ที่ชูสามนิ้ว พร้อมเรียกร้องไม่ขอแต่งเครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน และไม่อยากให้ใครมากำหนด “ทรงผม” อีกต่อไป…จนเป็น “วาระแห่งชาติ” ไปแล้ว
ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาที่เกี่ยวกับเยาวชน และน่าเป็นห่วงในสังคม คือทัศนคติของเยาวชนกับปัญหาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเยาวชนไทย
“เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า แรงงานข้ามชาติที่ประสบปัญหาความรุนแรง "ไม่ควรได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ หากไม่มีสถานการณ์ย้ายถิ่นที่ถูกต้อง"
ผลการศึกษานี้มาจาก “โครงการปลอดภัยและยุติธรรม หรือ Safe and Fair” ดำเนินการโดยองค์การยูนิเซฟ จัดสำรวจทัศนคติของเยาวชนไทยต่อแรงงานข้ามชาติ และพบว่า ร้อยละ 30 ของเยาวชนที่ร่วมสำรวจ เข้าใจแบบนั้น
ในความเป็นจริง ผู้เขียนคิดว่า ผู้ใหญ่จำนวนมากทั้งที่มี “แรงงานข้ามชาติ” อยู่ในบ้าน หรือที่ทำงาน และได้อยู่ใกล้ชิดกับแรงงานข้ามชาติ ก็น่าจะไม่เข้าใจ และคิดแบบเดียวกันว่า ก็บ้านเขาจน เลยต้องทนมาขายแรงงาน
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มีตัวเลขน่าสนใจ คือในปี 2561 จำนวนแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกพุ่งสูงถึง 11.6 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 5.2 ล้านคน เป็นแรงงานหญิง พวกเธอเข้ามาทำงานในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างทำงานบ้าน ทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตัดเย็บเสื้อผ้า รวมถึงการก่อสร้าง
ในประเทศไทย สถิติล่าสุดระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติอยู่ราว 3.9 ล้านคน ส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ถ้าคิดแค่ว่า ก็บ้านเขาจน ผู้หญิงเหล่านี้จึงต้องทนมาขายแรงงาน ก็เป็นการมองเพียงผิวเผิน แล้วถ้าไม่มีแรงงานเหล่านี้ จะส่งผลต่อ “Productivity” สร้างปัญหาขาดแคลนแรงงานแค่ไหน?
...
รายงานชิ้นนี้ระบุด้วยว่า สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่มาจากแรงงานข้ามชาติยังมีมากถึงร้อยละ 4.3 – 6.6
ถ้าเขาไม่มา แล้วใครจะมาทำงาน?
เมื่อมีคนมาเพิ่ม ก็ต้องมีเรื่องต้องมาบริหารจัดการ ที่สำคัญที่สุดคือ การจัดการเรื่อง “ความรุนแรง” ที่เกิดกับผู้หญิงต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทย ถึงแม้พวกเธอเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในประเทศบ้านเกิด หรือประเทศที่เธอมาทำงานให้ แต่แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติหญิงกำลังเผชิญกับปัญหาจาก “อคติของคนในสังคม” พวกเธอถูกกีดกัน และไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้างแรงงาน สวัสดิการต่างๆ การถูกเลือกปฏิบัติ รวมไปถึงความรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจ
และยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้หญิงต่างชาติมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญ ทั้งเรื่องความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น การถูกเลิกจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม เกิดความเครียด เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต เกิดความเสี่ยงมากขึ้นที่จะต้องประสบกับความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติจากนายจ้าง สามี หรือเจ้าหน้าที่รัฐ
“พวกเธอต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นเมื่อต้องการความช่วยเหลือ ทั้งบริการด้านสุขภาพ การดูแลสภาพจิตใจ กระบวนการยุติธรรม หรือบริการทางสังคมขั้นพื้นฐาน"
เนื่องจากอุปสรรคต่าง ๆ เช่น ภาษา ความพร้อม ความกังวลเกี่ยวกับสถานะของแรงงานข้ามชาติ และการหยุดให้บริการของบริการขั้นพื้นฐานในช่วงการระบาดของโควิด-19” ข้อมูลจาก นางวาเลนติน่า โวลเป้ ผู้เชี่ยวชาญโครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โครงการปลอดภัยและยุติธรรม (Safe and Fair) ยูเอ็น วูแมน (UN Women) ประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ในกิจกรรมรณรงค์เรื่องนี้ เมื่อเร็วๆ นี้
ตัวอย่างความพยายามของ UN Women ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญงานด้านนี้ ก็คือ การรณรงค์ให้ความรู้และจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องนี้ในหมู่เยาวชน
โครงการนี้มีชื่อว่า “ส่องประกายคนรุ่นใหม่หัวใจเท่าเทียม : Spotlight on Generation Equality” นอกจากจัดบรรยายพิเศษเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มีการจัดแคมป์อบรมสำหรับผู้นำเยาวชน ในช่วง 7-8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และจัดเวทีสาธารณะ “Spotlight on Generation Equality” ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 โดยต้องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการขจัดความรุนแรงต่อแรงงานหญิงข้ามชาติ
...
ผู้ที่เข้าอบรมนอกจากจะได้รับความรู้ความเข้าใจ และเกิดทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติแล้ว ยังได้มีโอกาสทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติหญิง ในการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อแรงงานข้ามชาติหญิงอีกด้วย เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม มีแนวคิดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น คุณนจิรา ออมทรัพย์ กล่าวว่า ภาพจำเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในความคิดของเธอ…เปลี่ยนไป
เธอเคยมองว่า แรงงานข้ามชาติมีเพียงปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างเดียว แต่จากการพูดคุยและทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติหญิง ทำให้ได้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติหญิงต้องประสบกับปัญหาและความรุนแรงต่าง ๆ มากกว่าที่คิด
“เยาวชนและแรงงานข้ามชาติมักถูกละเลยไม่ให้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญของสังคม แต่ Spotlight Initiative ให้อิสรภาพทางความคิดและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับแรงงานหญิงข้ามชาติ ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นจิรากล่าว
ในมุมมองของแรงงานข้ามชาติเอง “คุณไอริณ” หนึ่งในแรงงานข้ามชาติหญิงที่ได้ร่วมทำงานกับนักศึกษาในโครงการฯ นี้ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่คนรุ่นใหม่มีทัศนคติเปลี่ยนไปจากเดิมมาก
...
“ไม่ได้มองว่าแรงงานข้ามชาติยากจนเลยมาทำงานที่ประเทศไทย แต่มองว่า พวกเขาก็มีทักษะในระดับหนึ่งเหมือนกัน และให้ความเคารพเธอในฐานะผู้มาถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งเป็นมุมมองที่ดีกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว”
@@@@@@@@@@@@
ผู้เขียน : วิทยา แสงอรุณ เป็นคอลัมนิสต์ และประธาน LGBT SMEs and Professionals Thailand และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน
อ้างอิงข้อมูลจากการจัดกิจกรรมรณรงค์ในแคมเปญ “ส่องประกายคนรุ่นใหม่หัวใจเท่าเทียม : Spotlight on Generation Equality”