“เบาหวาน” เป็นโรคหนึ่งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก โดยปัจจุบันพบว่าผู้หญิงทั่วโลกกว่า 199 ล้านคนเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากปัจจัยทางสรีระร่างกาย พฤติกรรมการกินอาหาร และการขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้นทุกปีๆ ซึ่งเมื่อหากเป็นแล้ว ควรต้องดูแลตัวเองดังนี้

1.อาหาร ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ข้าว แป้ง ผัก ผลไม้ และไขมัน ในปริมาณที่พอเหมาะ จำนวน 3 มื้อ ไม่รับประทานจุบจิบ เพื่อให้น้ำหนักตัวอยู่ในระดับที่เหมาะสม

อาหารที่ควรงด คือ อาหารหวานทุกชนิด เช่น ทองหยอด ขนมถ้วย กล้วยบวชชี น้ำตาล น้ำผึ้ง นมข้นหวาน น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว ผลไม้กระป๋อง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน น้อยหน่า ลำไย มะม่วงสุก ขนุน ละมุด เป็นต้น

ถ้าต้องการให้อาหารมีรสหวาน อาจใช้น้ำตาลเทียมผสมอาหารในปริมาณที่พอเหมาะได้

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด คือ ไขมัน เพราะทำให้อ้วนและหลอดเลือดแข็งได้ง่าย อาหารพวกนี้ได้แก่ น้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันสัตว์ เครื่องในสัตว์ หนังสัตว์ กระดูกสัตว์ ตลอดจนนม เนย ครีม มะพร้าว

...

อาหารที่รับประทานให้น้อยลง ได้แก่ อาหารพวกแป้ง เช่น ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมปัง ขนมจีน ซาลาเปา วุ้นเส้น เผือก มัน

อาหารที่รับประทานได้แต่ต้องจำกัดจำนวน ได้แก่ ข้าว รับประทานได้ตามปกติพออิ่ม เพราะเป็นอาหารหลักของคนไทย ทำให้อิ่มท้อง ผลไม้บางชนิดที่มีรสหวานอ่อนๆ เช่น ส้ม ชมพู่ สับปะรด แตงโม ฝรั่ง พุทรา มังคุด มะละกอ เงาะ กล้วย เป็นต้น

อาหารที่รับประทานได้มากพอสมควร คือ อาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ปราศจากไขมัน ถั่วต่างๆ สำหรับไข่ไม่ควรงด ควรรับประทานสัปดาห์ละ 3-4 ฟอง ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ควรรับประทานสัปดาห์ละ 2 ฟอง หรือรับประทานแต่ไข่ขาวเท่านั้น

น้ำนม เป็นอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่น้ำนมที่ขายอยู่ในท้องตลาดมีหลายชนิด ผู้ที่เป็นเบาหวานควรอ่านฉลากก่อนซื้อ น้ำนมที่ดื่มได้ เช่น น้ำนมสดที่ไม่ปรุงแต่งรส นมผสมคืนรูปควรเลือกชนิดจืด นมสดระเหยควรเลือกชนิดไม่แปลงไขมัน นมผงธรรมดา นมผงไม่มีไขมัน และน้ำถั่วเหลืองที่ทำเอง ไม่ใส่น้ำตาลทราย เป็นต้น

อาหารที่รับประทานได้ไม่จำกัด คือ ผักต่างๆ เช่น คะน้า ผักกาด กวางตุ้ง บวบ ตำลึง กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ยกเว้นหัวหอมใหญ่ ฟักทอง สะเดา มะรุม ซึ่งรับประทานได้พอสมควร จำนวนอาหารแต่ละวันควรแบ่งเป็นส่วนๆ ให้เหมาะสมในแต่ละมื้อ เช่น อาจแบ่งเช้า 1 ส่วน กลางวัน 2 ส่วน เย็น 2 ส่วน อาหารแต่ละมื้ออาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

2. การออกกำลังกาย นั้นเป็นของดีและจำเป็นสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน การออกกำลังกายสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้บ้าง ควรทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหม ให้เหมาะสมกับวัยและความสามารถ เช่น ผู้สูงอายุอาจเดินประมาณ 15-30 นาที รดน้ำต้นไม้ บริหารร่างกายบนเตียง เด็กอาจวิ่งเหยาะๆ กระโดดเชือก ว่ายน้ำ เป็นต้น ในรายที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ในเกณฑ์ที่ดี ควรระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากออกกำลังกายมากแนะนำให้กินอาหารแป้งหรือนมก่อนออกกำลังกาย

3. รับประทานยาหรือฉีดอินซูลิน ตามแพทย์ พยาบาลแนะนำอย่างสม่ำเสมอ

4. การดูแลความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะเท้า ซอกนิ้วเท้า ควรล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้งก่อนนอนทุกคืน
- ตรวจดูว่ามีแผลพุพอง ช้ำ ถลอก หรือเล็บขบหรือไม่
- เลือกใช้รองเท้าที่พอเหมาะ ไม่คับหรือหลวมเกินไป
- การตัดเล็บอย่างระมัดระวัง โดยตัดขวางเป็นเส้นตรง อย่าสั้นเกินไป
- อย่าเดินเท้าเปล่านอกบ้าน
- ไม่วางถุงน้ำร้อนที่เท้า

5. บริหารเท้าทุกวันโดย
- เดินทุกวัน
- เขย่งปลายเท้าขึ้นลง
- หมุนเท้าไปทางซ้าย-ขวา
- กระดกปลายเท้าขึ้นลง
- ยกขาขึ้นลง

...

6. พบแพทย์และตรวจร่างกายตามนัด อย่าหยุดหรือเพิ่มยาเอง การเจาะเลือด เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานเป็นครั้งคราว มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเมื่อแพทย์ให้ท่านมาเจาะเลือดตรวจ ควรมาตามนัดและปฏิบัติดังนี้ คือ งดอาหารหลังเที่ยงคืน เช้าวันมาเจาะเลือด งดยากินหรือยาฉีดมื้อเช้านั้น และนำยามาโรงพยาบาลด้วย หลังเจาะเลือดเรียบร้อยแล้วจึงรับประทานยาหรือฉีดอินซูลินตามแพทย์สั่ง และควรมีบัตรประจำตัวว่าเป็นเบาหวานพกติดตัวไว้เป็นประจำ

ถ้าผู้ที่เป็นเบาหวานปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง สม่ำเสมอ จะทำให้ชีวิตมีความสุขเหมือนคนปกติ แต่ถ้าปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ น้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานๆ จะทำลายอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เกิดโรคแทรกซ้อน 2 แบบ คือ

1.แบบเฉียบพลัน เป็นทันทีทันใด โดยผู้ป่วยจะซึมลง ไม่รู้สึกตัว หมดสติ เนื่องจากระดับน้ำตาลและบางครั้งร่วมกับมีกรดในเลือดสูง มีสาเหตุจากการขาดยา หรือติดเชื้อโรคอย่างรุนแรงได้

2.โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงอยู่นาน ทำให้มีการเสื่อมของหลอดเลือดแดง และเส้นประสาท

2.1 โรคแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดแดง เช่น เส้นเลือดในสมองตีบเป็นอัมพาต ตาบอดจากเส้นเลือดที่จอรับภาพตีบ หัวใจวาย เจ็บหน้าอกจากเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ ไตวายจากหลอดเลือดแดงที่ไตตีบ ทำให้เกิดความดันเลือดสูง มีแผลอักเสบเรื้อรังตามอวัยวะโดยเฉพาะเท้า

2.2 โรคแทรกซ้อนต่อระบบประสาท ทำให้ระบบประสาทเสื่อม ผู้ป่วยจะหน้ามืด เวียนศีรษะ อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย ปัสสาวะกะปริบกะปรอย เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ชาตามเท้า

2.3 เป็นต้อกระจกเร็วกว่าวัยอันสมควร

2.4 ติดเชื้อโรคง่าย เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เชื้อราที่ผิวหนัง วัณโรคปอด เป็นต้น

...

2.5 กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

2.6 เป็นฝีเรื้อรัง

---------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

หนังสือรู้รอบโรคกับรามาคลินิก ฉบับพิเศษ ครบรอบ 12 ปี ศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง