คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน ขอนำแฟนานุแฟน ไปรับรู้เรื่องราวอันน่าทึ่ง ซึ่งประวัติ ศาสตร์ของโลกอาจเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปได้ถ้าโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างไม่อุบัติขึ้น
ในปี ค.ศ.1818 อับราฮัม ลินคอล์น อยู่ใน วัย 9 ขวบ แนนซี่ (Nancy Hanks Lincoln) ผู้เป็นมารดามีอาชีพทำไร่ หากทว่าฟาร์มของเธอแห้งแล้งกันดาร วัวที่เลี้ยงไว้ไม่มีทุ่งหญ้าให้เดินเคี้ยวเอื้อง พวกมันต้องแสวงหาพันธุ์ไม้ในป่ากินประทังชีวิต
ครั้นแล้วจู่ๆ ลุงกับป้าของแนนซี่ก็ล้มป่วยลงด้วยอาการอัมพาต ขาแขนเกร็งและลิ้นก็บวมแดง เพียงแค่ไม่กี่วันต่อมาทั้งคู่ก็เสียชีวิต ถัดจากนั้นไม่นานนักแนนซี่ก็ถึงแก่กรรมตามไปด้วย
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าลินคอล์นในวัยเด็กจะโศกเศร้าเพียงใด เขาไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่ามารดาและญาติผู้ใหญ่ของเขานั้นเสียชีวิตด้วยสาเหตุอันใด หากทว่าเพื่อนบ้านใกล้เคียงในเมืองพิเจียน ครีก (Pigeon Creek) รัฐอินเดียนา กล่าวกันว่า เป็นเพราะเขาเหล่านั้น “ดื่มนมที่เป็นพิษ” ด้วยว่าเจ้าวัวได้เคี้ยวกินเอาต้นไม้บางอย่างที่เรียกว่า พืชน่าหวาดหวั่น (the trembles) ทำให้นมของมันมีอันตรายหากดื่มเข้าไป อย่างไรก็ตาม ในครั้งกระนั้นชาวบ้านก็เพียงได้แค่สันนิษฐาน เพราะไม่สามารถวิเคราะห์หา หลักฐานที่แท้จริงได้
...
กระทั่งล่วงมาถึงปี ค.ศ.1927 เมื่อวิทยาการก้าวหน้าขึ้น ทางการแพทย์จึงพบว่า ข้อสันนิษฐานของชาวบ้านนั้นถูกต้อง มารดาของลินคอล์นเสียชีวิตจากการดื่มนมของวัวที่เคี้ยวกินต้นไม้พิษชื่อ “รากอสรพิษขาว (white snakeroot)” ซึ่งโดยทั่วไป ถ้าหากมีหญ้าอุดมสมบูรณ์ ฝูงวัวทั้งหลายจะหลีกเลี่ยงไม่กินต้นไม้พิษชนิดนี้
แต่ตัวลินคอล์นรอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ มิฉะนั้นอเมริกาก็คงไม่มีประธานาธิบดีนามว่า อับราฮัม ลินคอล์น ผู้ปฏิรูปวิถีชีวิตของอเมริกันชน
ปี ค.ศ.1887 เจ้าชายเฟรเดริก มกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย (Crown Prince Frederick of Prussia) ผู้เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง ได้เกิดมีเนื้องอกขึ้นที่หลอดเสียงทางด้านซ้ายของลำคอ วิธีการรักษาแบบดั้งเดิมที่เคยใช้กันมาไม่อาจรักษาบำบัดให้หายได้ แพทย์ประจำ พระองค์ชาวเยอรมันจึงวินิจฉัยว่าพระองค์ทรงเป็นมะเร็ง และถวายคำแนะนำว่าควรตัดเนื้อร้ายนั้นทิ้งไป หากทว่ามอเรลล์ แม็กเคนซี่ (Morell Mackenzie) หมอชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านโรคลำคอ ได้ทักท้วงว่า ไม่เห็นมีร่องรอยของมะเร็งเลย ด้วยเหตุนี้การผ่าตัดจึงถูกระงับไป
15 มิถุนายน 1888 หลังการขึ้นครองราชย์ได้เพียง 99 วัน กษัตริย์เฟรเดริกก็สิ้นพระชนม์ด้วยสาเหตุมะเร็งที่พระศอ ไกเซอร์ วิลเฮล์ม (Kaiser Wilhelm) พระโอรสผู้มีสมองด้อยกว่า และแถมยังโปรดปรานการสงคราม ได้ขึ้นสู่บัลลังก์แทน
วงการแพทย์เชื่อว่า ถ้าหากหมอเยอรมันสามารถดำเนินการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกไปได้สำเร็จ กษัตริย์เฟรเดริกก็อาจมีพระชนม์ชีพยืนยาวได้ต่อไป และมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งสร้างความวิบัติแก่ชาวโลกอย่างสาหัสก็คงไม่อุบัติขึ้น
...
ในการปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศสช่วงปี ค.ศ.1789-1799 ซึ่งนโปเลียนก็มีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง หนึ่งในผู้นำการปฏิวัติมีนามว่า ยัง ปอล มาราต์ (Jean Paul Marat) แต่เขาเสียชีวิตในปี 1793 ระหว่างที่กำลังดำเนินการปฏิวัติโดยถูกหญิงสาวนามว่า ชาร์ลอตต์ คอร์เดย์ (Charlotte Corday) ใช้มีดปลายแหลมเสียบเข้าที่หน้าอกด้านซ้ายขณะที่มาราต์นอนแช่อยู่ในอ่างอาบน้ำตามลำพัง ซึ่งเป็นกิจวัตรที่เขาปฏิบัติเป็นประจำ ทำให้สาวฆาตกรสามารถวางแผนสังหารเขาได้โดยง่ายดาย
การที่มาราต์ต้องนอนแช่น้ำนั้น เนื่องจากเขามีอาการเป็นผื่นคันตามผิวหนังด้วยโรคที่มีชื่อว่า Pityriasis simplex ซึ่งเขาติดเชื้อมาจากการต้องหลบซ่อนตัวอยู่ตามที่สกปรก เช่น ในห้องใต้ดินหรือท่อระบายน้ำโสโครก มาราต์จึงจำเป็นต้องนั่งนอนแช่น้ำในอ่างอยู่เสมอๆ เพื่อบรรเทาอาการคัน และก็ใช้เวลาที่อยู่ในอ่างเขียนบทความปลุกใจรุกเร้าให้คณะปฏิวัติ
ว่ากันว่าโรคคันนี้กระตุ้นแรงบันดาลใจให้มาราต์เขียนปลุกใจได้รุนแรงดุเดือดจนนำไปสู่การปฏิวัติที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกสังหารด้วย
...
ในช่วงปี ค.ศ.1910 ณ ไซบีเรีย ได้มีการออกล่าตัวมาร์มอต (marmot) สัตว์ฟันแทะลักษณะคล้ายตัวอ้น ซึ่งขนของมันเป็นที่นิยมเอามาทำเสื้อเฟอร์สวมใส่ ทั้งนี้ เนื่องจากความ ต้องการเสื้อเฟอร์ขนสัตว์ได้พุ่งพรวดขึ้นจากปกติถึงสี่เท่า โดยชนเผ่ามองโกลที่เป็นนักล่านั้นรู้จักเจ้าสัตว์ชนิดนี้ดี และยังรู้อีกด้วยว่ามันเป็นสัตว์ที่มีเชื้อโรคประหลาดแอบแฝงอยู่
โดยแม้ว่าเนื้อหนังของเจ้ามาร์มอตจะมีรสชาติดี แต่ถ้าหากมันเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าว การกินชิ้นเนื้อไขมันที่อยู่ใต้รักแร้ของมันนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด เพราะอาจก่อโรคร้ายแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีตำนานเล่าว่า อวัยวะต่อมไตส่วนนั้นมีวิญญาณของพรานนักล่าสิงสู่อยู่ การได้รับเชื้อโรคร้ายนี้เข้าสู่ตัวนั้นเป็นเรื่องสุดแก้ไข พรานนักล่าคนใดติดเชื้อเข้าแล้ว เพื่อนร่วมเผ่ามองโกลจะปล่อยทิ้งให้เขาทนทรมานจนเสียชีวิตไปเองอย่างโดดเดี่ยว
ในช่วงเวลาที่ความนิยมเฟอร์พุ่งสูงนั้น พ่อค้าชาวจีนได้แห่กันเข้ามาทางตอนเหนือ ของแมนจูเรีย เพื่อหาซื้อขนสัตว์ พวกเขา คิดว่าตนนั้นโชคดีเมื่อเจอะเจอเจ้ามาร์มอตที่นอนป่วยและง่ายดายแก่การจับตัวมา ซึ่งหากว่านักล่าชาวจีนเจ็บป่วยจาก การติดเชื้อจากเจ้ามาร์มอต พวกเขาก็จะช่วยกันรักษาพยาบาลไปตามปกติ โดยมิได้ล่วงรู้เลยว่าพรรคพวกของตนนั้นเป็นโรคอันร้ายกาจที่มีชื่อว่า กาฬโรค (bubonic plague)
...
จากนั้นเจ้ากาฬโรคก็ได้แพร่สะพัดจากแหล่งล่าสัตว์ไปถึงเมืองแมนจูลิ (Manchouli) ซึ่งเป็นปลายทางของเส้นทางรถไฟสายตะวันออกของจีน (Chinese Eastern Railway) และแล้วมันก็ติดไปกับรถไฟเดินทางไปไกล 1,700 ไมล์ และสังหารผู้คนในชุมชนที่นั่นนับจำนวนไม่ถ้วน
กาฬโรคนั้นสาเหตุเกิดจากแบคทีเรียในตัวหนู และระบาดไปในฝูงของพวกมันโดยหมัดที่กินเลือดมัน จากนั้นก็ระบาดเข้าสู่มนุษย์ได้สองวิธี อย่างแรกคือ เมื่อถูกตัวหมัดหนูกัด จะเกิดอาการบวมอักเสบตรงตำแหน่งนั้น รวมทั้งใต้รักแร้และขาหนีบ จึงเรียกชื่อตามอาการว่า “bubonic plague” ส่วนอย่างที่สองเกิดจากการสูดหายใจเอาเชื้อโรคเข้าไป เรียกว่า “Pneumonic plague” ซึ่งแพร่สะพัดต่อๆไปได้จากลมหายใจ ทั้งนี้ หากป่วยด้วยอาการอย่างแรก อัตราการ ตายจะอยู่ราวๆ 60-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแบบสองจะยิ่งสูงกว่านี้คือ 99% เลยทีเดียว
มนุษย์ต้องเผชิญกับภัยจากกาฬโรคมาช้านานแล้ว โดยการระบาดหนแรกเกิดขึ้นเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ที่อาณาจักรบาบิโลน ซึ่งครั้งนั้น ชาวบ้านขนานชื่อโรคนี้ว่า “นามทาร์ (Namtar)” หมายถึงปีศาจโรค
ถัดมาในปี ค.ศ.54 ได้เกิดการระบาดของกาฬโรคครั้งมโหฬาร โดยแพร่จากอียิปต์ไปตามเส้นทางค้าขายอันเจริญรุ่งเรือง ผ่านไปถึงหลายดินแดน ทั้งในเอเชียไมเนอร์, คอนสแตนติโนเบิล, กรีซ, อิตาลี ตลอดจนแถบลุ่มแม่น้ำไรน์ การระบาดหนนี้ยาวนานถึง 52 ปี ประเมิน ว่า มีผู้เสียชีวิตราวๆ 100 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบกับประชากรทั่วโลกในยุคสมัยนั้น ก็นับเป็นอัตราส่วนการตายที่สูงยิ่ง
กระทั่งเมื่ออาณาจักรโรมันได้เข้ามาครอบครองโลกและล้มล้างเส้นทางการค้าขายของอียิปต์ ข่าวคราวของการตายจากกาฬโรคจึงลดลงอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงราว 8 ศตวรรษ มีปรากฏเป็นหลักฐานหนเดียวอยู่ในบันทึก “Anglo-Saxon Chronicle” ของท่านสาธุคุณเบเด (Bede) ที่เขียนถึงเรื่องการระบาดของโรคจากสัตว์ ที่เกิดขึ้นในอังกฤษและไอร์แลนด์ ระหว่างช่วงปี ค.ศ.664 ซึ่งก็คงจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจาก “กาฬโรค”.
โดย :อุดร จารุรัตน์