ช่วงโควิด-19 หลายๆ องค์กรต่างได้รับผลกระทบกันไม่มากก็น้อย แต่ที่แน่ๆ คือความเครียดของผู้บริหารและพนักงานนั้นสูงขึ้นแน่นอน ไม่ว่าจะเรื่องรายได้ลงลด หรือต้นทุนสูงขึ้น หลายบริษัทจำเป็นต้องลดพนักงานลง พนักงานที่เหลืออยู่ก็เครียดเพราะงานหนักขึ้น เจ้าหน้าก็เครียดเรื่องทำอย่างไรบริษัทจึงจะอยู่รอด ดังนั้น การหงุดหงิดใส่กัน ไม่เข้าใจกัน น้อยอกน้อยใจกัน จึงเกิดมากขึ้นในองค์กรในช่วงนี้
มีพนักงานหญิงคนหนึ่งเข้ามารับคำปรึกษากับครูเคท ว่าช่วงนี้รู้สึกจิตตกกับการทำงาน เพราะรู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจเจ้านาย บางทีนายก็บอกว่าไว้ใจให้ทำงานอะไรไม่ได้สักอย่าง ทำงานให้เสร็จไปวันๆ ไม่ใส่ใจงาน ฯลฯ เธอทำงานเป็นมือขวาเจ้านายซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทด้วย แต่นายเป็นคนเรื่องเยอะ เช่น เธอเตรียมสไลด์ให้ เจ้านายก็บ่นว่ารูปแบบไม่สวย สีไม่ถูกต้อง ตัวอักษรเล็กไป สะกดผิด ฯลฯ เธอคิดว่าเธอเป็นคนตั้งใจและทุ่มเทให้กับการทำงานมาก ไปทำงานแต่เช้ากลับดึกทุกวัน เสาร์-อาทิตย์ถ้ามีงานเธอก็ไปด้วยความเต็มใจ แต่ทำไมนายดูจะหงุดหงิดกับเธอมาก
ปัญหาเจ้านายกับลูกน้องในเคสนี้เกิดจากการมองคนละมุม ลองมามองมุมของเจ้านายก่อนนะคะ ในสภาวะตึงเครียดทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองอย่างในปัจจุบันนี้ เจ้านายคงจะมีความวิตกกังวลหลายด้าน ไหนจะหารายได้เข้าบริษัทให้ได้ตามเป้า เพื่อให้ครอบคลุมหนี้สินและค่าใช้จ่ายต่างๆ และยังต้องดูแลพนักงานโดยพยายามรักษาไม่ทำให้ใครต้องตกงาน ความกังวลเหล่านี้ทำให้คนเป็นนายเกิดความเครียดแล้วไม่รู้จะจัดการกับความเครียดอย่างไร จึงกระแทกออกมาเป็นความหงุดหงิด โกรธ ตำหนิติเตียน และกล่าวโทษลูกน้อง ส่วนด้านลูกน้อง ก็เครียดในใจว่าบริษัทจะยังไปรอดหรือไม่ ตนจะตกงานไม่รู้ตัวหรือไม่ ฯลฯ จึงทำให้ลูกน้องมีโอกาสทำงานผิดพลาดตกหล่นขาดสมาธิในการทำงาน
...
คนที่มีความวิตกกังวลจะมีอาการครุ่นคิดวนเวียนอยู่ในใจทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ความไม่รู้ตัวนี่แหละค่ะที่ทำให้คนเราเกิดความเครียด และเมื่อเครียดมากขึ้น ก็เกิดอารมณ์หงุดหงิด สิ่งที่คนทำงานกังวลแบบไม่รู้ตัวมากที่สุดก็คือ กลัวทำไม่เสร็จ กลัวทำไม่ถูก กลัวทำไม่ดี เพราะคิดเอาว่าหากเราทำอะไรผิดพลาด ไม่สำเร็จ หรือไม่มีคุณภาพ ผลที่จะตามมาก็คือการถูกตำหนิติเตียน หรือถูกดูถูกจากคนอื่นๆ หรือแม้แต่ผิดหวังกับตัวเอง ดูถูกและตำหนิตัวเองว่าล้มเหลว การมองตัวเองในแง่ลบเกิดจากการเผลอเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมอ และมีแนวโน้มเห็นว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นอยู่บ่อยๆ
ในช่วงที่บรรยากาศในที่ทำงานมีความเครียด ทั้งเจ้านายและลูกน้องควรเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร เจ้านายเวลาสั่งงาน ควรสั่งให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร เพราะอะไร จะเอาไปทำอะไร เพื่อใคร เพื่อให้ลูกน้องได้เห็นภาพเดียวกัน ส่วนลูกน้องเวลารับคำสั่ง ก็ควรทวนความเข้าใจของตัวเองให้นายฟังสักรอบ เพื่อจะได้มั่นใจว่าเห็นตรงกัน และควรอธิบายแผนการทำงานของตนและเหตุผลที่ตัวเองจะทำอย่างนั้นให้นายได้รับทราบ เพื่อที่นายจะได้ช่วยดูกระบวนการทำงานถูกต้องแล้วหรือยัง ซึ่งจะช่วยทำให้นายคลายความกลัวผลงานจะออกมาผิดพลาด และความกลัวผลงานออกมาไม่มีคุณภาพได้ด้วย ระหว่างการทำงาน ลูกน้องควรมีการรายงานเจ้านายเป็นระยะๆ เพื่อให้เจ้านายคลายความกลัวงานไม่เสร็จ หรือเสร็จไม่ทันได้มาก ที่สำคัญการสื่อสารเพื่อช่วยให้นายคลายความวิตกกังวลยังส่งผลดีต่อลูกน้องด้วย เพราะทำให้ลูกน้องเข้าใจการทำงานและวางแผนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลูกน้องเองมีความเครียดน้อยลง ขาดความกังวลสงสัยทำให้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น และเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ให้มองที่ความผิดพลาดและแก้ไขความผิดพลาด ไม่ใช่มองว่าใครผิดใครถูก และตำหนิตัวเองหรือผู้อื่น อย่างนี้ก็จะมีความสุขทั้งเจ้านายและลูกน้องค่ะ
ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือเข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ