืองไทย ครูที่สอนดนตรี หรือสอนให้เป็นนักร้องที่เก่งมีเยอะแล้ว แต่ครูที่สอนให้เอาสิ่งเหล่านี้มาทำเป็นอาชีพได้ด้วย ยังมีน้อยครับ สมัยก่อนเราอาจต้องการผลิตคนที่ร้องเพลง หรือเล่นเครื่องดนตรีเก่งๆ แต่สำหรับธุรกิจดนตรียุคนี้เราต้องการ 'มนุษย์เป็ดที่แข็งแรง' (คนมีทักษะชำนาญหลายอย่าง) ที่สามารถทำอะไรได้หลากหลาย มากกว่าสอนให้เก่งอะไรแค่อย่างเดียว ผมคิดว่าหากมีใครสนใจอาชีพนี้ ยังมีพื้นที่เปิดกว้างให้มาสอนเรื่องธุรกิจดนตรี การปั้นศิลปินว่าภูมิใจแล้วนะ แต่การปั้นเด็กคนหนึ่งให้กลายเป็นศิลปินที่เลี้ยงชีพได้ด้วยตัวเอง เป็นอะไรที่ภาคภูมิใจมากครับ"
วิกฤติโควิด-19 ทำคอนเสิร์ตอัมพาต แต่ "นักดนตรี" อยู่ชายขอบของการเยียวยา
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันส่งผลกระทบต่ออาชีพนักดนตรี ทั้งคนทำงานเบื้องหน้า-เบื้องหลัง เพราะสิ่งที่หล่อเลี้ยงพวกเขาคือคอนเสิร์ตและงานโชว์ต่างๆ แต่ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 นักดนตรีไทยกลับเป็นกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แทบไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยา สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร
ผศ.ดร.ปัณณวิช กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการออกนโยบายที่เน้นให้ความสำคัญกับดนตรี ไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกา หรือในยุโรป รัฐบาลให้เงินสนับสนุนเยียวยานักดนตรี ประคับประคองในยามวิกฤติ ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ แม้กระทั่งการจัดงานแสดงต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี ดนตรีไม่ได้ถูกขับเคลื่อนในแง่ของภาคเอกชนเท่านั้น แต่ภาครัฐออกนโยบายส่งเสริมดนตรี และได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่าย
"ในหลายประเทศนั้นให้ความสำคัญกับอาชีพนักดนตรีเป็นอย่างมาก ค่าตอบแทนของครูสอนดนตรี หรือนักดนตรีที่เล่นอยู่ในวงออเคสตร้าหรือโรงละครนั้น แทบไม่ต่างอะไรกับอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับเงินเดือนสูงๆ เลย เราอาจจะเคยได้ยินว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี หรือญี่ปุ่น มีการออกวีซ่าประเภทศิลปิน เพราะเขามองว่านักดนตรีเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง แต่ในไทย 'นักดนตรี' แทบไม่ถูกนับเป็นอาชีพ ถ้าสมมติต้องกรอกเอกสารหน่วยงานราชการ ในลักษณะเป็นช่องๆ ให้เลือกอาชีพ คงยากที่จะเห็นคำว่าอาชีพนักดนตรีปรากฏอยู่ในนั้น เรื่องนี้อาจต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ภาครัฐเองต้องมองว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เพราะเม็ดเงินอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกนั้นมีมูลค่ามหาศาล"
ดนตรีช่วยชี้วัดความเจริญของประเทศ ถึงเวลาผลักดันอย่างจริงจังหรือยัง?
ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างเอื้ออำนวยแก่ศิลปินอินดี้ เพราะทุกคนสามารถก้าวออกมาทำเพลง ปล่อยเพลงและโปรโมตเพลงได้เอง หากไม่รู้วิธีการก็ศึกษาเพิ่มเติมได้ การจะผลักดันให้อาชีพที่เกี่ยวข้องกับดนตรีเด่นชัดขึ้นมาจริงๆ จำเป็นต้องผลักดันเชิงนโยบายจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้อาชีพนักดนตรีเป็นเพียง 'ไม้ประดับ' อีกต่อไป
"ปัญหาอาจอยู่ที่ทัศนคติของคนบางกลุ่มในสังคมที่มีต่อดนตรี เพราะมองว่าดนตรีเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ยังไม่น่าให้ความสำคัญขนาดนั้น ดนตรีเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ดนตรีเป็นศิลปะที่ชี้วัดความเจริญของประเทศนั้นๆ หากทัศนคติเก่าๆ ค่อยๆ หายไป ก็จะเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้คนที่มีความฝันและแพชชั่นด้านดนตรี เข้ามาผลิตผลงานดนตรีคุณภาพเยอะๆ ผมมองว่ามันจะเป็นการนำไปสู่การเกิดค่านิยมทางอุตสาหกรรมใหม่ ที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศเราได้" ผศ.ดร.ปัณณวิช กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของอุตสาหกรรมดนตรีไทย อาจไม่ได้อยู่ที่การปรับตัวของศิลปิน-นักดนตรี เพื่อให้ตอบโจทย์ยุคดิจิทัลเพียงเท่านั้น แต่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพื่อให้คำว่า Music Entrepreneurship จับต้องได้จริงๆ และเปิดโอกาสให้คนที่มีความฝันสามารถหารายได้จาก 'อาชีพนักดนตรี' ได้เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ในสังคม
เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์
อ้างอิง