โรคภัยไข้เจ็บทุกวันนี้ มีมากมาย ทั้งโรคดั้งเดิม และโรคที่เกิดขึ้นใหม่ๆ รวมถึงโรคที่เกิดจากการทำงานของคนวัยทำงานอย่างเราๆ คอลัมน์ ศุกร์สุขภาพ สัปดาห์นี้จึงมีเรื่องราวน่ารู้ของ “โรคยอดฮิตที่คนออฟฟิศต้องระวัง” ไม่ให้เกิดขึ้นกับตนเองมาฝากกัน ดังนี้

โรคออฟฟิศ ซินโดรม (Office Syndrome)

เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทำงาน โดยมากมักจะเข้าใจว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อตึงตัวบริเวณคอ บ่า ไหล่ แต่จริงๆ แล้ว สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หัวจรดเท้าเลย

สาเหตุหลักๆ ของออฟฟิศ ซินโดรม ก็เกิดจากการมีท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม อาทิ หากเก้าอี้อยู่ห่างกับโต๊ะทำงานมากเกิน ทำให้ตอนนั่งทำงานต้องก้มหลังหรือนั่งไม่ติดพนักเก้าอี้ จะส่งผลให้ปวดหลังและปวดขา หรือหากระดับความสูงของโต๊ะทำงานและเก้าอี้ไม่สมดุลกัน โต๊ะทำงานสูงเกิน ทำให้ตอนนั่งทำงานต้องยกไหล่ขึ้น จะทำให้ปวดคอ บ่า ไหล่ ตามมาได้

หน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่สมดุลกับระดับสายตา ทำให้ต้องก้ม หรือเงยคอมากกว่าปกติ ส่งผลให้ปวดกล้ามเนื้อคอ หรือกระดูกคอเสื่อมก่อนวัยอันควร

การนั่งทำงานเป็นเวลานาน โดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ ก็ส่งผลให้มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ และหลังได้

การรักษาและการป้องกัน

ควรปรับท่าทางในการนั่งทำงานให้ถูกตามหลักการยศาสตร์ (ergonomic posture) อาทิ นั่งหลังตรงชิดพนักเก้าอี้ ตัวสะโพกกับข้อเข่างอประมาณ 90 องศา ฝ่าเท้าแตะแนบพื้นพอดี ระดับความสูงของโต๊ะกับเก้าอี้ทำงานต้องสมดุลกัน ความสูงของจอคอมพิวเตอร์ต้องอยู่ในระดับสายตา เพื่อป้องกันการแหงนและก้มคอที่มากเกินไป

...

● ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ควรลุกจากโต๊ะทำงาน เพื่อให้ร่างกายได้เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ได้อยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน
● หมั่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ หลัง
● เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4 วันต่อสัปดาห์ หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์

หากปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นแล้วยังมีอาการปวดอีก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา หรือวินิจฉัยเพิ่มเติม เพราะอาจมีโรคอื่นซ่อนอยู่นอกจากออฟฟิศ ซินโดรม ก็เป็นได้

โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome)

เป็นอีกโรคที่พบบ่อยในคนทำงาน โดยเฉพาะคนทำงานในออฟฟิศที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการที่มีการเคลื่อนไหวข้อมือในท่ากระดกขึ้นหรือลงซ้ำๆ นานๆ จะส่งผลให้ไปกดทับเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้มีอาการชา หรืออาจมีอาการปวดบริเวณฝ่ามือ และอาจมีอาการปวดตอนกลางคืน ในบางรายที่มีอาการมากอาจทำให้กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง หยิบจับอะไรได้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน

การรักษาและการป้องกัน

1. พักการใช้งานข้อมือซ้ำๆ หรือนานๆ เพื่อลดการกดและเสียดสีของเส้นประสาทบริเวณข้อมือด้านหน้า
2. ประคบเย็น/อุ่นร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เช่น การยิงเลเซอร์ เพื่อลดอาการอักเสบและอาการปวด
3. การใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงข้อมือ

โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม

เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อคอที่ไม่ถูกต้อง หรือก้มบ่อยๆ เช่น ใช่คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ นั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการนั่งก้มหน้าอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือวันละหลายๆ ชั่วโมง ทำให้กระดูกคอเสื่อมก่อนวัยอันควร
อาการเบื้องต้นของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมคือ คอแข็ง ทำให้ขยับหรือเคลื่อนไหวคอได้ไม่สะดวกเหมือนปกติ ร่วมกับมีอาการปวดคอร้าวลงไปถึงไหล่หรือแขนได้ ในบางรายอาจมีอาการชาที่แขน ขา มือ หรือเท้าบ่อยขึ้นจน รู้สึกอ่อนแรง เป็นต้น

การรักษาและการป้องกัน

การรักษาหลักคือการปรับพฤติกรรม โดยการหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ปรับระดับจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ระดับสายตา นั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับร่างกาย นอกจากนี้ คนที่มีอาการปวดมาก แพทย์ก็จะให้ยาแก้ปวดรับประทานร่วมด้วย รวมถึงอาจมีการทำกายภาพบำบัด การประคบร้อน ซึ่งจะช่วยให้อาการปวดดีนี้

หากอาการปวดยังไม่ดีขึ้น จะมีการรักษาโดยการใช้คลื่นความร้อน หรือคลื่นความถี่สูง เพื่อช่วยให้อาการปวดดีขึ้น

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า “โรคยอดฮิตของคนทำงาน” นั้น สาเหตุหลักล้วนมาจากพฤติกรรมของตัวเอาทั้งนั้น หากสามารถปรับพฤติกรรมต่างๆ ตามคำแนะนำที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะลดโอกาสในการเกิดโรคดังกล่าว หรือช่วยให้อวัยวะต่างๆ ไม่เสื่อมก่อนวัยอันควร

@@@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล
ผศ. ดร. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล