หน้ากากผ้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายหลังการระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ทั่วโลกมีความต้องการหน้ากากอนามัยที่สูงมาก ทำให้การผลิตหน้ากากอนามัยที่ใช้ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ จนแพทย์ออกมาแนะนำว่าประชาชนทั่วไปที่ไม่ป่วยควรสวมหน้ากากผ้า และสงวนหน้ากากทางการแพทย์ไว้แก่บุคลากรทางการแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์จึงไม่รอช้า รีบนำตัวอย่างผ้าต่าง ๆ มาวิจัยหาผ้าที่มีคุณสมบัติดีที่สุดในท้องตลาด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ป้องกันโรคทางเดินหายใจ ตามคำแนะนำของแพทย์ จนค้นพบว่า “ผ้าฝ้ายมัสลิน” เหมาะสำหรับนำมาเย็บหน้ากากผ้า 2 ชั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด
ผ้าฝ้ายมัสลิน คืออะไร
"ผ้ามัสลิน" เป็นคำเรียกผ้าฝ้ายชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันในอินเดียและยุโรป เกิดจากกรรมวิธีทอเส้นใยฝ้าย (Cotton Fibers) ให้มีเนื้อที่บางแบบผ้าเช็ดหน้า หรือหน้าแบบผ้าเดนิม ตามการใช้งานที่เหมาะสม โดยเอกลักษณ์ของผ้าฝ้ายมัสลินคือระบายอากาศได้ดีและผู้สวมใส่รู้สึกสบายผิว
ฝ้ายปลูกได้ดีในภูมิอากาศทั่วโลก แต่ฝ้ายที่คุณภาพดีที่สุด คือฝ้ายจากอียิปต์ (Egyptian cotton) ส่วนฝ้ายเกรดรองลงมาปลูกที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย และประเทศไทยเองก็ปลูกฝ้ายได้เช่นกัน แม้ฝ้ายที่ปลูกแต่ละประเทศจะมีคุณภาพแตกต่างกัน แต่สามารถนำมาปรับปรุง ในกระบวนการเตรียมฝ้ายก่อนจะขึ้นรูปทอเป็นผ้าได้
...
3 คุณสมบัติของ “ผ้ามัสลิน” ที่เหมาะสมนำมาทำหน้ากากอนามัย
กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ วิเคราะห์หาผ้าที่มีคุณสมบัติดีที่สุดเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเดินหายใจด้วยการใช้ผ้าที่มีราคาไม่แพง หาง่ายในประเทศไทย พบว่า “ผ้าฝ้ายมัสลิน” มีคุณสมบัติดังนี้
- มีประสิทธิภาพต้านการซึมผ่านของละอองน้ำได้ดี
- เมื่อนำมาเย็บ 2 ชั้นพบว่าเส้นใยผ้ากักอนุภาคได้ดี
- นำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการซักได้มากกว่า 100 ครั้ง
ซึ่งผลการวิจัยนี้พบว่าผ้าฝ้ายอื่นที่มีคุณภาพรองลงมาคือ ผ้าฝ้ายดิบ แต่มีประสิทธิภาพต้านการซึมผ่านของละอองน้ำได้น้อยกว่าผ้าฝ้ายมัสลิน ส่วน ผ้าสาลู ต้านการซึมผ่านของละอองน้ำได้ดีเท่ากับผ้าฝ้ายมัสลิน แต่กักอนุภาคได้ไม่ดีเท่า
ผลการศึกษาผ้าฝ้ายมัสลินเทียบกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 3 ชั้น
ผศ.นันทนา บุญลออ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้อธิบายการทอฝ้ายมัสลินไว้ว่า ทำได้จากเส้นด้ายไหม หรือวิสโคส หากจะนำมาทำหน้ากากอนามัย ควรใช้ผ้า 2-3 ชั้น
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบหน้ากากอนามัยแบบผ้าตามท้องตลาดที่ระบุคุณสมบัติป้องกันฝุ่น PM 2.5 ไว้ว่า หน้ากากผ้าจะมีคุณภาพกันฝุ่น PM 2.5 ได้นั้น ต้องใส่สารเคลือบชนิดพิเศษป้องกันจุลินทรีย์ และทอด้วยเทคโนโลยีอิเล็กโทรสปินนิ่ง เพื่อให้เกิดรูพรุนขนาดเล็กไว้ดักจับฝุ่น PM 2.5
ความแตกต่างระดับอนุภาคของ
หน้ากากอนามัยที่รองรับ PM2.5 และ หน้ากากผ้า
...
หน้ากากผ้ามัสลินจะกลายเป็นสิ่งทำรายได้
เนื่องจากหน้ากากอนามัยแบบผ้านี้จะกลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของพวกเรา ดังนั้นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการตัดผ้าตลอดจนการใช้จักรเย็บผ้า ก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และปัจจุบันนี้เราเห็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นต่างๆ ได้ผันโรงงานมาเย็บหน้ากากผ้า เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของคนทั้งประเทศ ด้วยช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ และขายตามตลาดทั่วไป รวมถึงช่องทางการส่งออกไปยังต่างประเทศก็น่าสนใจ เพราะหน้ากากอนามัยกลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการซื้อสูงทั่วโลก
โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยผู้ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่น และชุดชั้นใน ที่หันมาปรับโรงงานสู้วิกฤติโควิด-19 ด้วยการผลิตหน้ากากผ้าแล้ว อาทิ
- NARAYA
- Greyhound Original
- GQ
- MC jeans
- Sabina
- Rosso
- J Press
- Wacoal
- TOTO
- ชุดนักเรียนตราสมอ
สุดท้ายนี้ การใช้หน้ากากอนามัยจะกลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่ปฏิบัติกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือ ผู้ใหญ่ เมื่อเราใช้หน้ากากผ้าป้องกัน ก็จะลดโอกาสติดเชื้อจากโรคโควิด-19 และโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ ด้วย
...
ที่มา :
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
2. TISTR : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
3. เพจเคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว