เรียกได้อย่างเต็มปากว่านี่คือการกลับมาของตำนาน "เสื่อผืนหมอนใบ" ที่เคยจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ณ รัชดาลัยเธียเตอร์ แต่การกลับมาครั้งนี้มีความพิเศษกว่านั้น...

เกอิช้อย มีโอกาสได้ไปดูละครเวทีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้ นั่นก็คือเรื่อง ลอดลายมังกร THE EPIC MUSICAL AT LHONG 1919 ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่ซีเนริโอยกเอาเวทีระดับรัชดาลัยออกมาอยู่กลางแจ้ง บนพื้นที่จริงแห่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการค้าไทย-จีน 

ลอดลายมังกร คือสุดยอดนวนิยายจากปลายปากกาของประภัสสร เสวิกุล ที่เคยถูกนำมาทำเป็นละครเวทีมาแล้วครั้งหนึ่งบนเวทีรัชดาลัยซึ่งกำกับการแสดงโดย ถกลเกียรติ วีรวรรณ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “อาเหลียง” หนุ่มชาวจีนที่หอบเสื่อผืนหมอบใบข้ามน้ำข้ามทะเลจากแดนมังกรมาตั้งรกรากในเมืองไทย ก่อร่างสร้างตัวด้วยความขยัน และใช้คุณธรรมนำทางจนประสบความสำเร็จร่ำรวย แต่ด้วยความที่เป็นครอบครัวใหญ่ แน่นอนว่าลูกหลานหลายคนจึงมีความเห็นไม่ตรงกัน

...

ต้องขอเกริ่นก่อนว่า เกอิช้อย มีโอกาสได้ดูการแสดงลอดลายมังกรเวอร์ชั่นแรกที่จัดขึ้นที่รัชดาลัยมาแล้ว และความประทับใจในครั้งนั้น ทำให้เรารู้สึกว่าพลาดไม่ได้ที่จะมาดู "ลอดลายมังกร" ในเวอร์ชั่นล่าสุดนี้ 

การดำเนินเรื่อง

จากเวอร์ชั่นที่แล้วบนเวทีรัชดาลัยใช้เวลาการแสดงราว 2.30 ชั่วโมง แต่บนเวทีที่ล้ง 1919 ใช้ระยะเวลาการแสดงเพียง 1.40 ชั่วโมงเท่านั้น แน่นอนว่าเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงที่ถูกตัดออกไปนั้น ต้องมีเนื้อเรื่องและบางบทละครที่ถูกตัดออกไปเช่นกัน 

ยกตัวอย่างตัวละครของ นรากร ที่ถูกหยิบออกไปไม่ได้พูดถึง แต่น่าแปลกใจที่เสน่ห์ของละครเวทียังอยู่ครบ ไม่รู้สึกว่าอะไรขาดหายไป เนื้อเรื่องยังดำเนินไปได้อย่างครบรส 

ฉาก แสงสี และดนตรีไม่ธรรมดา

การนำเอาละครเวทีที่แสดงในโรงละคร ออกมาใช้แสดงกลางแจ้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนอื่นช้อยอยากจะพูดถึงตัวฉาก 

ทั้งเวทีแสดงและคนดูรวมกันอยู่ที่ลานกลางแจ้งของบ้านหวั่งหลี โบราณสถานอายุกว่า 200 ปี เวทีถูกหันออกจากตัวบ้านที่มีสถาปัตยกรรมจีน ส่วนสแตนด์สำหรับคนดูนั้นหันเข้าหาเวทีและตัวบ้าน ให้ความรู้สึกขนลุกเบาๆ เนื่องจากเราเพิ่งได้อ่านสูจิบัตรถึงตำนานของตระกูลหวั่งหลี ตระกูลของชาวจีนที่มาตั้งรกรากบนแผ่นดินไทยเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว จึงถือได้ว่าที่นี่เป็นสถานที่ที่อิงจากบทประพันธ์ได้ดีที่สุด

ไม่น่าเชื่อว่าการยกเวทีออกมาแสดงเอาต์ดอร์นั้นไม่ทำให้เราผิดหวังจริงๆ ฉากยังคงอลังการ แถมยังอลังการกว่าเดิมด้วยพลุหลายดอกที่จุดอย่างต่อเนื่องทั้งช่วงกลางเรื่องและท้ายเรื่อง

เรื่องแสง สี เสียง ก็ไม่ต้องเป็นห่วง ทุกอย่างยังคงเล่นใหญ่ตามมาตรฐานของรัชดาลัย ส่วนเรื่องบทเพลงอาจมีส่วนที่ต่างไปจากเวอร์ชั่นก่อนอยู่บ้างเนื่องจากต้องทำเนื้อหาให้กระชับมากขึ้น แต่เพลงหลักๆ ก็ยังอยู่ครบนะ

เมื่อพูดถึงนักแสดง

นก-สินจัย เป็นคนเดียวที่กลับมารับบทเดิมในละครเวทีเรื่องนี้ ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถ้าเอาคนอื่นมาแสดงก็จะไม่ได้อารมณ์แบบที่พี่นกเล่นเอาไว้ เพราะไม่ว่าจะออกมาซีนไหนทุกคนเป็นแตกกระเจิง และเรียกเสียงหัวเราะจากผู้คนได้มากที่สุด

...

ชาย-ชาตโยดม มารับบท อาเหลียง เรื่องการแสดงนั้นชายสื่ออารมณ์ได้มีพลังมาก ถ่ายทอดความเป็นอาเหลียงออกมาได้สมจริงเหมือนในหนังสือ สำหรับบทนี้ชายต้องเล่นตั้งแต่ยังเป็นชายหนุ่มจนกระทั่งแก่ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของท่าทางที่อายุเพิ่มขึ้น หรือการโปรเจกต์เสียงให้ต่างกันในแต่ละช่วงวัยก็ทำได้ดีเกินคาด (ส่วนเรื่องของการร้องเพลง ส่วนตัวช้อยคิดว่าชายทำได้ดีแล้ว ดีมากจริงๆ เพียงแต่เวอร์ชั่นก่อน แบงค์ ปรีติ ตั้งมาตรฐานไว้สูงลิบ ก็แน่ล่ะ...เขาเป็นนักร้องหนิ) 

นก พริมา รับบท เนียม ภรรยาชาวไทยของอาเหลียง เราเพิ่งรู้ว่า นก พริมา เล่นละครเวทีได้ดีขนาดนี้ เรียกได้ว่าดีเกินคาด โดยเฉพาะกับเพลงเดี่ยวของเธอก็สามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกมาถึงผู้ชม

นัททิว มารับบท ชาญชัย หลานของอาเหลียงที่ออกจะร้ายๆ สักหน่อย แต่ครั้งนี้เราไม่ค่อยรู้สึกถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากชาญชัยมากเท่าใดนัก อาจเพราะบทที่ถูกตัดออกไปเยอะ เลยทำให้ชาญชัยในเวอร์ชั่นนี้ดูดร็อปลง

จิ๊บ กุลธิดาฐ์ กลับมาในบทของ เป็กกี้ จากเวอร์ชั่นที่แล้วที่เคยรับบท "มาลัย" ภรรยาคนที่ 3 ของอาเหลียง เป๊กกี้รอบนี้ถือว่าบทไม่เด่นนักเพราะฉากเปิดตัวก็ไม่มี มีแต่ฉากที่ทะเลาะกับเหมยหลิง แต่ก็แซ่บอยู่นะ

...

ตุ๊กตา จมาพร รับบท นันทนา มีเพลงเด่นในชื่อเพลง "เธอจะต้องชดใช้" ที่ส่วนตัวเราคิดว่ายังสามารถพีคได้กว่านี้อีก ยังไม่เจ็บปวดเท่าเวอร์ชั่นที่แล้ว ตุ๊กตาเสียงใสและกังวาลมากก็จริง แต่เมื่อรวมกับการดำเนินเรื่องแล้วก็ยังดูกดร็อปกว่าคนอื่นอยู่บ้าง

คอสตูม-เมคอัพยกมาจากรัชดาลัย

เสื้อผ้า หน้า ผม เรียกได้ว่าเอามาจากรัชดาลัย เคยทำไว้ได้ดีอย่างไร ทุกอย่างยังดีได้มาตรฐานเดิม เนื่องจากเรื่องนี้ตัวละครค่อนข้างมาก สีชุดจึงเป็นจุดสังเกตที่ทำให้ผู้ชมสามารถแยกแยะออกว่าใครอยู่ฝ่ายไหนด้วยโทนสีร้อน-เย็น

เมื่อพูดถึงบรรยากาศรอบตัว

การแสดงกลางแจ้ง แน่นอนว่าคุณต้องเตรียมตัวเพื่อไปเจอกับสภาพอากาศในวันนั้นๆ เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน นั่งดูไปเรื่อยๆ หน้าก็จะเยิ้มหน่อยๆ 

สแตนด์ที่นั่งคนดู อาจเป็นเรื่องที่เราผิดหวังมากที่สุดสำหรับโปรดักส์ชั่นนี้ เพราะถึงแม้จะคิดเอาไว้แล้วว่าอาจไม่ได้นั่งสบายเหมือนในโรงละคร แต่นี่ถึงขั้นมองไม่เห็นเวทีเลยเพราะหัวคนข้างหน้าบัง เรียกว่าขึ้นอยู่กับดวงจริงๆ ว่าคนที่นั่งด้านหน้าคุณจะสูงหรือตัวใหญ่แค่ไหน เราแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงแถว K และ L เนื่องจาก 2 แถวนี้ระดับเท่ากัน ถ้าคนด้านหน้าบังคือบังเลยจ้า โยกหัวดูกันสนุกไปเลย

...

(แนะนำว่าการเลือกแถวถ้าไม่เลือกด้านหน้าไปเลย ก็เลือกด้านหลังไปเลย จะได้อยู่สูงและไม่โดนบัง แถมอยู่ด้านบนลมเย็นกว่าด้านล่างและไม่มียุงด้วยนะ)

ถ้าใครมาถึงล้งเร็วก่อนเวลาแสดง สามารถฝากท้องได้ที่ "เยาวราช สตรีทฟู้ด" มีซุ้มอาหารจากเยาวราชมาออกบูธให้คุณได้รับประทานกัน แต่ก็นั่นแหละ...อาจจะร้อนหน่อย พกพัดติดไว้ไม่เสียหายนะจ๊ะ

ให้คะแนนความประทับใจเท่าไร?

ลอดลายมังกร THE EPIC MUSICAL AT LHONG 1919 ถูกนำมาปรับบทละครให้กระชับและสั้นขึ้น แต่ยังคงเก็บใจความสำคัญและแก่นของเรื่องไว้ได้อย่างครบถ้วน สามารถเข้าใจง่ายถึงแม้จะไม่เคยอ่านนวนิยายหรือดูลอดลายมังกรในเวอร์ชั่นอื่นๆ มาก่อน แถมยังมีจิตวิญญาณของสถานที่ที่เป็นฉากหลังจนทำให้รู้สึกขนลุกอย่างบอกไม่ถูก โดยเฉพาะตอนที่ยิงพลุออกมา สวยตาแตกไปเลยจ้า พอได้เห็นพลุก็รู้สึกคุ้มค่าบัตรขึ้นมาทันที

การยกละครเวทีเรื่องนี้มาอยู่ที่ล้ง 1919 ถือเป็นอีกหนึ่งบรรยากาศที่คุณจะไม่สามารถหาดูได้จากที่ไหน เพราะเปิดการแสดงเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น ถ้าไม่ใช่ครั้งนี้ เราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรที่ซีเนริโอจะยกเวทีการแสดงออกมากลางแจ้งเช่นนี้อีก เกอิช้อยเสียดายแทนคนที่ไม่ได้มาดูจริงๆ 

ลอดลายมังกรเวอร์ชั่นนี้ เปิดแสดงถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 เท่านั้น บัตรข้าราชการรับส่วนลด 50% บัตรนักเรียน/นักศึกษารับส่วนลด 20%