หมอนทองเป็นทุเรียนพันธุ์นิยม รสชาติอร่อย ด้วยความนิยมทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทำให้มีผู้สนใจปรับพื้นที่ในบ้าน หรือไร่สวนเพื่อปลูกทุเรียนกันมากขึ้น วิธีปลูกทุเรียนแบบง่ายๆ ให้รอด โตเร็ว มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่

10 วิธีปลูกทุเรียน พร้อมข้อห้ามในการปลูก

1. เตรียมต้นทุเรียนสายพันธุ์ที่ต้องการ

พันธุ์ทุเรียนในประเทศไทยมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ เพราะฉะนั้นหากจะซื้อเพื่อปลูกจำหน่าย ควรเลือกสายพันธุ์ที่ทนต่อสภาพอากาศ แข็งแรง และเลือกซื้อจากสวนหรือผู้เพาะที่น่าเชื่อถือ โดยต้นทุเรียนที่แนะนำให้ปลูก ควรเป็นต้นกล้าที่มีขนาดเล็ก รากไม่ขดงอ หากเลือกต้นที่ใหญ่แล้ว ต้องตัดแต่งระบบรากไม่ให้ขดงอ ไม่เช่นนั้นแล้วปลูกไปสักพักรากจะไม่เดิน ต้นทุเรียนอาจจะไม่รอดได้

การเลือกต้นทุเรียนสายพันธุ์ดี ติดต่อจากสวนที่เพาะ บางรุ่นก็ต้องสั่งไว้รอเป็นปี เมื่อได้ต้นกล้าทุเรียนที่ต้องการแล้ว แนะนำว่าให้ปลูกก่อนหน้าฝน ดูสายพันธุ์ทุเรียนไทยยอดนิยม ที่นี่

สรุปวิธีการเลือกต้นทุเรียน

1. อายุไม่เกิน 1 ปี สูงระหว่าง 60-80 เซนติเมตร โดยไม่มีรากแขนงเยอะ ป้องกันระบบรากขด

2. ควรเลือกทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่ใกล้เคียงกับสภาพอากาศ เพราะจะทนต่อโรครากเน่า 

3. เลือกต้นทุเรียนที่มีใบหน้าสีเขียวเข้ม ดูแข็งแรง

2. เตรียมแปลงปลูกทุเรียน

ฤดูที่เหมาะสมจะปลูกทุเรียนมากที่สุดคือปลายเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ผ่านอากาศร้อนมาแล้ว และเตรียมเข้าหน้าฝน ผู้ที่ปลูกเป็นไร่ เป็นแปลง จะต้องเว้นระยะห่างของต้นทุเรียน เผื่อเก็บเกี่ยวในอนาคต

...

แปลงทุเรียน มีระยะเว้นปลูกแต่ละต้น 8 x 8 เมตร หรือ 9 x 9 เมตร แนวในการปลูก ควรปลูกขวางความลาดเทของพื้นที่ และคำนึงถึงการจัดการระบบวางท่อน้ำในสวน

ไถพรวน ปรับพื้นที่เพื่อจัดการระบบน้ำ จัดการสวน ขุดร่องน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ดินเหนียว ดินเสีย ต้องปรับปรุงดินเสียก่อน ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังมานาน ควรยกร่องสวนให้มีขนาดสันร่องไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร มีระบบระบายน้ำเข้าออกที่ดี ป้องกันน้ำท่วม

การเว้นพื้นที่ปลูกทุเรียน ต้นละ  8 x 8 เมตร หรือ 9 x 9 เมตร ขึ้นอยู่กับการจัดการของสวนด้วย บางแห่งต้องการใช้รถกระบะเข้าเก็บผลผลิต ก็ต้องเว้นระยะแต่ละต้นให้รถยนต์ผ่านเข้าไปจอดได้ แต่หากสวนมีพื้นที่ไม่พอ ก็เว้นระยะตามความเหมาะสม จัดแนวให้เป็นระเบียบ เผื่อพื้นที่กั้นสแลนพรางแสงแดด

สรุปวิธีการทำแปลงปลูกทุเรียน

1. เว้นพื้นที่ปลูกทุเรียน ต้นละ 8 x 8 เมตร หรือ 9 x 9 เมตร ให้สะดวกต่อการรดน้ำ หรือให้รถยนต์ผ่าน เมื่อต้องเก็บผลผลิต

2. ปลูกตามแนวลาดเท

3. ตรวจสอบสภาพพื้นที่ดินเก่า ป้องกันน้ำขัง

3. เตรียมดินปลูกทุเรียน

เมื่อเตรียมพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ขุดหลุมเตรียมดิน คำนึงถึงความชื้น ป้องกันน้ำขังรากเน่า ชาวสวนมีวิธีปลูกทุเรียนดังนี้

3.1) ขุดหลุมปลูกต้นกล้าทุเรียน 50 x 50 x 50 เซนติเมตร

3.2) ผสมปุ๋ยคอกเก่า 5 กิโลกรัม และปุ๋ยหินฟอสเฟต ครึ่งกิโลกรัม คลุกกับดินที่ขุดขึ้นมา แล้วกลบกลับคืนในหลุมสูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม

3.3) เมื่อนำต้นทุเรียนลง กลบดินเฉพาะส่วนในหลุม ไม่กลบเกินสูงรอยเสียบยอด 

4. พรางแสงป้องกันต้นทุเรียนตาย

การพรางแสงให้ต้นกล้าทุเรียน ลดอาการใบไหม้ ลดการสูญเสียความชื้นให้กับต้นทุเรียน

1. ใช้ตาข่ายพรางแสง หรือใช้ทางมะพร้าวปักกระโจมคร่อมต้นทุเรียน

2. ปลูกกล้วย หรือไม้ล้มลุกที่ปิดรอบพื้นที่ว่าง เพื่อช่วยลดการคายน้ำของต้นทุเรียน

5. ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น

ทุเรียนชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส มีความชื้นสัมพันธ์ในอากาศ 75-85% หากปลูกในพื้นที่อากาศแล้ง หรือร้อนจัด จะทำให้ใบร่วง เติบโตช้า ผลผลิตน้อย เพราะฉะนั้นควรปรับปรุงพื้นที่และสภาพแวดล้อมก่อนปลูก

6. การตัดแต่งพุ่ม

วิธีปลูกทุเรียนให้รอด โตเร็ว คือต้องช่วยตัดแต่งยอดให้ต้นโปร่ง่ แข็งแรง กำหนดกิ่งประธานก่อนตัดกิ่งอื่นออก ระยะกิ่งควรห่างกัน 12-15 กิ่ง การช่วยตัดกิ่งจะช่วยให้ต้นทุเรียนโตเร็ว ออกดอกในบริเวณที่เก็บผลผลิตง่าย ใบและกิ่งทุเรียนที่ตัดแล้วนำไปสับเพื่อทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย

7. กำจัดวัชพืช

ต้นหญ้าวัชพืชที่มักเป็นปัญหากวนใจต้นทุเรียน คือ หญ้าขจรจบ หญ้าตีนนก หญ้าแห้วหมู วิธีการกำจัดด้วยสารเคมีฉีดพ่น ใช้ไกลโฟเสท 48% SL อัตรา 500-600 ml. หรือ กลูโฟซิเนต-แอมโมเนีย 48% SL อัตรา 1,000-2,000 ml. ผสมน้ำ 60-80 ลิตรต่อไร่ ฉีดพ่น 1-2 ครั้งหลังวัชพืชงอก และช่วยกำจัดใบวัชพืชที่โตเร็วด้วยการใช้เครื่องตัดหญ้าตัดทุก 1-2 เดือน

เมื่อกำจัดวัชพืชแล้วควรใส่ปุ๋ยพร้อมกับทำโคนรอบโคนต้น ด้วยการขุดพรวนใส่ปุ๋ยให้เป็นเนินหลังเต่า เพื่อป้องกันการระเหยของปุ๋ย ช่วยให้ต้นทุเรียนมีสารอาหารไว้นานๆ

8. รู้จักการเติบโตของต้นทุเรียน

ต้นทุเรียนที่สมบูรณ์ มีวิธีสังเกตสุขภาพของต้นทุเรียนจากใบ เมื่อใบแทงยอดอ่อนมาแล้วจะมีสีเขียวอ่อน และมีลักษณะดังนี้

วิธีสังเกตใบของทุเรียน

...

ภาพจาก “การปลูกทุเรียน” กรมวิชาการเกษตร
ภาพจาก “การปลูกทุเรียน” กรมวิชาการเกษตร

แตกใบอ่อน > หางปลาใบคลี่ > ใบเพสลาดอ่อน > ใบเพสลาด > ใบแก่

ภาพจาก “การปลูกทุเรียน” กรมวิชาการเกษตร
ภาพจาก “การปลูกทุเรียน” กรมวิชาการเกษตร

...

ต้นทุเรียนจะแตกใบอ่อนในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนของทุกปี และมีการเจริญของลำต้นช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ เพราะฉะนั้นหากจะปลูกทุเรียนต้องรู้กลไกการเจริญเติบโตของต้นทุเรียนเพื่อจะได้รู้วิธีใส่ปุ๋ยบำรุงต้นทุเรียนได้ถูกเวลา

9. สังเกตดอกทุเรียนให้เป็น และช่วยผสมเกสร

การปลูกทุเรียนครั้งแรก มีวิธีสังเกตดอกจากลักษณะดังต่อไปนี้

...

ไข่ปลา > ตาปู > เหยียดตีนหนู > มะเขือพวง > หัวกำไล > ดอกขาว

เมื่อก่อนออกดอกแล้วก็สามารถปล่อยให้ติดลูกเองตามธรรมชาติ หรือช่วยผสมเกสร เพื่อให้ติดลูกทันฤดูกาลออกดอกในช่วงดอกบาน ช่วยใช้พู่กันผสมเกสรปัดดอกได้ในช่วงเวลา 19.00-21.00 น. 

10. สังเกตผลทุเรียน เพื่อนับวันตัด

เมื่อเห็นผลทุเรียนติดแล้วก็อย่าเพิ่งดีใจ ลูกทุเรียน 1 ผล ใช้เวลาเติบโต 120 วัน ระหว่างนั้นหากเกิดลมพัดแรง หรือสัตว์รบกวน ก็อาจหลุดจากต้นได้ วิธีสังเกตว่าผลทุเรียนเก็บเกี่ยวได้หรือยัง ดูจากขนาดและพู หรือนับจากระยะเวลาดอกบาน

ภาพจาก “การปลูกทุเรียน” กรมวิชาการเกษตร
ภาพจาก “การปลูกทุเรียน” กรมวิชาการเกษตร

ดอกบาน > หางแย้ > ไข่ไก่ > กระป๋องนม > ผล 90 วัน > ผล 190 วัน

ข้อห้ามในการปลูกทุเรียน

  • การปลูกทุเรียน ก็เหมือนกับการปลูกพืชผลอื่นๆ ต้องอาศัยการดูแล ถ้าไม่สามารถดูแลจัดการใส่ปุ๋ย ตัดกิ่งได้ตามช่วงระยะเวลาต่างๆ ก็ไม่ควรลงทุน
  • อย่าปล่อยต้นที่เป็นโรคทิ้งไว้ ถ้าพบต้องจัดการทันที
  • อย่าปล่อยให้แตกกิ่งเอง เพราะถ้าทรงต้นไม่โปร่ง จะบดบังแสงแดด มีผลต่อการเติบโตและติดดอก
  • ระยะดอกบาน ห้ามพ่นสารเคมี หรือชีวภัณฑ์ทุกชนิด
  • ควรงดน้ำก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 3-4 วัน
  • ก่อนเก็บเกี่ยว 3-4 วัน ควรวัดเปอร์เซ็นต์ความแก่ของทุเรียนไม่ควรน้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์
  • ขณะเก็บเกี่ยวห้ามวางทุเรียนบนพื้นดิน

วิธีปลูกทุเรียนในบ้านจัดสรร

บางคนอยากมีทุเรียนไว้ในพื้นที่บ้านของตัวเอง อย่างแรกคือต้องมีพื้นที่สำหรับปลูก ทุเรียน โดยไม่ควรปลูกในกระถาง เพราะเป็นการจำกัดระบบราก อย่างที่สองคือมีแสงแดดและน้ำที่เพียงพอ โดยเทคนิคการปลูกไม่แตกต่างจากวิธีปลูกทุเรียนในสวนอย่างที่กล่าวมา แต่ต้องหมั่นดูแล เช็กความสมบูรณ์ของดิน และกำจัดวัชพืช เมื่อออกดอกแล้วก็ช่วยผสมเกสรเพื่อเร่งให้มีผลผลิตติดเร็วๆ ได้.


ที่มาส่วนหนึ่งจาก กรมวิชาการเกษตร