- เมื่อผลไม้ยอดฮิตอย่าง ‘กล้วย’ กำลังถูกกัดกินโดยเชื้อราตัวร้ายที่มีชื่อว่า TR4 มานาน โดยล่าสุดเกิดขึ้นในทวีปอเมริกาใต้ที่เป็นแหล่งส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของโลก นักวิจัยจึงพยายามใช้ ‘การตัดแต่งพันธุกรรม’ มาสร้างสรรค์กล้วยพันธุ์ใหม่ที่ทนทานกว่าเดิม ว่าแต่มันจะกลายเป็น ‘ยิ่งช่วยยิ่งแย่’ หรือไม่?
เกิดข่าวลืออันน่าสะพรึงที่แพร่สะพัดมาเป็นเวลาหลายปีแล้วว่า ผลไม้ยอดนิยมอย่าง ‘กล้วย’ ที่เราเห็นกันตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด หรือแม้แต่ป่าริมทางต่างจังหวัด กำลังจะมีอันต้อง ‘สูญพันธุ์’ ไปในอีกไม่ช้าไม่นาน และแม้แต่ในปีนี้ ก็ยังมีสื่อต่างประเทศที่ร่ายหัวข้อบทความเกี่ยวกับ ‘วิกฤติของกล้วย’ ออกมามากขึ้นจนผู้อ่านเริ่มหวาดเสียว อาทิ “กล้วยกำลังตกอยู่ในอันตราย!” หรือ “กล้วยกำลังจะตาย!” ซึ่งบางแหล่งถึงกับระบุชี้ชัดว่า กล้วยที่เราสามารถหาบริโภคกันได้ง่ายๆ นี้ อาจสูญสลายหายไปภายใน 10-30 ปีข้างหน้าเลยด้วยซ้ำ
มีรายงานว่า ในประเทศอันเป็นแหล่งส่งออกกล้วยที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง เปรู, เวเนซุเอลา, โคลอมเบีย และประเทศละตินแถบอเมริกาใต้ทั้งหลาย ซึ่งมี ‘พระเอกตลอดกาล’ คือสายพันธุ์ คาเวนดิช (Cavendish) กำลังประสบปัญหา ‘โรคเหี่ยว’ (Fusarium wilt) อันเกิดจากเชื้อราใต้ดินชื่อ Tropical Race 4 หรือ TR4 ที่ทำให้ต้นกล้วยไม่สามารถออกเครือได้ตามปกติ ซึ่งระบาดร้ายแรงอย่างหนักหนาและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2019 (ถัดจากการโผล่ขึ้นที่ไต้หวันในยุค 90 ก่อนกระจายไปในทวีปเอเชียและแอฟริกา) และเมื่อยิ่งประกอบเข้ากับวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระหว่างมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการปลูกกล้วยในเวลาต่อมา ก็ยิ่งทำให้สัดส่วนของกล้วยในตลาดโลก-โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกาเหนือ-ลดลงไปเป็นปริมาณมหาศาล ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการ ‘สูญพันธุ์’ ของกล้วยใน ‘เชิงพาณิชย์’ ก่อนที่การสูญพันธุ์อย่างแท้จริงจะตามมานั่นเอง
...
อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามจะช่วยกอบกู้กล้วยไม่ให้สูญพันธุ์ไปง่ายๆ ด้วยการออกแบบระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมระหว่าง ‘กล้วยป่า’ ที่กินไม่ได้กับ ‘กล้วยปลูก’ ที่กินได้ เพื่อคิดค้นพันธุ์กล้วย ‘พันธุ์ใหม่’ ที่หลากหลายกว่าเดิม กล่าวคือมีความทนทานต่อเชื้อโรคต่างๆ ได้ดีกว่าพันธุ์ทั่วไปที่มีอยู่บนโลก (เช่น พันธุ์คาเวนดิช ที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายในโลกตะวันตก ซึ่งมีข้อเสียหลักคือต้องอาศัยสารเคมีในการเพาะปลูกมากกว่าสายพันธุ์อื่น) โดยเฉพาะกับเชื้อรา Tropical Race ตัวร้ายที่เป็นศัตรูกับกล้วยบนโลกมาหลายทศวรรษ นับจากการถือกำเนิดของ TR1 ที่เคยระบาดผ่านดินและทำให้กล้วยพันธุ์ กรอสมิเชล (Gros Michel) เน่าคาต้นในช่วงยุค 50 ก่อนนำเอาคาเวนดิชจากอินเดียมาแทนที่
แต่พร้อมกันนั้น ก็ยังมีคนตั้งข้อสงสัยว่า การตัดแต่งพันธุกรรมเป็นวิธีการที่จะสามารถแก้ปัญหากล้วยสูญพันธุ์ได้จริงหรือ? เนื่องจากความพยายามนี้ได้ดำเนินมาสักระยะแล้ว ทั้งยังไม่เคยประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเสียที แม้ว่านักวิจัยของ University of Queensland ในออสเตรเลียจะออกมาชี้แจงในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า การคิดค้นของพวกเขากำลังใกล้ความจริงเข้าไปทุกขณะก็ตาม ผ่านการค้นพบยีนของพันธุ์กล้วยป่าที่ทนทานต่อราชนิดนี้ และกำลังหาทางตัดแต่งยีนแบบ CRISPR (อ่านว่า คริสเปอร์) ซึ่งแม้จะกำลังเป็นที่เพลิดเพลินในแวดวงวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังมีปัญหาปลีกย่อยที่ต้องปรับแก้-เข้าไปในพันธุ์กล้วยปลูกอย่างคาเวนดิช เพื่อให้ ‘ร่างโคลน’ ของพวกมันถัดจากนั้น มีภูมิคุ้มกันและสามารถต่อสู้กับเชื้อร้ายได้ โดยคาดว่าจะสามารถนำผลผลิตออกสู่ตลาดโลกได้ทันภายในปีนี้ (มีคนตั้งชื่อมันเล่นๆ ด้วยว่า คาเวนดิช 2.0)
เหนืออื่นใด ผลผลิตทางการเกษตรที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม หรือที่เราเรียกว่า พืชจีเอ็มโอ (GMOs) นั้น ล้วนเคยถูกตั้งคำถามด้านความปลอดภัยต่อวิถีชีวิตตามธรรมชาติของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และประเทศในสหภาพยุโรปก็ถึงขั้นสั่ง ‘แบน’ อาหารที่มีส่วนประกอบของวัตถุดิบจีเอ็มโอ (ต่างจากตลาดในอเมริกาที่อาหารในซุปเปอร์มาร์เก็ตมีจีเอ็มโอผสมอยู่มากถึง 3 ใน 4 ของทั้งหมด) อีกทั้งยังพ่วงข้อสงสัยเกี่ยวกับราคาอันแสนแพงของการลงทุนปลูกพืชจีเอ็มโอ รวมถึงการต้องมีบรรษัทใหญ่คอยให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแบบตายตัว ซึ่งจะส่งผลร้ายกับเกษตรกรรายย่อยที่มีเงินทุนไม่มากพอจะสู้กับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นอย่างแน่นอน และสุดท้าย กล้วยพันธุ์นี้ก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มทุนด้วยราคาที่แพงขึ้น ขณะที่ประชาชน-และสิ่งแวดล้อมมวลรวม-ก็อาจได้รับผลเสียด้านสุขภาวะจากการเพาะปลูกหรือบริโภคพวกมันในอนาคต
ดังนั้น การมีกล้วยพันธุ์ใหม่ที่ถือกำเนิดจากการตัดแต่งพันธุกรรมจึงอาจไม่ใช่ ‘ทางออก’ สำหรับการป้องกัน ‘วิกฤติกล้วยสูญพันธุ์’ ที่ยั่งยืน และมันอาจกลายเป็นวิธีการแก้ที่ ‘ยิ่งช่วยยิ่งแย่’ ในระยะยาว ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราคงต้องช่วยจับตามองกันต่อไป
อ้างอิง: Wired, Slate, Krishijagran
...