ความเหงาเป็นขั้วบวกขั้วลบ หนุ่มสาวได้มาพบกันในคืนร้าวราน...ฮ่าๆ วันนี้ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ ขอนำเสนอเรื่อง "ความเหงา" เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และความรัก ต้องถามแบบนี้ว่า...สาวๆ หลายคนเคยเหงามั้ยคะ? หรือตอนนี้ใครเหงาอยู่ ยกมือขึ้น! ขอให้ยกมือขึ้น!

มาค่ะ...มาเข้าเรื่องเลย! (เขียนยาวก็ไม่อ่านอยู่ดี...รมณ์เสีย) เรามีเรื่องราวของ "ความเหงา" และวิธีเอาชนะความเหงามาฝาก โดย อ.ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ ผู้ช่วยคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกล่าวไว้ดังนี้

ความเหงา คือ? 

ความเหงา เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว เป็นเรื่องของลักษณะส่วนบุคคล บางคนรู้สึกเหงาเมื่อไม่มีอะไรทำ บางคนเหงาทุกครั้งเมื่ออยู่คนเดียว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนขี้เหงามากแค่ไหน

เหงา = ลบ

ความเหงาเป็นเรื่องของความรู้สึกด้านลบ ที่เกิดขึ้นเวลาที่เรารู้สึกขาดการเชื่อมโยงทางสังคม ขาดที่พึ่งทางอารมณ์ ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น หรือเมื่อความสัมพันธ์ในชีวิตไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าความเหงาที่คนคุ้นเคยกันดีนั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจของคนเราได้ในหลายๆ ด้าน 

คอร์ติซอล...ทำร้ายสุขภาพ

ความเหงาทำร้ายสุขภาพ เวลาที่เราเกิดความรู้สึกเหงา ร่างกายจะรู้สึกตึงเครียด จะหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับความเครียดที่เรียกว่า "คอร์ติซอล" ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้เมื่อถูกหลั่งออกมาเป็นเวลานานๆ จะไปกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง

โรคที่เกิดจากความเหงา เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

...

ความเหงายังเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย อาทิ โรคความดันโลหิตสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการอักเสบ การติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และที่ร้ายไปกว่านั้น อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าจนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้เลยทีเดียว

ห้ามใกล้คนเหงา ไม่งั้นเหงาตาม

อย่างไรก็ตามมีการศึกษาเรื่องความเหงาในอเมริกา โดยให้กลุ่มตัวอย่าง 5,000 คน ตอบแบบสอบถาม ซักประวัติสุขภาพ และทำการตรวจร่างกายทุกๆ 2–4 ปี เป็นระยะเวลา 10 ปี พบว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่า เมื่อเราอยู่กับคนรอบข้างที่มีความรู้สึกเหงา เราก็จะเกิดความเหงาตามไปด้วย

ใครเหงามา เราก็เหงาตอบ

ผลการศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่า ความเหงาสามารถส่งต่อกันได้เหมือนการแพร่เชื้อ เป็นเรื่องความเชื่อมโยงของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนเหงามักจะแสดงพฤติกรรม หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในทางลบ รู้สึกไม่ไว้วางใจ มองโลกในแง่ร้าย หวาดระแวง รู้สึกกังวล ซึ่งโดยปกติ...เวลาที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับใคร เราก็มักจะตอบสนองด้วยพฤติกรรมเดียวกัน เหมือนใครดีมา เราดีตอบ ใครยิ้มมาเรายิ้มตอบ ซึ่งทำให้อนุมานได้ว่า ใครเหงาเราก็เหงาตอบ

แล้วทีนี้ทำอย่างไรดี เมื่อมันเหงาแล้ว...

แนะวิธีรับมือ "ความเหงา" นานๆ 

ความรู้สึกเหงาเกิดขึ้นได้เป็นปกติ และไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่สำหรับผู้ที่รู้สึกเหงาเป็นเวลานาน อาจรับมือกับความเหงาด้วยวิธีต่อไปนี้

- นัดเจอ พูดคุยกับผู้คนที่ช่วยให้รู้สึกมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น หรือคนที่สามารถพูดคุยปรึกษาได้อย่างเข้าอกเข้าใจ

- ลองหาเพื่อนใหม่ๆ โดยอาจเริ่มจากการเข้าร่วมกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เพื่อให้มีเรื่องคุยและสนิทกันได้เร็วยิ่งขึ้น

- หางานอดิเรกทำเพื่อให้จิตใจจดจ่ออยู่กับกิจกรรมนั้นแทน เช่น วาดรูป อ่านหนังสือ ฟังเพลง ออกกำลังกาย จัดสวน หรือกิจกรรมอาสาต่างๆ

- หาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ทำใจให้สงบ อาจลองนั่งสมาธิ หรือฝึกการหายใจเพื่อฝึกจิตให้นิ่งยิ่งขึ้น

- เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อน

- อย่าคาดหวังกับผู้อื่นมากเกินไป ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง

- เขียนไดอารี่คิดทบทวนถึงสิ่งดีต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิต จะช่วยให้เห็นมุมมองดีๆ และรู้ว่าควรให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด

มันก็จะเหงาๆ หน่อย

สรุปสุดท้าย "ความรู้สึกเหงา" หรือ "ความโดดเดี่ยว" อาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน โดยสังเกตได้จากอาการเศร้า สิ้นหวัง หดหู่ ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ อ่อนล้า หมดความสนใจในเรื่องที่เคยชอบ ถ้ารุนแรงหรือเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หากใครมีอาการดังกล่าวหรือสงสัยว่าตนอาจมีภาวะซึมเศร้า ขอแนะนำว่าควรไปปรึกษาแพทย์

เอาล่ะ...มีข้อมูลดีๆ มาบอกแบบนี้แล้ว แนะนำสาวๆ อีกครั้งว่า หาอะไรทำค่ะ ไปวิ่ง ไปยิม ไปฟิตเนส ไปร้านหนังสือ ไปไหว้พระ ไปเต้น ไปลีลาศ ไปนั่งสมาธิ ไปทำจิตอาสา คืออะไรก็ได้ เดี๋ยวคุณก็มีเพื่อน และจะหายเหงาไปเอง ไม่แน่...บางทีอาจได้แฟนกลับมาก็ได้นะ...ดีเว่อร์!!

...