ราวเจ็ดปีที่แล้ว ความหวังอันเรืองรองของ เกย์และเลสเบี้ยน หรือเรียกรวมๆ ว่า LGBT ถูกจุดขึ้น เมื่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม รับเป็นเจ้าภาพประสานสิบทิศ ทั้งผลักทั้งดันให้พ.ร.บ.คู่ชีวิตเกิดขึ้นในประเทศไทย หวังใจให้พี่ไทยเป็นเจ้าแรกในเอเชียที่ทำสิ่งนี้ได้
สุดท้าย ไต้หวันคว้าตำแหน่งนี้ไปแบบปาดหน้าเค้ก
ในทางกลับกัน ถ้างานนี้สำเร็จในบ้านเรา คนเพศเดียวกันจะจดทะเบียนกันได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ ณ เวลานี้ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ไม่ได้ให้สิทธิเท่าเทียมกับหญิงชายทั่วไป กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาอย่างเข้มข้น
แม้รู้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความพิกลพิการอยู่หลายจุด ก็ไม่ได้ฉุดให้เกย์และเลสเบี้ยน ล้มเลิกความคิดจะจูงมือไปตีทะเบียน
พวกเขาเฝ้ารอการมาถึงของ พ.ร.บ. นี้ด้วยตาเป็นประกาย และด้วยหัวใจที่คับพอง เพราะมีหลายเรื่องที่แน่นอก จากการถูกเลือกปฏิบัติมานานแสนนาน
ความอยากจดทะเบียนของกลุ่ม LGBT สวนทางกับภาพความจริงของสังคมไทยในกลุ่มชายหญิงทั่วไป เพราะย้อนไปนับตั้งแต่ปี 2559 หรือราวสามปีที่แล้ว จำนวนการจดทะเบียนสมรสของคนไทยดิ่งลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่จำนวนหย่าร้างดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด ตัวเลขของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เผยว่า ปี 2560 อัตราหย่าร้างของคู่สมรสชายหญิงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 41 จากยอดจดทะเบียนกันจำนวน 297,501 คู่ และหย่ากันจำนวน 121,617 คู่
หรือวันละ 333 คู่ที่เตียงหัก!
...
กระนั้น การได้เข้าถึงการจดทะเบียนกับคนรักก็ยังคงเป็นสุดยอดปรารถนาของประชากรกลุ่ม LGBT นี้ เพราะความสัมพันธ์ของพวกเขา ไม่ว่าจะยืนนานมากี่ปี ก็ไม่เคยได้มีการรับรองใดๆ จากภาครัฐที่มีหน้าที่ปรับปรุงตัวบทกฎหมาย
ในภาพภายนอก เราจะเห็น LGBT แสดงความต้องการและเรียกร้องให้มีกฎหมายมารองรับความสัมพันธ์ของพวกเขา ไม่ใช่เพียงเพราะว่า การรับรองมันเกี่ยวกับการได้หรือเสียผลประโยชน์ในฐานะพลเมืองทางภาษีและสวัสดิการอื่นๆ
แต่ที่สำคัญ ลึกๆ แล้ว การรับรองเป็นเรื่องของ “ความรู้สึก” ที่ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างถ่องแท้
ความรู้สึกแรก เป็นความรู้สึกของคนสองคนที่…กว่าจะหากันจนเจอ…กว่าจะสามารถถึงจุดตกลงปลงใจว่าจะรักกัน ดูแลกัน นี่ยังไม่รวมการฝ่าด่านพ่อแม่ที่อาจจะไม่เคยระแคะระคายมาก่อนเลยนะว่ากุมาราในบ้านปรารถนาในตัวกุมาราของอีกบ้าน
ความรู้สึกแรกนี้สำคัญ
พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะช่วยเติมเต็มสิ่งที่คนสองคนไม่สามารถเชื่อมโยงกับสังคมภายนอกได้ เมื่อมีการรับรองในทางกฎหมาย จึงจะนำไปสู่ความรู้สึกถัดไป นั่นคือ ความรู้สึกว่า ฉันมีตัวตนในสังคม
เกย์ เลสเบี้ยน ทอม ดี้ นั้นลึกๆ แล้วรู้สึกว่า ตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง ทั้งๆ ที่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีเหมือนคนทั่วไป การถูกเลือกปฏิบัติที่ผ่านมาได้ลดทอนคุณค่าของการเป็นพลเมืองลงไปอย่างช่วยไม่ได้ โดยที่ภาครัฐไม่ได้ตระหนักเรื่องนี้อย่างแท้จริง
ถึงแม้ที่ผ่านมา ได้มีการผลักดันให้มีกฎหมายก็ตาม ในประเด็นนี้ ภาครัฐไม่ได้ลึกซึ้งนัก ที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ได้อย่างมั่นใจก็เพราะ ถ้าภาครัฐลึกซึ้งและเข้าใจอย่างแท้จริง ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิตนี้ ก็ไม่น่าจะออกมาได้ “ugly” (หน้าตาน่าเกลียด) ได้ปานนี้ โดยทางผู้ที่เกี่ยวข้องออกมายอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า ให้สิทธิที่ไม่ครบด้านที่ควรจะได้
รัฐทำผิดที่ไม่ปฏิบัติต่อพลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน แต่ก็…โอเค
ที่เจ็บจี๊ดในใจของ LGBT ในมื้อนี้ ก็คือ “ให้แล้ว ก็เอาไปใช้ๆ กันก่อน”
แปลกมั้ยรัฐไทย?
ความรู้สึกอีกประเด็น และสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข้างบนก็คือ ความรู้สึกของพ่อแม่
พ่อแม่ทุกคนย่อมมีความสุข มีความสบายใจ ถ้าเห็นลูกมีใครบางคนที่คอยดูแล
พ่อแม่ที่มีลูกสาวออกเรือน หรือมีลูกชายที่ได้ภรรยาดี พ่อแม่ย่อมเบาใจ
ส่วนลูกเกย์ ลูกทอม ลูกเลสฯ หรือลูกกะเทย พ่อแม่ก็ย่อมปรารถนาจะให้เป็นฝั่งเป็นฝาเหมือนกัน ถ้าจัดงานแต่งงานกันเฉยๆ ก็คงเป็นพิธีกรรม แต่การมีกฎหมายมารองรับจะกระชับความเชื่อให้พ่อแม่รับรู้ได้ว่า
น่าจะไม่เลิกกันง่ายๆ (เป็นความเชื่อล้วนๆ แต่ก็ยังดี)
ซึ่งในความเป็นจริง ลึกๆ แล้ว พ่อแม่หลายคนก็ยังสงสัยอยู่ในที…ไม่วายตั้งข้อสงสัยว่า ความสัมพันธ์แบบชายชาย หรือแบบหญิงหญิง จะไปรอดมั้ย?
จริงมั้ยคุณพ่อคุณแม่?
...
การมีกฎหมายตีทะเบียนออกมารับรองการใช้ชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกัน จึงมีนัยสำคัญมากกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจกันว่า เป็นเพียงการเรียกร้องของคนกลุ่มหนึ่ง
การมีกฎหมายตีทะเบียนออกมารับรองการใช้ชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกัน ไม่เพียงแต่ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีการเป็นพลเมือง แต่จะเป็นตัวอย่างที่ดีของรัฐบาลไทย เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความรักที่ต่างออกไปของคนที่มาจดทะเบียน
และที่สำคัญมากๆ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ไม่ว่าใครก็ควรจะได้สิทธิ์นั้น
ถ้าผู้เขียนได้ไปงานแต่งงานของเกย์ หรือคู่เลสเบี้ยน ทอม+ดี้ และทราบว่าเขาจดทะเบียนกันแล้ว จะรู้สึกยินดีกับเขาทั้งสองมากเป็นพิเศษ เพราะนั่นหมายถึงว่า เขาทั้งสองต้องการร่วมกันก่อร่างสร้างชีวิตที่มีคุณค่า และช่วยผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้างอย่างแท้จริง
คุณมีความเชื่อเรื่องนี้ ยังไง?
==============
วิทยา แสงอรุณ เป็นประธาน LGBT SMEs and Professionals Thailand เป็นอาจารย์พิเศษ Thammasat Business School