หมอได้เรียนให้ทราบถึงเรื่องจุลินทรีย์ในลำไส้มาหลายบทหลายตอนแล้ว ก็จะขอสรุปความสำคัญความเป็นมาและปัจจุบันรวมถึงอนาคต ที่จะมีการนำไปใช้ต่อให้ได้ความรู้เบื้องต้น ความเป็นไปของโรคและเราจะสามารถขัดขวางไม่ให้โรครุนแรงขึ้นได้อย่างไร

เรื่องของลำไส้ในทางการแพทย์และเกี่ยวกับสมอง ความจริงเป็นเรื่องที่หมออย่างพวกเราโดยเฉพาะหมอสมอง รับทราบกันมาตลอด

หลักฐานเนิ่นนานมีมาตั้งแต่ปี 1817 ที่ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษชื่อเจมส์ พาร์กินสัน ซึ่งต่อมาก็เป็นที่มาของชื่อโรค ได้รายงานว่า ผู้ป่วยหลายรายที่มาด้วยอาการสั่นที่ในขณะนั้นตั้งชื่อว่า “shaking palsy” มีท้องผูกนำมาก่อน และผู้ป่วยหนึ่งในหกราย ที่ได้ทำการบรรเทาเยียวยาอาการทางลำไส้ ปรากฏว่า ความแปรปรวนของการเคลื่อนไหวและการสั่นกลับดีขึ้น ทั้งๆที่ในสมัยนั้นไม่ได้มียาอย่างในปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ด้วยซ้ำ

เรื่อยมาจนกระทั่งถึงโรคคูรู (Kuru) ที่มีการจับตาตั้งแต่ปี 1910 และมีการศึกษาหาสาเหตุและวิธีการแพร่ระบาดในทศวรรษ 1950

คูรู แปลว่า สั่น ในชนเผ่าโฟร์ ปาปัวนิวกินี ที่มีการคารวะผู้เสียชีวิตด้วยการเอาอวัยวะและสมองมาบริโภค และคนบริโภคก็เกิดโรคทางสมอง ที่มีอาการสั่นโยก เดินโซเซ และมีอารมณ์ผิดปกติ เช่น หัวเราะไม่มีสาเหตุและหัวเราะไม่หยุด (laughing sickness) และเกิดจากความผิดปกติของการควบคุมอารมณ์จากกลุ่มเซลล์ประสาทสมอง (pseudobulbar palsy) และมีการค้นพบในเวลาต่อมาว่า เกี่ยวพันกับการกินอวัยวะโดยเฉพาะสมองตกมาที่ลำไส้

...

และพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่า เป็นโปรตีนผิดปกติที่ปฏิบัติตัวเหมือนเชื้อโรคและติดต่อได้ จนได้ชื่อว่า พรีออน (prion) และเป็นต้นกำเนิดของโรคความเสื่อมของสมอง ที่เกิดจากโปรตีนที่บิดพับตัวผิดปกติ (misfolded protein) จนเกิดพิษในสมองและสมองตายตลอดมาตั้งแต่คูรู CJD พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ จนสมองเสื่อมชื่อต่างๆและโรคไขสันหลังฝ่อเหี่ยว

บทพิสูจน์ในเรื่องนี้ จากที่มาของการกิน และลำไส้ เกิดขึ้นซ้ำในประเทศอังกฤษคือ โรควัวบ้า ซึ่งเกิดจากการเอาซากกระดูกเครื่องในป่นจากแกะ มาเป็นอาหารให้วัว โดยที่แกะเหล่านี้มีโรคอยู่แล้วชื่อ scrapie ที่ทราบกันมา อย่างน้อยตั้งแต่ปี 1732 แต่ก็ไม่ก่อโรคในสัตว์อื่นและคน โดยแกะมีอาการคันคะเยอ แล้วต้องเอาตัวไปถูกับรั้วกับกิ่งไม้ ต้นไม้ จนถลอกปอกเปิก มีเคี้ยวปากขมุบขมิบ จนต่อมามีเดินโซเซและตาย เมื่อมีการประหยัดพลังงานโดยการเผาซากแกะเหล่านี้โดยลดอุณหภูมิความร้อนลง ทำให้โปรตีนที่แพร่โรคเหล่านี้เก่งขึ้นและทำให้สามารถข้ามสายพันธุ์จากแกะไปยังวัว เกิดโรควัวบ้า (mad cow disease) และคนกินวัวก็เกิดโรคคล้ายวัวบ้า

ซึ่งเป็น CJD แบบใหม่ เพราะมีอาการพิเศษและรอยโรคในสมองรวมทั้งลักษณะของโปรตีนไม่เหมือนกับ CJD เดิม และเรียกเป็น variant CJD โดยที่โปรตีนเหล่านี้ที่กินเข้าไปจะเข้าไปเกาะที่เนื้อเยื่อที่ลำไส้เล็กส่วนปลาย ที่เป็นที่ชุมนุมของเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน (peyer’s patch) และสามารถส่งต่อโปรตีนเหล่านี้เข้าไปทางเส้นประสาท เชื่อมโยงลำไส้ไปยังสมอง (neuroimmuneconnection)

ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ของเราสามารถวินิจฉัยโรค CJD รวมทั้งโรค v CJD ได้ โดยการตรวจน้ำไขสันหลังด้วยวิธีที่เรียกว่า RT-QuIC ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 โรคทางสมองที่สำคัญอีกโรคหนึ่งคือ พาร์กินสัน ความเชื่อมโยงของลำไส้เส้นประสาทที่ต่อจากลำไส้เข้ามาในสมองเป็นที่รับทราบกันในชื่อของ Braak staging ตั้งแต่ปี 2003 โดยจัดเรียงระยะของการเกิดและการดำเนินโรคตั้งแต่ ระยะที่หนึ่ง คือเส้นประสาทสมองเบอร์ 10 ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายเส้นประสาทของลำไส้และมาบรรจบที่ ระยะที่สอง ที่ก้านสมองส่วนปลาย medulla ระยะที่สาม เคลื่อนเข้าสู่ก้านสมองส่วนกลาง ระยะที่สี่ ไปยังก้านสมองส่วนต้นและบริเวณสมองส่วนหน้าและใจกลางสมอง (basal mid-and forebrain, hypothalamus, thalamus)

ระยะที่ห้า เริ่มเคลื่อนไปสู่สมองที่ซับซ้อนส่วนบน (Mesocortex, allocortex) และระยะสุดท้ายไปยังสมองที่เจริญที่สุดของมนุษย์ (Neocortex)

...

การจัดแบ่งระยะตามสมมติฐานนี้ได้รับการพิสูจน์จากการพบโปรตีนที่ก่อโรคพาร์กินสันที่ผนังของลำไส้ ไปตามเส้นประสาทเบอร์ 10 จนถึงสมอง และในปี 2009 พบว่า สมองตามระยะต่างๆเหล่านี้มีปริมาตรลดลงอย่างชัดเจน และมีการประชุมจัดโดยสถาบัน New York Academy of Science ในปี 2017 โดยกลุ่มเซลล์ที่อยู่ที่ผนังลำไส้ที่ผลิตโปรตีนบิดเกลียวที่ผิดปกติ เรียกว่า entero endocrine cell (EEC) ทั้งนี้ โดยสรุปหน้าที่ของเซลล์ผนังลำไส้ EEC ว่ายังทำหน้าที่ในการผลิตตัวต้นของสารสื่อประสาทซีโรโทนิน คือ 5-HT

และเชื่อมโยงกับเซลล์ภูมิคุ้มกัน B cell ในการผลิตสารต่างๆในระบบการอักเสบ และตัวจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียในลำไส้ก็จะผลิตสารที่เป็นประโยชน์กับสุขภาพและสารสื่อประสาทและฮอร์โมนต่างๆ ส่งตรงไปยังสมองและเข้ากระแสเลือด สัญญาณต่างๆเหล่านี้ถูกวิเคราะห์และนำมาปรับสมดุลของร่างกายในขณะเดียวกันมีวงจรย้อนกลับมาถึงลำไส้เพื่อให้เป็นการครบวงจร.

หมอดื้อ