ระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เป็นมาตรการที่หน่วยงานสุขภาพทั่วโลกได้เริ่มนำมาใช้ เพื่อช่วยลดจำนวนผู้ป่วยจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส (COVID-19) ในปี 2020 

โควิด-19 ไม่ใช่โรคระบาดแรกที่เกิดขึ้นในโลก นับตั้งแต่อดีตมีโรคติดเชื้อที่คร่าชีวิตประชากรโลกไปแล้วมากมาย แต่โควิด-19 เป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ อัตราการติดเชื้อรวดเร็ว มีอัตราผู้เสียชีวิตสูง และยังไม่มีวัคซีนกับยาป้องกันโดยตรง โดยปัจจุบันนี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 345,000 คน และยอดผู้ติดเชื้อกว่า 5 ล้านคน ทำให้ทั่วโลกต้องเตรียมความพร้อมรับมือโควิด-19


ในปี 2006 เคยมีการศึกษาในสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการออกแบบระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ในกลุ่มเด็กนักเรียน, วัยรุ่น และผู้ใหญ่วัยทำงาน ได้ผลสรุปว่า หากใช้การเว้นระยะห่างทางสังคมจะช่วยลดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ได้โดยไม่ใช้วัคซีน หรือยา


ไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ศึกษาในการทดลองนี้ เป็นสายพันธุ์ที่พบการติดเชื้อในเด็ก และวัยรุ่นสูง รองลงมาคือผู้ใหญ่ที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กหรือคนในบ้านเดียวกันในกลุ่มผู้ใกล้ชิดเด็กและวัยรุ่น ซึ่งสอดคล้องกับการติดเชื้อโควิด-19 เพราะมีรูปแบบการติดต่อทางเดินหายใจเช่นกัน

ดังนั้นสาธารณสุขทั่วโลก รวมถึงสภากาชาดหลายประเทศได้นำการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing นี้มาใช้ปฏิบัติ เพื่อหวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อท่ามกลางการออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ


Social Distancing คืออะไร

การเว้นระยะห่าง Social Distancing บนรถไฟฟ้า
การเว้นระยะห่าง Social Distancing บนรถไฟฟ้า

...

แม้ว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมจะถูกใช้กันมาสักพักแล้ว โดยแต่ละพื้นที่ แต่ละสังคมก็เว้นระยะห่างไม่เหมือนกัน แต่หลักสำคัญก็คือไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร ควรอยู่ห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร เพื่อลดโอกาสรับละอองฝอยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ตัวอย่างการใช้มาตรการ Social Distancing ของ American Red Cross มีดังนี้

1. เว้นระยะห่าง 1.5 - 2 เมตร

ในอเมริกาใช้ระยะ 6 ฟุต หรือ 1.8 เมตร เมื่อเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ก็ระยะ 1.5 - 2 เมตร ทั้งการเดินสวนทางกัน การใช้บริการขนส่งสาธารณะ การนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นทั่วไป ต้องเว้นระยะห่างทั้งนั้น

2. หลีกเลี่ยงการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

แม้ว่าอนาคตอาจจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกันในแหล่งชุมชน โดยเฉพาะห้องแอร์ที่อากาศไม่ค่อยระบาย หรือการเข้าร้านค้าที่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะรับเชื้อ

3. กักตัวอยู่ในที่อยู่อาศัยของตัวเอง

อย่าเพิ่งไปค้างแรมร่วมกับผู้อื่น เพราะการนอนหลับจะใช้เวลาในห้องปิดนานพอที่จะรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และเมื่อนอนหลับทำให้ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ เช่น หากเพื่อนตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำแล้วจามใกล้ ๆ เราก็หลบไม่ได้

4. ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานในท้องที่

เพราะความรุนแรงของแต่ละท้องถิ่นนั้นแตกต่างกัน มาตรการควบคุมป้องกันก็ต่างกัน หากหน่วยงานท้องที่แนะนำให้ห้ามชุมนุม ให้สวมหน้ากากผ้า งดเดินทางในเวลาที่กำหนด หรือคำแนะนำอื่น ๆ ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

5. ใช้บริการส่งของ Delivery

ควรใช้บริการที่มีการจัดส่ง เพื่อลดการออกไปพบปะผู้อื่น เช่น การซื้อของอุปโภคบริโภคที่มีบริการจัดส่ง สั่งอาหาร สั่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันนี้ร้านค้าส่วนใหญ่ก็ให้บริการมาส่งที่บ้านมากขึ้น

6. ติดต่อกับคนที่รักด้วย Network แทนการเจอกัน

เมื่ออยากเจอเพื่อน คิดถึงญาติ หากยังไม่จำเป็นต้องเจอตัวพบหน้า ก็ควรใช้วิธีการคุยโทรศัพท์, โทรแบบเห็นหน้า, VDO Call หรือใช้โปรแกรม Conference เพื่อพูดคุยกันก่อน 

นอกจากโควิด-19 แล้ว หากทุกคนเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะลดโอกาสติดเชื้อโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น ๆ แม้ว่าเริ่มต้นสิ่งเหล่านี้จะเป็น New Normal ให้เราปรับตัว ลองมาดูกันว่า อีก 5 ปี 10 ปี หรืออนาคตอันยาว Social Distancing จะถูกใช้กันต่อหรือไม่

ที่มา : redcross.org, ncbi.nlm.nih.gov