“ช่วงนี้ระวังหน่อย ช่วยล้างมือกันบ่อยๆ ช่วงนี้ระวังหน่อย อย่าไปใกล้ใครเลยเธอ”

ไม่ว่าช่วงนี้หรือช่วงไหน ๆ ก็อยากให้ทุกคนดูแลตัวเองอยู่เสมอ เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น เปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่ที่ซัดเข้ามากระทบโลกใบนี้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติ เกิดการปรับตัวมากมาย ทั้งในระดับบุคคล ไปจนถึงระดับโลก ทุกคนต่างต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันใหม่ เพื่อความอยู่รอด ปลอดภัย พฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่ค่อยได้ปฏิบัติ เราก็ทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันกันไปแล้ว

ข้อมูลจากสรุปทิศทางสุขภาพคนไทย 2564 (Thaihealth Watch 2021) พบว่า วิถีชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ เกิดผลพลอยได้ที่ตามมา คือ ทำให้จำนวนผู้ป่วยบางโรคลดลง เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ที่พบว่า ในช่วงเวลาเดียวกันจำนวนผู้ป่วย ในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ถึง 92% เนื่องจากคนไทยหันมาเฝ้าระวัง และดูแลตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้มาตรการกักตัวเอง อยู่ในบ้านและการเว้นระยะห่างทางสังคม ก็ทำให้โอกาสสัมผัสเชื้อโรคจากสถานที่ต่างๆ ลดลง รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ สุขภาพแย่ อย่างเช่น การดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ลดลงด้วย

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า ประเทศไทยผ่านสถานการณ์โควิด-19 รอบแรกมาแล้ว มีข้อมูลและองค์ความรู้มากขึ้นในการดูแลป้องกันตนเอง เพื่อดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 แม้จะมีข้อจำกัด แต่ทุกคนสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ สสส. อยากชวนทุกคน ยกระดับสู้ ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างถูกต้องและเป็นกิจวัตร

โดยเน้นหลักปฏิบัติง่ายๆ แต่สำคัญมากในเรื่องอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือให้บ่อย สวมหน้ากากป้องกัน ไม่ปกปิดข้อมูล เว้นระยะห่าง รวมถึงเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ ออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน คู่ขนานกับการสนับสนุนจากระบบ หรือกลไกแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับตัวนี้ ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

10 เรื่องที่ควรทำให้เป็นนิสัยในยุคโควิด-19

1. ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งนาน 20 วินาที ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร

2. ล้างมือทุกชั่วโมง เมื่ออยู่ในบ้านหรือที่ทำงาน

3. ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า ดวงตา จมูก

4. สวมหน้ากากทุกครั้ง เมื่อออกนอกบ้าน

5. พกแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ ไว้ใช้เมื่ออยู่นอกบ้าน

6. อาบน้ำ สระผมทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน

7. ใช้ทิชชูปิดปากเวลาไอ-จาม หรือจามใส่ข้อพับต้นแขนด้านใน แล้วล้างมือทันที

8. ปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดล้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสฟุ้งกระจาย และล้างมือทุกครั้งก่อนออกจากห้องน้ำ

9. เวลาพูดคุยให้อยู่ห่างกัน

10. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด

ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตการณ์นี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่สิ่งที่พวกเราทำได้ คือ ร่วมมือร่วมใจกันทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจให้ดีอยู่เสมอ เพื่อในวันที่สถานการณ์ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติแล้ว เราจะได้มีทั้งพลังกายและพลังใจที่เต็มเปี่ยมในการดำเนินชีวิตต่อไป

อ่านเพิ่มเติมคลิก http://ssss.network/dy9bh