ช่วงเช้าวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา “คณะกรรมการศาลพ่อปู่” สถาบันโรคทรวงอก จัดกิจกรรม “งานฉลองศาลพ่อปู่ประจำปี ครั้งที่ 46” ณ สถาบันโรคทรวงอก
โดยมี นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก ประธานในพิธี พรั่งพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากรสถาบันฯ ประชาชนทั่วไป ร่วมถวายเครื่องไหว้บูชาพระ เครื่องเซ่นไหว้บวงสรวงพ่อปู่ ทำบุญเลี้ยงภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ 9 รูป
ศรัทธา...ความเชื่อที่มีต่อ “พ่อปู่”...หรือ “หลวงปู่ไวทรรศ์” มีมากล้น ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ บุคลากรที่เดินทางไปทำงานทุกวัน...ไม่น้อยแวะเข้าไปกราบสักการะ เพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเองและครอบครัว
“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” กล่าวกันว่า...ปกติแล้วผู้คนจะมาขอพ่อปู่กันมากที่สุดก็เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องของสุขภาพ มีไม่น้อยเหมือนกันนะ ที่เห็น...ก็จะเป็น “ผู้ป่วย” ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ขอให้หาย ปลอดภัย แคล้วคลาด ออกมาจากห้องผ่าตัดสำเร็จ...หายไวๆ จะได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว
...
“ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็มีพิธีบวงสรวงซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำ ปีละครั้งครับ” คำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่วัยกลางคนคนหนึ่งที่เชื่อศรัทธาในพ่อปู่
เขาเล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า สำหรับการขอสักการะนะครับ จะว่าไปแล้ว ใครจะขออะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่เสมอเหมือนว่าพ่อปู่สถิตอยู่ในโรงพยาบาลทรวงอก เป็นที่ยึดเหนี่ยวสำคัญของบุคลากร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และแน่นอนว่า...นับรวมไปถึงผู้คนที่มาโรงพยาบาลทั้งผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยที่ต้องการที่พึ่งทางจิตใจ
“เจ้าหน้าที่บางคนก็มาบนบานศาลกล่าว แม่ป่วย ญาติป่วยก็มาขอ...เรื่องเจ็บๆป่วยๆเท่านั้น สำหรับการแก้บนนั้นก็จะเป็นไข่ต้ม น้ำแดง ส่วนใครจะบนอย่างอื่นอย่างเช่นหัวหมูก็ว่ากันไปตามกำลังศรัทธา ขึ้นอยู่กับความเชื่อศรัทธาส่วนตัว...”
กรณีหากต้องแก้บนด้วย “ไข่ต้ม” ถ้าจะถามว่าจะต้องถวาย “พ่อปู่” กี่ฟองนั้น เอาเป็นว่าก็สุดแล้วแต่ผู้บน ขึ้นอยู่กับศรัทธาก็แล้วกันนะครับ
O O O
คาถาบูชา “หลวงปู่ไวทรรศ์” นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ (3 จบ)
ยัสสา นุสสะระเณนาปิ อันตะลิกเขปิ ปาณิโน ปะติฏฐะมะ ธิคัจฉันติ ภูมิยังวิยะ สัพพะทา สัพพูปัททะวะชาลัมหา อักขะโจรา ทิสัมภะวา คะณะนาณะจะ มุตตานัง ปะริตตันตัม ภะณามะเหฯ
คาถาบูชาขอพรหลวงปู่...“สิโรเม เตชะพระภูมิเทวารักษา ขอจงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติเทอญฯ”
เปิดบันทึกประวัติ “สถาบันโรคทรวงอก” ระบุว่า 90 ปีก่อน วัณโรคปอดเป็นโรคระบาดที่ทำให้ผู้ป่วยล้มตายเป็นจำนานมากในทุกประเทศในโลก...“ประเทศไทย” เราก็มีโรคนี้ชุกชุมอยู่หนาแน่น เช่นในกรุงเทพมหานครและธนบุรี ชาวบ้านส่วนมากไม่ค่อยรู้จักโรคนี้ แต่จะทราบกันทั่วไปว่า...เป็น “ฝีในท้อง”
และ...เชื่อว่าเมื่อใครเป็นโรคนี้แล้ว รักษาไม่หายและสามารถติดต่อกันทั้งครอบครัว ทั้งยังเป็นที่รังเกียจแก่บุคคลทั่วไป
หลักฐานทางวิชาการ สมเด็จพระบรม ชนกนาถได้ทรงนิพนธ์ไว้ในเอกสารสุขศึกษา เรื่อง “ทุเบอร์คุโลสิส” เมื่อปี พ.ศ.2463 ความตอนหนึ่งว่า...“ตามที่ได้ทำการตรวจศพ ค้นหาโรคที่ทำให้คนตายในโรงพยาบาลศิริราชที่กรุงเทพฯ ทุก 10 ศพที่ตรวจ ได้พบรอยเป็นโรคทุเบอร์คุโลสิส 2 ศพ ใน 2 ศพที่มีรอย ศพหนึ่งสันนิษฐานได้ว่าตายด้วยโรคทุเบอร์คุโลสิส แปลว่าจำนวนที่พวกเราตาย 10 คน ต้องตายด้วยโรคนี้ 1 คน...”
ด้วยเหตุวัณโรคเป็นที่พบมาก ในปี พ.ศ. 2482 “พระไวทยวิธีการ” อธิบดีกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอโครงการเพื่อสร้างโรงพยาบาลสำหรับรักษาวัณโรคเป็นแห่งแรกในประเทศไทยต่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และได้รับการอนุมัติจัดซื้อที่ดิน 27 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี
ปีเดียวกันนั้นเอง เริ่มสร้างตึกหลังแรกมีเตียงรับผู้ป่วยได้ 25 เตียง ชื่อว่า “ตึกพิทักษ์ประชาสุข” ต่อมาก็มีการก่อสร้างบ้านพักแพทย์ โรงครัว โรงซักฟอก โรงเก็บศพ ห้องแถวคนงาน บ้านพักพยาบาล บ่อน้ำ...
จนกระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2485 ได้มีพิธีเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ
...
O O O
เรื่อง “เจ็บไข้...ได้ป่วย” เป็นเรื่องใหญ่ของร่างกายนำพาจิตใจห่อเหี่ยวไปด้วยทั้งคนป่วย ...คนไม่ป่วย พ่อแม่ ญาติพี่น้อง...คนใกล้ชิด กล่าวถึงศรัทธาความเชื่อเกี่ยวกับการบนขอให้หายป่วยก็มักจะให้นึกถึง “หมอชีวก” เป็นอีกหนึ่งศรัทธา ความเชื่อ และความหวังของผู้คนไม่น้อยที่แวะเวียนเข้าไปบนบานศาลกล่าว
ขอให้...หายเจ็บ หายป่วย หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
พลิกบันทึกประวัติแบบสั้นๆ “หมอชีวกโกมารภัจจ์” เป็นบุตรนางสาลวดี ชีวกเป็นคนเฉลียวฉลาด ไหวพริบปฏิภาณดีมาก แต่ด้วยเลือกเกิดไม่ได้จึงถูกเด็กๆรุ่นเดียวกันประณามเหยียดหยามว่าเป็นลูกไม่มีพ่อ ชีวกนำแรงกดดันรอบตัวแปรเปลี่ยนมาเป็นพลัง
มุมานะที่จะเอาชนะ มุ่งมั่นตั้งใจที่จะหาความรู้ใส่ตัวไม่ให้ใครมาดูถูกได้
ชื่อเสียง “หมอชีวก” นั้นขจรขจายร่ำลือถึงความเก่งไปทั่วทุกสารทิศ ถึงขั้นที่เรียกกันว่าเป็น “หมอเทวดา” ที่สำคัญยังกล่าวถึงกันว่าเป็นหมอที่ดูแลรักษาพระพุทธเจ้าอีกด้วย
...
อีกทั้งกล่าวขานกันว่า...ทั้งชีวิตนั้นหมอชีวกทุ่มเทไปกับการรักษาโรคให้กับผู้คนมากมายนัก ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ป่วยไข้ ไม่เลือกยากดีมีจน ดำรงตนให้เป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก
แม้จะไม่ได้มีเวลาปฏิบัติธรรม แต่ก็เป็นพระโสดาบัน...ผู้เข้าถึงนิพพาน
วันเวลาผ่านมาถึงวันนี้ ในวงการแพทย์หมอชีวกก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็น...“บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ” เป็นที่สักการบูชาของผู้ที่มีอาชีพเป็นหมอ นวดแผนโบราณ ห้างร้านธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ ฯลฯ อย่างไม่เสื่อมคลาย
“อโรคยา ปรมาลาภา”...ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้... “ลบหลู่”.
รัก–ยม