หมอเองความจริงตกข่าวชิ้นนี้มาตั้งนานแล้ว โดยที่บทความตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลก Science ตั้งแต่ปี 2012
เผอิญเพื่อนส่งมานัยว่า โดนที่บ้านต่อว่า ว่ากินเหล้าเยอะ เลยไปหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ มาชี้แจง เลยโดนลงโทษหนักเข้าไปใหญ่ ว่าไปอกหักที่ไหนมา เพราะแต่งงานกันมาหลาย 10 ปีแล้ว
ถ้าอย่างนั้นมาเข้าเรื่องกันเลยแล้วกันนะครับ ในเรื่องของการติดเหล้า ในทางวิทยาศาสตร์สมอง เป็นเรื่องค้นคว้า วิจัย ศึกษากันมานาน ทั้งนี้ มีหลักฐานและคำอธิบายหลากหลายในเรื่องของเหล้า ซึ่งจะเป็นสิ่งทดแทนเหมือนกับให้ความสุขเป็นรางวัล หรือแม้แต่ทำให้รู้สึกสดชื่น รื่นเริง เบิกบาน ช่วยให้เข้าสังคมได้ง่ายขึ้น และอีกบทบาทหนึ่งเป็นเครื่องช่วยระบายความทุกข์ ระทม ขมขื่น
คล้ายกับสโลแกนที่ว่า เครียดแล้วกินเหล้า กินต่อไปก็ยิ่งเครียด
ในบทความนี้เองมาจากคณะทำงานที่มหาวิทยาลัย University of San Francisco แคลิฟอร์เนียสหรัฐฯ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ โดยได้พยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว ที่จะทำให้เกิดความซ้ำซาก ตอกย้ำในพฤติกรรม และอาจนำไปสู่การติดเหล้า โดยการศึกษาสารสื่อประสาทและใช้แมลงหวี่ Drosophila melano gaster ซึ่งเป็นแมลงมาตรฐานที่เราใช้ในการศึกษาทางด้านระบบสมองและประสาท และพฤติกรรม
...
ในการศึกษานี้พบว่า สารสื่อประสาทที่ชื่อว่า Neuropeptide F (NPF) ซึ่งเทียบเท่ากับในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคือ NPY โดยได้ผลสรุปว่า แมลงหวี่ตัวผู้ที่ขาดเซ็กซ์จะมีสาร NPF ลดลง และทำให้เลือกกินเหล้าแทนกินอาหาร และเมื่อทำการ ทดลองต่อไปในการกระตุ้นหรือยับยั้งระบบ NPF นี้ พบว่า ส่งผลในการกระตุ้นหรือยับยั้งความอยากกินเหล้า โดยการกระตุ้นโดยตรงที่กลุ่มเซลล์ประสาท NPF จะออกผลในแนวก่อให้เกิดความพึงพอใจเสมือนได้รางวัล และไม่จำเป็นต้องหาเหล้าเป็นที่พึ่ง ที่จะเป็นสิ่งทดแทน ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า แกนระบบประสาท NPF นี้อย่างน้อยที่สุดจะสามารถอธิบายระบบพึงพอใจและการตอบสนองเมื่อได้รับรางวัลของแมลงหวี่ ...น่าจะได้ทำการศึกษาว่าจะอธิบายกลไกในมนุษย์ และพฤติกรรมได้หรือไม่ อย่างไร
ในการวิจัยนี้ ได้จัดกระบวนทัศน์ การเกี้ยวพาราสี การจีบระหว่างแมลงหวี่ตัวผู้กับตัวเมีย โดยตัวผู้ แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่า กลุ่มอกหัก โดยให้เข้าไปอยู่กับตัวเมียซึ่งได้มีการ “นุ้งนิ้ง” (ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร) กับตัวผู้อื่นไปเรียบร้อยแล้ว โดยจะให้ตัวผู้เข้าไปอยู่กับตัวเมียที่เรียบร้อยไปแล้ว และไม่ยอมเล่นด้วย อยู่ด้วยกันวันละสามครั้ง (session) ครั้งละ 1 ชั่วโมง เป็นเวลาสี่วัน...ผลของตัวผู้อกหักปรากฏว่าจะเซ็ง ไม่อยากจีบเกี้ยวพาราสีไปเลย แม้ว่าจะให้ไปอยู่ร่วมกับตัวเมียซึ่งยังบริสุทธิ์ผุดผ่องและพร้อมจะให้จีบด้วยซ้ำ
ในกลุ่มที่สอง ให้ตัวผู้เข้าไปอยู่กับตัวเมียที่ยังบริสุทธิ์และสมยอม โดยอัตราส่วนคือ ตัวผู้หนึ่งตัว ต่อ ตัวเมีย 5 (1 : 5) และให้อยู่ด้วยกันหก session...
จากนั้นนำกลุ่มตัวผู้อกหัก และกลุ่มตัวผู้มีความสุขแล้วมาเลี้ยงดู โดยให้สามารถเลือกอาหารได้เอง ได้แก่ แบบที่หนึ่ง คือ อาหารที่ไม่มีเหล้าอยู่เลย และแบบที่สองก็คือ อาหารที่มีเหล้าอยู่ด้วย 15%
กลุ่มตัวผู้อกหักแล้วก็จัดการทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผลคือไม่ยอมแตะต้องอาหารธรรมดา แต่มุ่งจะกินเหล้าอย่างเดียว และในทางกลับกัน กลุ่มตัวผู้ที่มีความสุขไปแล้ว กินแต่อาหารธรรมดาไม่สนใจไยดีต่อเหล้า แม้แต่น้อย
การศึกษาในลักษณะนี้ยังเจาะลึกไปจนถึงว่า โดยปกติแล้วตัวผู้ที่ยังเวอร์จิ้นบริสุทธิ์อยู่อาจจะมีความนิยมชมชื่นเหล้าอยู่บ้าง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้มากมายมหาศาลเมื่อเทียบกับเมื่ออกหักไปแล้ว... นอกจากนั้น เป็นไปได้หรือไม่ ที่ภาวะหรือสถานการณ์ที่ถูกหักอกอาจส่งผลเกี่ยวพันไปด้วย ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าถูกขับไล่ไสส่ง ไม่ไยดีจากตัวเมีย ทั้งนี้ โดยไม่ได้อยู่รวมกลุ่มหรือไม่ได้ถูกรับรู้จากตัวอื่น อาการทุกข์ ระทมจะไม่รุนแรงเท่ากับเมื่อมีตัวเมียอื่นรวมกลุ่มอยู่ด้วย (social experience of rejection)
ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการหรือสังคมของมนุษย์ได้อีกโสตหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม คณะ ผู้วิจัยกลับพบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากทางสังคมในการรับรู้ การขับไล่ไสส่งจากฝ่ายหญิงอาจจะไม่ได้มีอิทธิพลมากนัก โดยมีการตัดหัวของแมลง หวี่ตัวเมีย และสรุปว่า การขาดเซ็กซ์ไม่สมหวังเพียงประการเดียว ไม่ต้องถูกเยาะเย้ยอับอาย ก็ส่งผลให้มีความอยากเหล้าได้แล้ว
...
ผลของการศึกษาอีกประการพบว่า ในกลุ่มตัวผู้ที่อกหักและไปหาทางออกด้วยเหล้าไปแล้วเป็นการทดแทน เมื่อมีการนำเข้าไปพบกับตัวเมียที่ยังบริสุทธิ์และยินยอม ปรากฏว่า ความอยากเหล้ากลับลดลงอย่างมาก แสดงว่าความสมประสงค์ในด้านเซ็กซ์ของสัตว์ทดลองแมลงหวี่นั้นเป็นตัวผลักดันอย่างมากต่อการหันมาเลือกเหล้าหรือไม่...แต่ทั้งนี้ ไม่รวมในกลุ่มที่ไม่สมหวังไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมีการเชื้อเชิญให้พบกับตัวเมียที่บริสุทธิ์สมยอม โดยยังไม่ได้หันไปพึ่งเหล้า ก็ยังมีความเพิกเฉยเฉยชาไปเลย
และเพื่อยืนยันว่า NPF จะเป็นตัวการที่จะอธิบายภาวะหรือสถานการณ์นี้หรือไม่ เลยทำการศึกษา NPF tran script หรือ mRNA ในหัวของแมลงหวี่ตัวผู้ทั้งสองกลุ่ม ซึ่งปรากฏว่า กลุ่มที่อกหักนั้น จะมีระดับต่ำมากและต่ำกว่าตัวผู้ที่ยังบริสุทธิ์อยู่เลย... สำหรับตัวผู้ที่สมประสงค์ไปแล้วนั้น มีระดับสูงที่สุดและยังยืนยันโดยย้อมหาสารโปรตีน NPF ในเนื้อเยื่อสมองซึ่งก็ได้ผลเช่นกัน
การศึกษาลึกลงไปอีกเพื่อที่จะสามารถปรับแต่งระบบ NPF นี้ โดยการใช้ NPFR-Specific shot interfering RNA ได้ผลตรงกัน และยังมีการพิสูจน์ในระบบกลไกต่างๆซึ่งยืนยันผลเช่นกัน
...
ระบบ NPF ได้มีการแสดงว่ามีอิทธิพลต่อความอยากน้ำตาลเหมือนกับได้รางวัล แต่ทั้งนี้ แมลงหวี่ชุดนี้ให้ผลในระนาบเดียวของความสุขสมทางเซ็กซ์หรือขาดเซ็กซ์ โดยอย่างหลังจะเหนี่ยวนำทำให้พึ่งเหล้า จนกระทั่งถึงกับกินในระดับที่เป็นอันตราย แสดงว่าเซลล์ประสาทในระบบ NPF น่าจะมีอยู่หลายชุดโดยแต่ละชุดนั้นจะทำหน้าที่ตอบสนองหรือส่งอิทธิพลต่อความอยาก ความสมหวัง ความผิดหวังในสิ่งต่างๆกันในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นเป็นระบบ NPY ซึ่งเทียบเคียงกับ NPF ในแมลงหวี่
แต่ด้วยขนาดของอวัยวะ และระบบรวมทั้งสมองจะทำให้มีความซับซ้อนและไม่ตรงไปตรงมาในระนาบเดียวกันกับแมลงหวี่ ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับสมองส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนที่เชื่อมโยงกันและมีบทบาทในการหิว ความอยากอาหาร ความต้องการอาหารหรือเสพอาหารพร่ำเพื่อ บทบาทในการตอบสนองต่อความวิตกกังวล ความเครียดและการควบคุมการหลับตื่น และคุณภาพของการนอนหลับ แรงขับเคลื่อนทางเซ็กซ์และความอยากเหล้า
กล่าวโดยสรุปแล้ว สิ่งเสพติดเช่นเหล้าการที่จะติดได้นั้น แท้จริงน่าจะเป็นกลไกที่ซับซ้อนและเกิดขึ้นจากมูลเหตุหรือสาเหตุนำได้แตกต่างกัน รวมทั้งความรุนแรงของจิตอารมณ์ต่อความสมหวัง ผิดหวัง และการที่จะทดแทนด้วยอะไร เพื่อที่จะบรรเทาความไม่สมหวังนั้น ...ดังนั้น การห้ามแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ อาจจะทำให้การปกป้องหรือการป้องกันไม่ให้ดื่มสุราจนเกิดพิษภัยอาจจะประสบความสำเร็จได้ไม่เต็มที่
...
นอกจากนั้นความรู้กลไกทางสมองและสารสื่อประสาท น่าจะนำมาถึงการพัฒนายาที่จะปรับแก้ความอยากเหล่านี้ได้ในอนาคต.
หมอดื้อ