สนามพระวิภาวดี วันอาทิตย์นี้ สีกาอ่าง เขียนข้ามประเทศมาจากกรุงปักกิ่งในโอกาสร่วมคณะนักศึกษาวิทยาการจัดการสำหรับผู้บริหารระดับสูง ชื่อย่อว่า วบส. รุ่น 1 มาดูการพัฒนา และความเจริญด้านต่างๆของจีน.....
ระหว่างทริป ก็ได้เห็นว่าคนไทยใจพุทธ มีพระเป็นที่พึ่งทางใจตลอดเวลา เพราะเพื่อนหลายๆคนมีพระเครื่องติดมาด้วย บางคนก็นิมนต์ระดับเบญจภาคีมาเลย เช่น พระผงสุพรรณ หน้าแก่ สวยกรี๊ด ของ เสี่ยภัชริ นิจ-สิริภัช บิ๊กบอส บริษัทใหญ่ยักษ์ northern rene–wable energy นักสะสมระดับ A List ที่เก็บตัวเงียบมานาน.....
แต่ต่อไปคงไม่เงียบแล้ว เพราะเล่นพระระดับนี้ ต้องเอามาแบ่งกันชมดู ขอให้ท่านผู้ชมโปรดติดตามตอนต่อไปว่า เสี่ยโก้-ภัชริ จะมาสร้างสีสันอะไรยังไงให้วงการพระเครื่อง รับรองไม่มีผิดหวัง.....
สำหรับ ธรรมะคำสอน ขออัญเชิญมาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ที่ทรงสอนว่า “พระพุทธศาสนาสอนให้คนเข้าใจในกรรมนั้น ไม่ได้สอนให้คนกลัวกรรม เป็นทาสของกรรม หรืออยู่ใต้อำนาจกรรม แต่สอนให้รู้จักกรรม ให้ควบคุมกรรมของตน กรรมคือการอะไรทุกอย่าง ที่คนทำอยู่ทุกวันทุกเวลา ประกอบด้วยเจตนา คือ ความจงใจ” --ภาษาชาวบ้าน กรรม ก็คือ การกระทำ ทำอะไรได้อย่างนั้น.....
...
สำหรับพระเครื่องที่มาเยือนสนามพระวิภาวดี วันที่ 9 เดือน 9 องค์แรกคือพระรอด พิมพ์ใหญ่ เนื้อเขียว กรุวัดมหาวัน ลำพูน ครั้งนี้ได้ ๓ ขุนพล พระเครื่องเมืองลำพูน องค์งามๆ มาให้ชมพร้อมกัน โดยไม่ได้นัดหมาย.....
ก็พอดีมีตำรับวิชาพระเครื่องเมืองลำพูนของ อ.ตรียัมปวาย อยู่ใกล้มือ จึงได้ความรู้เรื่อง ชื่อพระ มาเล่ากันนิดนึงว่า พระรอด เป็นพระศักรพุทธปฏิมาของวัดมหาวนาราม (มหาวัน) สร้างไว้โดยพระสมณนารทฤๅษี (นารอท) จึงมีนามเรียกตามชื่อผู้สร้าง ซึ่งแต่เดิมคงเรียกว่า พระนารอท ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนเสียงเป็น พระรอด แปลว่าการพ้นอันตราย แคล้วคลาดภัย ซึ่งมีโฉลกตรงตามคุณวิเศษ ที่พิสูจน์ได้จากประสบการณ์ที่เป็นเรื่องเล่ากันมา ยืนยันได้ด้วยความนิยมในการแสวงหาที่สูงเป็นอันดับ ๑ ของพระเครื่องสกุลลำพูน จนได้รับการคัดเลือกเป็น ๑ ใน ๕ พระชุดเบญจภาคี .....
ราคาปัจจุบัน ทุกพิมพ์สภาพ สมบูรณ์ สวยธรรมดา เริ่มที่หลักล้าน ถ้าเป็น พระพิมพ์ใหญ่ สภาพสมบูรณ์สวยเดิม อย่างองค์นี้ของ เสี่ยอุทัย ตนันวิจิตร ที่มีพระเนตรติดชัดเพียงด้านเดียว ราคายังว่ามาถึง ๕-๖ ล้าน นี่ถ้าติดเต็มสมบูรณ์ ผู้รู้บอกว่าราคาต้องคูณ ๒ เป็นอย่างต่ำ เพราะเป็นสีเนื้อที่หายากสุด สมชื่อ พระรอดยอดคุณค่า ราคาสูงส่ง จริงๆ.....
อีกองค์ในสกุล คือ พระคง เนื้อเขียว กรุวัดพระคง ลำพูน ที่ได้รับการยกย่องเป็นพี่ใหญ่แห่งสกุลพระเครื่องเมืองลำพูน เพราะอายุการสร้างที่มีมากกว่า และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาก่อนในนามพระลำพูน.....
โดยมี พระคง เนื้อสีดำ สร้างชื่อเสียงแพร่หลายเพราะเป็นพระที่มีบันทึกว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ใช้บูชาติดอยู่กับพระมาลาเบี่ยง เรียกชื่อกันสืบมาว่า พระลำพูนดำ.....
ซึ่งก็มีข้อมูลบันทึกจากตำราเล่มเดียวกันว่าเป็นพระศักรพุทธปฏิมาของ วัดอาพัทธาราม ซึ่งมีความหมายว่า ผูกพัน มั่นคง ถาวร อยู่คง หรือ คงกระพัน ผู้สร้างคือ พระสุเทวฤๅษี ซึ่งมีความหมายว่า เทวะผู้ประเสริฐ หรือผู้เป็นอมร คือผู้มีชีวิตอันยืนยงคงกระพัน (ไม่รู้จักตาย)--พระคง จึงได้รับการถวายนามว่า พระอาพัทธากร (ผู้ทรงไว้ซึ่งความคงกระพันชาตรี) .....
องค์นี้สมบูรณ์เยี่ยมงามยอด เจ้าของคือ เสี่ยอุทัย ตนัน-วิจิตร เหมือนกัน บอกได้เลยว่า เป็นนักนิยมพระ ที่ไม่ธรรมดา .....
ตามมาด้วย พระบาง กรุ วัดดอนแก้ว ลำพูน พระเครื่องเลอค่ามหาเสน่ห์ ที่ตำราบอกว่า เป็นศักรพุทธปฏิมาของ วัดอรัญ ญิกรัมการาม (วัดดอนแก้ว) นามเดิมทางเหนือ คือ “พระคงงาม”.....
คือพระปฏิมา ที่มีพุทธลักษณะ คล้ายพระคง แต่งดงามกว่า กับอีกเหตุผลในการเรียกนาม พระบาง ด้วยรูปทรงสัณฐานที่บอบบาง โดยเฉพาะด้านหลังที่มีเนื้อน้อย บางกว่าพระคง หรือคำว่า บาง อาจมาจากคำว่า อาลัมพางค์ หรือ ลำปาง อันเป็นถิ่นที่พำนักของพระสุพรหมฤๅษี ผู้สร้าง--องค์นี้ของ เสี่ยพิภู ชัยชยะกุล.....
จากเหนือ ลงไปภาคกลาง ดู พระขุนแผนเคลือบ พิมพ์เล็ก (แขนอ่อน)กรุ วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา .....
ย้ำนิดนึงว่า วัดนี้ เดิมชื่อวัดเจ้าพระยาไทย (พระสงฆ์ไทย) ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดป่าแก้ว แล้วจึงได้รับสถาปนาชื่อเป็นวัดชัยมงคล เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างองค์พระเจดีย์ชัยมงคลขึ้นกลางลานวัด เป็นอนุสรณ์การประกาศชัยชนะเหนือพม่าเมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๔-๓๕ และอาราธนา สมเด็จพระพนรัตน์เป็นประธานจัดสร้างพระพิมพ์บรรจุไว้.....
...
เวลาล่วงเลยมาถึงราวๆปี พ.ศ.๒๔๔๕-๕๐ จึงมีการค้นพบพระครั้งแรก โดยชาวบ้านลักลอบเข้าไปขุดเจาะฐานองค์พระเจดีย์เข้าไป เพื่อหามหาสมบัติ ซึ่งพบเครื่องทองของมีค่ามากมาย แต่นำออกมาไม่ได้ เพราะถูกเก็บอยู่ในที่อับชื้น ลงไปนานก็ขาดอากาศหายใจถึงตาย.....
ที่นำออกมาได้มีแค่พระพิมพ์ราว ๑๐๐ กว่าองค์ แยกพิมพ์ได้เป็น ๑.พิมพ์ใหญ่ฐานสูง ๒.พิมพ์ใหญ่ฐานเตี้ย และ ๓.พิมพ์เล็กแขนอ่อน กับพระพุทธรูปจำนวนหนึ่ง.....
พระเครื่องทุกองค์มีน้ำยาเคลือบสีเหลืองอร่าม พุทธศิลป์สมัยอยุธยา และน้ำยาเคลือบที่มีรอยแตกราน งดงามตามอายุความเก่า ปรากฏแสงเงาดั่งแสงรัศมี ดูมีพลานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ ที่ยืนยันด้วยประสบการณ์ ทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดคงกระพันชาตรี องค์นี้ของ เสี่ยอิทธิ ชวลิตธำรง คอลเลกเตอร์ระดับ top อีกคน --เป็นพระรังเก่า ที่มีชื่อเสียงว่า งดงามสมบูรณ์แบบเป็นที่สุดองค์หนึ่ง.....
รายการต่อไปคือ พระชัยวัฒน์ ปั๊มซ้ำ (หน้าใหญ่) พ.ศ.๒๔๘๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสฺเทว มหาเถร) จัดสร้างในประเพณีเททองสร้างพระกริ่งในพิธี วันเพ็ญเดือน ๑๒ พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งกำหนดแบบเป็น พระกริ่งหน้าไทย หน้าอินเดีย พระชัยวัฒน์ น้ำเต้าเอียง และ พิมพ์น้ำเต้าตรง.....
ควบคุมการเททองโดย ช่างสหัส พัฒนางกูร กับ ช่างประสาร ศรีไทย โดยใช้เนื้อโลหะเบ้าเดียวกับพระกริ่งหน้าไทย ที่มีการผสมเม็ดเงินพดด้วงจำนวนมาก.....
ปรากฏว่า พระชัยวัฒน์น้ำเต้าตรง ส่วนใหญ่เทออกมาได้ไม่สมบูรณ์งดงามตามแบบ นายช่างจึงนำให้สมเด็จฯพิจารณา พร้อมแนะนำวิธีแก้ไขสองประการ.....
...
คือ ๑.หลอมองค์พระ ขึ้นแบบเททองใหม่ กับแกะแม่พิมพ์ นำองค์พระปั๊มซ้ำด้วยเครื่องจักร.....
สมเด็จฯทรงเห็นด้วยกับ วิธีปั๊มซ้ำ นายช่างจึงดำเนินการแกะแม่พิมพ์เป็น ๒ แบบ คือ หน้าใหญ่ กับ หน้าเล็ก นำองค์พระเข้า ปั๊มซ้ำ ได้องค์พระ ๒ แบบ รวม ๑,๕๐๐ องค์ ในภาพองค์นี้ของ เสี่ยเต่า พระเครื่อง เป็น พิมพ์หน้าใหญ่ ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมสูงกว่า พิมพ์หน้าเล็ก--ราคาอยู่ที่หลักแสนต้น .....
ต่อด้วย พระพิมพ์ขุดสระเล็ก พระครูกรุณาวิหารี หรือหลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว อ.บางพลี สมุทรปราการ พระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณ ยอดนิยม ที่ไม่ได้ชมกันนาน--เป็นสัญญาณว่าพระดีพระดังขลังจริงในอดีต กำลังจะกลับมามีการเคลื่อนไหวแร้ว.....
อย่าง พระพิมพ์เนื้อผงรุ่นขุดสระ ที่ หลวงปู่เผือก จัดสร้างเพื่อสมนาคุณผู้ร่วมบริจาคทรัพย์สร้างสระน้ำของวัด ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๐-๖๕ มี3 พิมพ์ คือ พิมพ์ขุดสระใหญ่ เล็ก และสามเหลี่ยม ล้วนได้รับความนิยม โดยเฉพาะ พิมพ์ขุดสระเล็ก แบบองค์นี้ของ เดอะช้าง ท่าดินแดง ซึ่งได้รับความนิยมนำมา ใช้บูชาคู่ กับ พระผงของขวัญ วัดปากน้ำเพราะขนาดรูปทรงที่ใกล้เคียง ชื่อเสียงเกียรติคุณผู้สร้างที่ได้ชื่อเป็นพระแท้ มีผู้เคารพศรัทธาสูงอยู่ในยุคเดียวกัน ราคาก็อยู่ที่หลักแสนเหมือนกัน.....
...
ตามมาด้วย เหรียญรุ่น ๒ เนื้อทองคำ พ.ศ.๒๔๙๘ หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง อ.ชะอำ เพชรบุรี เหรียญนี้เห็นปั๊บ ยกนิ้วให้ปุ๊บ ว่าเป็น เนื้อทองคำ ที่มีความสมบูรณ์งดงามที่สุด จากที่เคยมีให้ชมผ่านสนามพระวิภาวดีแค่ ๓-๔ เหรียญ ในรอบ 20 ปี ที่เปิดเวทีนี้มา.....
เพราะธรรมชาติของ เนื้อทองคำ ที่มีความอ่อนนิ่ม โดยเฉพาะเนื้อทองคำที่นำมาปั๊มเหรียญต้องมีเปอร์เซ็นต์สูง โดนสัมผัสจับต้องเบาๆ ขนาดที่นักนิยมพระบอกว่า แค่วางให้โดนลมพัดสัมผัสนานๆ ก็มีรอยแล้ว.....
แต่เหรียญนี้มีอายุกว่าครึ่งศตวรรษ ของ เสี่ยพิเชษฐ์ เกียรติเดชาวิทย์ ยังสวยเนี้ยบเฉียบ ไร้ริ้วรอยสัมผัส แสดงให้เห็นว่าเจ้าของเดิมรู้คุณค่า รักษามาอย่างดีเยี่ยม แม้แต่ลมยังยากจะได้สัมผัส.....
ถือเป็นโชคดีของผู้ครอบครองปัจจุบันที่ไม่ได้บอกราคามาว่าเท่าไร แต่ก็น่าจะประมาณได้จาก เหรียญ เนื้อทองแดง แชมป์ ที่ขึ้น หลักล้าน ว่า เหรียญ แชมป์ เนื้อทองคำ จะกี่ล้าน.....
ตบท้ายกัน ด้วย เขี้ยวเสือแกะ หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน สมุทรปราการ ปฐมาจารย์ผู้สร้างเครื่อง ราง ด้วยเขี้ยวเสือ แกะ เป็นตัวขนาด ใหญ่ (อ้าปาก) ขนาดเล็ก (หุบ ปาก) หน้าแมว และขนาดจิ๋ว เรียกว่า สาริกา เสือ.....
ตัวนี้ ของ ดร.จอห์น พงษ์สิงห์วิทยา เป็นเสือขนาดใหญ่ ฟอร์มทรงมาตรฐาน ยืนชูขาคู่หน้า แยกเขี้ยวคำราม ตากลม อมยิ้มเล็กๆ ดูดีมีชีวิตชีวา.....
บอกถึงฝีมือช่างที่มโนให้มีทั้งมหาอำนาจ มหานิยมในตัว เหมือนเสือจริง ที่แม้ดุร้ายแต่คนเห็นก็อยากเข้าใกล้.....
ลายศิลป์ทุกเส้นสายก็งดงามสม่ำเสมอ อักขระเลขยันต์ครบถ้วนจึงจัดภาพมาให้ชมรอบด้าน ตามที่มีเนื้อที่.....
ลากันด้วยเรื่องปิดท้ายของ ลุงพรหม อายุ ๘๕ ขวบ ซึ่งเรียนวิชาอาคม ว่านยา เจนจบวิชาแพทย์โบราณ จนมีชื่อเสียงเป็นจอมขมังเวทของหมู่บ้านหนึ่งในเมืองกาญจน์มาตั้งแต่หนุ่มๆ.....
แกมีชื่อเสียงมาก ตอนเป็นทหารถูกส่งไปทำสงครามปราบคอมมิวนิสต์ทางเหนือ ถูกยิงเสื้อผ้าขาดทะลุ แต่ไม่เข้าเนื้อ แต่กระดูกซี่โครงหัก จึงได้ปลดประจำการ กลับมาบ้าน เล่าให้ลูกหลานฟังพร้อมหลักฐานเป็นรอยกระสุนที่ชายซี่โครงหลายจุด และยังมักเล่าเรื่องตอกย้ำว่าที่ได้ นางสังวาลย์ ลูกสาวกำนัน สาวงามประจำหมู่บ้านมาเป็นเมียทั้งที่มีคู่แข่งเป็นลูกเศรษฐีหน้าตาดีๆมาจีบเพียบ ก็เพราะมีวิชาคาถาดี.....
ทำให้คนทั้งหมู่บ้านเชื่อถือศรัทธา มีลูกมีหลานก็ต้องพามาให้ ลุงพรหม เสกคาถาเป่ากระหม่อม ถึงปัจจุบันก็ยังมีไม่ขาด เป็นที่นับถือของชาวบ้าน.....
วันก่อนมีชาวบ้านพาลูกหลานที่เคยลงกระหม่อม มารดน้ำดำหัว ลุงพรหม ก็ตั้งใจจะเอาพระเครื่องที่เก็บไว้ในตู้ไม้มาแจก แต่หากุญแจไม่เจอ จึงยืนพนมมืออยู่หน้าตู้ เกือบครึ่งชั่วโมง จนเหงื่อแตกเต็มหน้า.....
เมียเห็นก็ถามว่า แกทำอะไร ลุงพรหม บอกว่าจะเปิดตู้ แต่ลืมกุญแจ เลยจะใช้คาถาอิติปิโส ถอยหลัง เสกสะเดาะลูกกุญแจ.....
เมียฟังก็ถามว่า คาถามันยาวนักหรือ จึงเสกนานนัก ลุงพรหม ตอบว่า ไม่ยาวหรอก แต่ที่นานเพราะมันลืมคาถานึกไม่ออก ขึ้นต้นยังไม่ได้สักตัวเลย--เอวัง จอมขมังเวท ก็มีด้วยประการฉะนี้ เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.
สีกาอ่าง