"ใบรับรองแพทย์" หรือ ใบแพทย์ เอกสารสำคัญที่ใช้เพื่อรับรองสุขภาพร่างกายและจิตใจ มักใช้ยื่นประกอบการพิจารณากฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น ยื่นลาป่วย ยื่นสมัครงาน ยื่นเคลมประกันชีวิต และยื่นขอทำใบขับขี่ เป็นต้น ซึ่งใบรับรองแพทย์แต่ละประเภทก็อาจจะมีรายละเอียด และข้อกำหนดที่แตกต่างกัน จึงควรศึกษาข้อมูลก่อนจะยื่นขอใบรับรองแพทย์แต่ละประเภท
ความหมาย และความสำคัญของใบรับรองแพทย์
แพทยสภาให้ความหมายของใบรับรองแพทย์ ไว้ว่า เป็นเอกสารประเภทหนึ่ง โดยทั่วไปจะเขียนในกระดาษที่เป็นแบบฟอร์มเฉพาะ (ปัจจุบันหลายแห่งปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์) อาจมีคำว่าใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองใบแพทย์ หรือข้อความอื่นที่แสดงว่าเป็นเอกสารที่ออกจากแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ใบรับรองแพทย์ยังใช้ยืนยันว่า แพทย์ได้ทำการตรวจร่างกาย หรือตรวจโรคให้กับผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว หลังจากนั้นจึงออกใบรับรองว่าได้ "มาตรวจจริงๆ" ซึ่งใบรับรองแพทย์แต่ละประเภทก็จะมีจุดประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกัน โดยจำแนกตามเหตุผลหลักๆ ที่ผู้ป่วยต้องการนำไปใช้ ยกตัวอย่างเช่น
1. เกี่ยวข้องกับการมาตรวจรักษา
2. เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่าย (ค่ารักษาพยาบาล)
3. เกี่ยวข้องกับการลางาน (ลาป่วย)
4. เกี่ยวข้องกับทางประกัน (เรียกร้องสิทธิ์ทางประกันภัยประเภทต่างๆ)
5. เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้อง หรือดำเนินการทางคดี
อย่างไรก็ตาม ทางแพทยสภายังไม่มีการจำแนกประเภทของใบรับรองแพทย์ไว้อย่างชัดเจน โดยกำหนดให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เอง
...
ใบรับรองแพทย์ 5 โรคคืออะไร?
แต่เดิมใบรับรองแพทย์เพื่อการรับรองสุขภาพที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ถูกเรียกว่า "ใบรับรองแพทย์ 5 โรค" เนื่องจากเมื่อก่อนมีโรคที่จำเป็นต้องให้แพทย์รับรองอยู่จำนวน 5 โรค ได้แก่
1. วัณโรคในระยะแพร่เชื้อ
2. โรคเท้าช้าง
3. โรคที่เกิดจากสารเสพติด
4. โรคพิษสุราเรื้อรัง
5. โรคอื่นๆ ที่เรื้อรังหรือร้ายแรง
นับแต่ปลายปี 2551 เป็นต้นมา แพทยสภาได้ปรับเปลี่ยนให้มีการรับรองแบบฟอร์มในใบรับรองแพทย์ให้เหลือเพียง 3 โรคเท่านั้น เพื่อเป็นการยืนยันว่าผู้มาตรวจไม่ได้มีโรคแสดงอาการชัดเจนที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียน และการทำงาน แต่ทั้งนี้ การจะตรวจกี่โรคนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับต้นสังกัดของผู้มาตรวจ ว่าต้องการให้ตรวจโรคใดบ้าง เพื่อให้การตรวจร่างกายรับรองสุขภาพตรงตามจุดประสงค์มากที่สุด
ใบรับรองแพทย์ สำหรับลาป่วย
พนักงานบริษัท หรือลูกจ้างหน่วยงานต่างๆ อาจเกิดความสงสัยว่า กรณีป่วยไข้ จำเป็นต้องยื่นใบรับรองแพทย์ต่อนายจ้างหรือไม่ ซึ่งทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่า หากลาป่วยไม่ถึง 3 วัน ไม่ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ เพราะบางครั้งการที่ลูกจ้างเจ็บป่วยเพียง 1-2 วัน ก็อาจไม่ได้ไปสถานพยาบาลเสมอไป แต่อาจจะซื้อยามากินเอง และพักผ่อนเพื่อให้อาการดีขึ้นก็ได้
ใบรับรองแพทย์ สำหรับสมัครงาน
การสมัครงานในปัจจุบัน หลายองค์กรขอใบรับรองแพทย์จากตัวผู้สมัคร เมื่อผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน และกำลังจะรับเข้าทำงาน เพื่อยืนยันว่า มีความพร้อมด้านสุขภาพในการปฏิบัติงาน ซึ่งแต่ละองค์กรก็อาจจะกำหนดการตรวจร่างกายว่า ควรตรวจโรคใดเป็นพิเศษบ้าง
ใบรับรองแพทย์ สำหรับทำใบขับขี่
หนึ่งในเอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับยื่นขอทำใบขับขี่ ก็คือ "ใบรับรองแพทย์" และต้องเป็นใบรับรองแพทย์ตามแบบที่แพทยสภารับรอง เพื่อให้มีข้อมูลการตรวจที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นรูปแบบที่ถูกต้อง
สำหรับคนที่สงสัยว่าใบรับรองแพทย์ มีอายุกี่วัน คำตอบคือ มีอายุไม่เกิน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ไปขอใบรับรองแพทย์จนถึงวันที่มาสมัครทำใบขับขี่ โดยจะต้องแจ้งโรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือคลินิก ให้ชัดเจนด้วยว่า ขอใบรับรองแพทย์สำหรับประกอบการขอรับใบขับขี่
...
ใบรับรองแพทย์ ถือเป็นเอกสารที่หลายคนอาจจำเป็นต้องใช้ในกรณีต่างๆ การทำความเข้าใจประเภท รายละเอียด รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ จะช่วยให้ขอใบรับรองแพทย์ได้ตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ การจะขอใบรับรองแพทย์แต่ละครั้ง ก็ควรขอจากสถานพยาบาลที่แพทยสภาให้การรับรองอย่างถูกต้อง.
ที่มา : แพทยสภา