จากเหตุเรือท่องเที่ยวถูกคลื่นซัดจนล่มกลางทะเล จ.ภูเก็ต ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก วันนี้ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ จะพาทุกคนไปรู้จักวิธีในการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ
โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นภัยพิบัติที่ไม่มีใครคาดคิด ดังนั้นสิ่งที่เราจะป้องกันได้ในเบื้องต้น คือ ประชาชนทุกคนควรเรียนรู้วิธีในการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ ทั้งการเรียนรู้หลักในการว่ายน้ำ และทักษะในการเอาชีวิตรอดในน้ำ ดังนี้
1. รู้จักวิธีการร้องขอความช่วยเหลือ เช่น การโบกมือขึ้นลงเหนือศีรษะ ให้คนอื่นรู้ว่ากำลังประสบภัย หรือการตะโกน
2. รู้จักวิธีการลอยตัวอยู่ในน้ำ เช่น การฝึกลอยตัวแบบนอนหงาย ขาแขนเหยียดตรง เหมือนนอนอยู่บนที่นอน เงยหน้ายกคางเพื่อใช้ปากหายใจ
3. สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีสติ ไม่ตกใจ
สำหรับประชาชนทั่วไปที่พบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินจากการจมน้ำ และต้องการเข้าให้ความช่วยเหลือ
1. เบื้องต้นผู้เข้าให้การช่วยเหลือจะต้องคำนึงถึงถึงความปลอดภัยตัวเองเป็นสำคัญก่อน เพราะบ่อยครั้งที่คนช่วยก็ได้รับอันตรายจากการช่วยเหลือด้วย
...
2. วิธีที่ถูกต้องในการช่วยคนขึ้นจากน้ำ ประกอบด้วยการตะโกน โยน ยื่น
3. สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การตะโกนบอกให้คนตกน้ำอย่าตกใจ
4. หาวัสดุลอยน้ำโยนให้ผู้ที่ตกน้ำเกาะพยุงตัว
5. ยื่นอุปกรณ์ หรือหาสิ่งของให้ผู้ที่ตกน้ำจับ เพื่อลากเข้าฝั่ง
6. ไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะผู้ที่จมน้ำจะมีอาการตกใจ กอดรัด และทำให้จมน้ำไปด้วยกันทั้งคู่
7. ทุกครั้งต้องประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของน้ำด้วย โดยเฉพาะในทะเลที่มีคลื่นลมแรง
รู้จักเสื้อชูชีพ
1. เสื้อชูชีพที่ใช้ตามเรือท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ยังเป็นแบบเสื้อพยุงตัว ไม่ใช่เสื้อชูชีพแท้ ที่ออกแบบไว้ให้นอนหงายตลอดเวลา
2. การใส่เสื้อชูชีพ จะต้องใส่ให้ถูกต้อง รัดตัวล็อกทุกจุด มิเช่นนั้นเสื้อชูชีพอาจหลุดได้
3. เสื้อชูชีพจะสามารถพยุงตัวผู้ประสบเหตุได้ 3-6 ชั่วโมง แต่หากเป็นเสื้อชูชีพคุณภาพดี จะสามารถลอยตัวได้นานเป็นวัน
4. สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีสติ พยายามช่วยตัวเองให้ลอยตามน้ำให้ได้ อย่าพยายามว่ายเข้าฝั่งอาจทำให้หมดแรง
5. ควรตะโกนให้คนช่วย หรือเป่านกหวีดที่ติดมากับชูชีพ
ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด หากช่วยเหลือผู้ประสบเหตุขึ้นมาได้
1. ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669
2. หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้กดนวดหัวใจ ช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์
3. ผู้ป่วยที่ยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อเปิดทางเดินหายใจ
4. ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น