....บ้านเราเมืองไทย “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” โชคดีไม่ค่อยเสี่ยงเผชิญสถานการณ์ขาดแคลนอาหาร (Food shortage) แต่ถ้ามองโลกโดยรวมในอนาคตอันใกล้นี้ เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเผชิญสภาวะ “อาหารขาดแคลน” ในหลายพื้นที่ของโลก
“ไม่มีชาติใดมีภูมิคุ้มกันโควิด-19” ภัยระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้เกือบ ทุกดินแดนทั่วโลก ต้องวางมาตรการ “ปกป้องตนเอง” เพื่อสกัดกั้นหยุดยั้งการแพร่กระจายของโควิด-19 อย่างแข็งขัน ตามแนวทางแต่ละพื้นที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม
แต่สิ่งหนึ่งและสิ่งสำคัญของมาตรการ “ปกป้องตนเอง” ของแต่ละพื้นที่ดินแดน คือ “มาตรการล็อกดาวน์” การปิดเมือง ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างและกำลังก่อเกิดสภาวะ “ขาดแคลนอาหาร” อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
...
“มาตรการล็อกดาวน์” ก่อเกิดสถานการณ์ “หยุดเคลื่อนไหว” หลายสิ่งอย่าง ตั้งแต่ผู้คนเกษตรกรถูกร้องขอให้หยุดออกนอกบ้านไปทำงานตามเรือกสวนไร่นา หยุดการเคลื่อนย้ายแรงงานเกษตร เครือข่ายขนส่งสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย การส่งออกและนำเข้า พืชผลการเกษตรต้องชะงักงัน เพราะเครือข่ายขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ถูกผลกระทบปิดพรมแดน ปิดท่าเรือ ปิดสนามบิน
สถานการณ์น่าวิตกกว่านั้นคือ หลายประเทศเริ่ม “หยุดส่งออก” ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเก็บกักตุนสำรองไว้บริโภคภายในประเทศ ขณะที่หลายประเทศเริ่ม “นำเข้า” อาหารอย่างมากมายเพื่อเก็บกักตุนเตรียมพร้อมบริโภคภายในประเทศให้พอเพียงเช่นกัน
ตัวอย่าง “อาร์เจนตินา” ชาติส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดของโลก ทางการบังคับใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” ส่งผลให้ผลิตผลการเกษตรต้องถูกระงับสูญหายจากท้องตลาดมากราวครึ่งหนึ่ง
รัฐบาลแคนาดาสั่งซื้อ “หัวหอม” และ “ไข่ดิบ” จากอินเดียปริมาณมหาศาล กลับต้องเผชิญอุปสรรคด้านขนส่งสินค้าตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะเครื่องบินถูกห้ามบินขึ้นลงหลายสนามบิน ส่วนอินเดียต้องจำกัดการส่งออกข้าว เพราะ ขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรและต้องเก็บสำรองไว้บริโภคในประเทศ
การเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรสู่ภูมิภาคยุโรปถูกผลกระทบรุนแรง ทั้งในสเปน เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศสและอังกฤษ ทำให้อังกฤษขาดแคลน แรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตร ผลผลิตการเกษตรจำนวนไม่น้อยเสียหายเพราะเก็บเกี่ยวไม่ทัน
...
วิกฤติไวรัสระบาดครั้งนี้ไม่เหมือนคราววิกฤติการเงินโลกเมื่อช่วงปี 2551 ครั้งนั้นหลายประเทศร่ำรวยต่างแย่งกัน “นำเข้าอาหาร” เพื่อใช้บริโภคในประเทศเหมือนจะไม่มีวันพรุ่งนี้ ทำให้ราคาข้าว แป้งสาลี ข้าวโพด พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบถึงกลุ่มชาติยากจนให้ต้องขาดแคลนอาหารมากขึ้นอีก
วิกฤติครั้งนี้ส่งผลกระทบทั้งโลกโดยรวมวงกว้างมากกว่า ขณะที่ชาติมหาอำนาจและกลุ่มชาติร่ำรวยกำลังเริ่มกักตุนเสบียงอาหาร หลายฝ่ายเรียกร้องประชาคมโลกจำเป็นต้องกำหนดมาตรการ “โปร่งใส” ด้านข้อมูล การตลาด การนำเข้าและส่งออก ข้อมูลการผลิต ข้อมูลการบริโภคภายในแต่ละประเทศ รวมถึงข้อมูลการกักตุนผลผลิตอาหาร ราคาและภาษี เพื่อความเป็นธรรม
แต่สุดท้าย หนทางดีที่สุดในการทุเลาปัญหาขาดแคลนอาหาร คือการพึ่งพาตัวเองและความพอเพียง.....
โหรกระแส