หลังปี พ.ศ.2454 พระผงสุพรรณ ขึ้นจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระผงสุพรรณก็เริ่มมีค่านิยมแทนเงิน เริ่มจาก หนึ่งสตางค์
“สมัยโน้นใครไม่มีเงินค่าเรือข้ามฟาก เอาพระผงสุพรรณหนึ่งองค์ให้ก็ได้” มนัส โอภากุล เล่าไว้ใน “พระเครื่องเมืองสุพรรณ (พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2524)”
ต่อมาราคาก็ค่อยเขยิบสูงขึ้นเป็น 5 สตางค์
ตอนที่คุณมนัสเขียนตำราพระผงสุพรรณราคาเป็นแสน มาถึงเวลานี้ราคาขึ้นเป็นล้าน พิมพ์หน้าแก่องค์สวยๆ หลายๆล้าน จะเปลี่ยนมือซื้อขายกันแต่ละทีก็ต้องมีหลักประกันมากมาย
พระผงสุพรรณขึ้นชั้นเป็นพระดูยาก ข้อแรก เป็นพระที่ผ่านพระหัตถ์เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ชาวบ้านสามัญก็ไม่ค่อยมีโอกาสดูพระแท้เป็น “แม่แบบ”
ขณะที่ของปลอมทั้งฝีมือเก่า ฝีมือใหม่ ก็มีออกมาลองตาไล่ตามพระแท้ ทั้งเนื้อหา ทั้งตำหนิพิมพ์
ทดสอบสายตากับผงสุพรรณองค์ในคอลัมน์ วันนี้แม่พิมพ์ “หน้าแก่” ลงตัวทุกเส้นสาย เนื้อพระใช้สึกเล็กน้อย เส้นขอบพระศกสึกเรียบ เหลือหลุมเว้า...ดูผิวเผินเหมือนชำรุด
แต่เมื่อเอาไปเทียบกับองค์ที่พิมพ์ติดชัด ก็จะเห็นว่าไม่ชำรุด เป็นส่วนที่ลาดเอียงลงเป็นหลุมกลายเป็นตัวช่วย...ยืนยันความเป็น “หน้าแก่” แท้ได้จุดหนึ่ง
หลักเซียน...ทั่วไป ดูพิมพ์ว่าใช่ ก็ต้องดูเนื้อว่าใช่ ใช้แว่นส่อง รอยเหี่ยวย่นในพื้นผนัง ที่เกิดจากความหดตัวของมวลสาร นอกจาก “ตำหนิพิมพ์” เส้นเล็กเม็ดน้อย หลายๆจุดถูกต้อง
ในความเรียบ...องค์ที่ติดแม่พิมพ์เต็มๆ จะมีเส้นน้ำตกเหมือนเสี้ยน เดินเป็นเส้นจากร่องคอ พาดผ่านบ่า ทะลุร่องรักแร้ ทั้งซ้ายขวา ทิ้งดิ่งบ้าง คดเคี้ยวเล็กน้อยบ้าง ลงมาถึงส่วนปลายแขนซ้าย (องค์พระ)
องค์ที่เห็นเส้นเหล่านี้ถือเป็นตัวช่วยที่ดี องค์ที่ไม่มีก็ค่อยๆหาตำหนิพิมพ์จุดอื่น
...
ข้อสังเกตของเซียน ตำหนิพิมพ์ถ้ามีมากไป เหมือนตั้งใจให้มีก็ดูเกินจริง มีบางจุดไม่มีบางจุด ตามธรรมชาติของพระพิมพ์ ที่มีตัวแปรมากมาย ดูดีมีความเป็นไปได้มากกว่า
ผ่านเนื้อหา ร่องรอยตามธรรมชาติ...ไปมองส่วนพื้นผนัง...อีกสักครั้ง ผงสุพรรณหน้าแก่องค์นี้ “รารัก” ปกคลุมมาก ทั้งพื้นผนังด้านหน้า และพื้นผนังด้านหลัง
ส่วนที่พ้นความหนาของ “รารัก” ช่วยขับเน้นให้เห็น “เส้นสาย” ชัดขึ้น
เรื่องที่อยากให้เรียนรู้และทำความเข้าใจให้ลึกๆ...ในวันนี้ ก็คือรารัก
รารักของพระกรุเนื้อดิน ไม่ใช่รักที่เกิดจากการลงรักปิดทองแบบพระเนื้อผง...แต่เป็น “คราบกรุที่เกิดตามธรรมชาติ” คุณมนัส โอภา-กุล บอกว่า คราบกรุพระผงสุพรรณมีสี่สี สีดำ สีขาว สีเหลือง และสีเขียว
สีดำ เกิดจากราดำ จับบนผิวเนื้อพระ แต่ไม่ติดสนิทแน่นเป็นแผ่นจมในผิวเนื้อ แต่ติดแบบ “แผ่วๆ” ส่วนใหญ่จะล่อนหลุดออกมา สีรารักจะดำหม่น ไม่ดำสนิทเหมือนขนกาน้ำ
สีขาว เกิดจากเชื้อราสีขาวจับแน่นในผิวเนื้อ เอาออกไม่ได้ง่ายๆ มักเกิดในองค์พระสีดำ
สีเหลือง...หรือราเหลือง มักเจอในเนื้อพระสีเขียว ลักษณะเช่นเดียวกับคราบสีขาว
ไม่ว่าจะเรียก “รา” หรือ “คราบ” ที่จับอยู่บนผิวพระ นี่คือสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ
แต่ถ้าตั้งใจล้างก็จะล้างออกยาก แต่ถ้าตั้งใจจริงใช้น้ำยาช่วย เหมือนที่คุณเชียร ธีรศานต์ ล้างซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึง 11 ครั้ง เมื่อถอดรักออกก็ “เห็นรูปทองผ่องโสภา” ได้ชื่อเจ้าเงาะ พระซุ้มกอองค์ตำนาน
บทสรุป “ราหรือคราบ” พระเนื้อดิน ...ใช้ช้ำมากก็หลุดล่อน แต่ถ้าเจอองค์ไหน ติดซึมลึกมาก สิทธิการิยะ ครูท่านว่า “พระองค์นั้นปลอม” แล.
พลายชุมพล