ต้นพญาสัตบรรณ หรือต้นตีนเป็ดไทย มีความเชื่อคู่กับการปลูกว่าเป็นไม้ของนักปราชญ์ ในอดีตนิยมปลูกในสถานที่ราชการ อาคาร หรือวัดวาอาราม โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่นำต้นตีนเป็ดมาปลูกบริเวณริมถนนรวมกว่า 2,000 ต้น ความนิยมไม้ชนิดนี้ในอดีต ส่งผลมาถึงคนยุคปัจจุบันที่อาจจะไม่ชอบกลิ่นที่มาช่วงฤดูหนาว
ประวัติต้นพญาสัตบรรณ
ต้นพญาสัตบรรณมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ตีนเป็ดเขียว, ตีนเป็ดไทย, สักตะบัน และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาด 12 - 20 เมตร ในกรุงเทพมหานครถือเป็นต้นไม้ประจำเขตพญาไท ถ้าใครได้เดินบริเวณทางเชื่อมสะพานลอยไปขึ้นรถไฟฟ้า ก็จะสัมผัสดอกสัตบรรณได้อย่างใกล้ชิด
ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานต้นตีนเป็ดให้แก่ผู้ว่าจังหวัดสมุทรสาครในขณะนั้น เนื่องในวันรณรงค์โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวสมุทรสาคร หลังจากนั้นผู้ว่าฯ ได้ลงปลูกต้นตีนเป็ด ณ สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาครในวันที่ 9 มิถุนายน 2537 ต้นตีนเป็ดจึงกลายเป็นต้นไม้มงคลประจำจังหวัดสมุทรสาครนับตั้งแต่นั้นมา
...
ดอกพญาสัตบรรณ
กลิ่นของดอกพญาสัตบรรณเกิดจากสารหอมระเหยในกลุ่มลินาโลออล (linalool) ซึ่งบางคนมีอาการแพ้ เป็นสารที่กระตุ้นให้ระบบประสาทสร้างความรู้สึกอยากอาเจียน หากได้รับอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเกิดอาการแพ้น้ำตาไหล น้ำมูกไหล
ในกรุงเทพมหานครมีต้นพญาสัตบรรณเรียงรายอยู่มาก บางพื้นที่มีกลิ่นดอกพญาสัตบรรณสร้างความรบกวนแก่ผู้ที่อยู่ใกล้เคียง ดอกพญาสัตบรรณ มีลักษณะเป็นช่อ กลุ่มดอกประมาณ 7 กลุ่ม ดอกมีสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม เมื่อออกผลจะติดฝัก เป็นฝักคู่ หรือฝักเดี่ยว ลักษณะเป็นเส้นยาวประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่ก็นำไปขยายพันธุ์เพาะเมล็ดได้
วิธีกำจัดกลิ่นดอกพญาสัตบรรณ
1. หากไม่ต้องการปลูกไว้ในบ้าน ติดต่อเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จังหวัดให้มาถอนไปปลูกที่อื่น
2. หากยังพอทนกลิ่นได้ ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดในช่วงที่ออกดอก และกวาดเก็บดอกที่ร่วงโรยไปกำจัด
3. หากมีอาการวิงเวียน เป็นลม ชงยาหอม ดมยาดม ช่วยได้
ราคาพญาสัตบรรณ
ต้นกล้าตีนเป็ด จำหน่ายในร้านค้าออนไลน์อยู่ที่ต้นละ 80 - 150 บาท
ความเชื่อการปลูกพญาสัตบรรณ
ในอดีตมีความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกต้นตีนเป็ดไทย หรือต้นพญาสัตบรรณ ว่าเป็นไม้มงคล ที่ปลูกไว้ในบ้านแล้วจะส่งเสริมเกียรติยศชื่อเสียงของผู้เป็นใหญ่ในบ้าน นิยมปลูกในวันเสาร์ ทางทิศเหนือของบ้าน และผู้เป็นประธานปลูกควรเป็นผู้เป็นใหญ่ที่เคารพนับถือของคนในบ้าน
แม้ว่าพญาสัตบรรณจะมีประโยชน์ในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในเขตกรุงเทพมหานครได้อย่างมาก แต่ก็มีผู้แพ้กลิ่นหลายคนที่เกิดอาการแพ้ทุกช่วงฤดูหนาว ในอนาคตทางกรุงเทพมหานครก็คงหาต้นไม้ชนิดอื่นมาปลูกแทน
ที่มา : archive.md/cmutL, samutsakhon.go.th