- ผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงจะมีประจำเดือนสม่ำเสมอ หรือทุกๆ 28 วัน ซึ่งการตกไข่นั้นจะอยู่ตรงกลางนับจากการมีประจำเดือนวันแรกถัดไปอีก 14 วัน โดยการตกไข่มีเวลาระยะ 24 ชั่วโมง หากต้องการตั้งครรภ์นั้นควรมีเพศสัมพันธ์ในวันที่ตกไข่ โอกาสตั้งครรภ์จะสูงสุด
- อัตราคู่ที่แต่งงานที่ไม่สามารถมีบุตรได้ในปัจจุบัน มีถึง 12 เปอร์เซ็นต์ การเข้ามาตรวจและพบแพทย์ เพื่อวางแผนการมีบุตรจะช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้มากถึง 6 เปอร์เซ็นต์
- ICSI เป็นเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ที่มีโอกาสปฏิสนธิมากถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ และเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้คุณผู้หญิงตั้งครรภ์ได้และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
สามีและภรรยาที่มีความต้องการอยากมีบุตรนั้น สามารถทำได้โดยการวางแผนการตั้งครรภ์ เนื่องจากการตั้งครรภ์นั้นทำให้มีภาวะต่างๆ เปลี่ยนแปลงทั้งสภาพร่างกายและภาวะจิตใจ ทำให้เราต้องตั้งรับและพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งอาการต่างๆ ที่ตามมาของคุณแม่ ได้แก่ อาการแพ้ท้อง แพ้กลิ่น ในบางรายมีอาการเหม็นสามี ซึ่งการเตรียมวางแผนที่จะมีบุตรนั้นต้องมีการตกลงกันก่อนว่าสามารถยอมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรก็ตาม
การเตรียมตัวและการวางแผนที่จะมีลูก
การวางแผนที่จะมีลูก อย่างแรกต้องรู้ความหวังก่อนว่าต้องการอะไรบ้าง อาทิ อยากได้ลูกชาย อยากได้ลูกสาว หน้าตาอย่างไร สุขภาพร่างกายแข็งแรงหรือไม่ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเราไม่สามารถทราบได้ว่าลูกที่ออกมาจะเป็นเช่นไร จะทำเช่นไรไม่ให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ขึ้นกับลูก ไม่อยากให้ลูกไม่สมประกอบ มีอวัยวะครบถ้วน ไม่พิการ และทำเช่นไรไม่ให้คุณแม่เกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต (ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์น้อยแต่สามารถเกิดขึ้นได้)
...
การวางแผนมีบุตร สำหรับผู้หญิง
แม้แต่ในคุณแม่ที่มีสุขภาพร่างกายปกติดีทุกอย่าง เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ก็สามารถเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้ เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งเราต้องมีการวางแผนและตรวจก่อนที่จะทำการตั้งครรภ์ การตรวจจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงและรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ในปัจจุบันการตรวจที่ได้รับความนิยมคือ การตรวจอัลตราซาวนด์
การวางแผนมีบุตร สำหรับผู้ชาย
ไม่เพียงแต่คุณแม่ที่ต้องหมั่นตรวจและดูแลสุขภาพ ในด้านคุณพ่อเองก็อาจไปพบเจอกับกัมมันตภาพรังสี ในที่ทำงาน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติของลูกอัณฑะ ส่งผลให้ตัวอสุจิผิดปกติได้ หรือแม้แต่อาหารบางอย่าง เชื้อโรคต่างๆ ก็มีโอกาสทำให้ลูกออกมามีความผิดปกติทางด้านร่างกายหรือพิการ เช่น โรคหัดเยอรมัน เด็กที่เกิดออกมามีอาการตาบอดหูหนวก
ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยตรวจให้รู้ก่อนว่าคุณแม่มีภูมิคุ้มกันหรือไม่ หากไม่มีภูมิคุ้มกันสามารถฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน หลังฉีดวัคซีนต้องมีระยะพักอย่างต่ำ 3 เดือน เพื่อความปลอดภัยทั้งในตัวคุณแม่และตัวทารก หรือแม้แต่การตั้งครรภ์อยู่แล้วมีการเอกซเรย์ ก็ส่งผลทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้นคุณพ่อและคุณแม่ควรระมัดระวังและป้องกันตนเองอยู่ตลอดเวลา
การตรวจร่างกายเพื่อวางแผนที่จะมีลูก
การตรวจร่างกาย ซักประวัติ ตรวจเลือด ความสมบูรณ์ในเม็ดเลือดนั้นสามารถทำให้การตั้งครรภ์นั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่น เพื่อป้องกันโรครวมถึงโรคติดเชื้อต่างๆ อาทิ เป็นโรคทางอายุรกรรม เช่น
- โลหิตจาง
- ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
- ภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน (SLE)
- โรคธาลัสซีเมีย (โรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เกิดจากความผิดปกติในการสังเคราะห์ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญในเม็ดเลือดแดง ฮีโมโกลบินทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์)
โรคอื่นๆ เช่น โรคลมชัก วัณโรค โรคติดเชื้อ HIV (โรคเอดส์) กามโรค พาหะตับอักเสบบี โรคหัดเยอรมัน มีเนื้องอกหรือก้อนเนื้อที่ของมดลูกและรังไข่
เทคนิคธรรมชาติ สำหรับคนอยากมีลูก
เทคนิคธรรมชาติที่สามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยธรรมชาติ ได้แก่
การนับวันตกไข่
โดยในเพศหญิงจะมีการตกไข่อยู่ทุกๆ เดือน ซึ่งในเพศหญิงต้องทราบว่ามีการตกไข่ในวันใด โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงนั้นจะมีประจำเดือนสม่ำเสมอหรือทุกๆ 28 วัน ซึ่งการตกไข่นั้นจะอยู่ตรงกลางนับจากการมีประจำเดือนวันแรกถัดไปอีก 14 วัน โดยการตกไข่มีเวลาระยะ 24 ชั่วโมงเท่านั้น ในการปฏิสนธิไข่ที่ออกมาจากรังไข่นั้นจะพบกับอสุจิที่ช่องคลอดและว่ายมาเจอที่ท่อนำไข่ได้ หากต้องการตั้งครรภ์นั้นควรมีเพศสัมพันธ์ในวันที่ตกไข่
การมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
ในวัยเจริญพันธุ์นั้นสามารถตั้งครรภ์ได้ง่าย เนื่องจาก มีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่ำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งหรือเดือนละ 8-10 ครั้ง ทำให้มีการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องนับวันที่ไข่ตก หรือในบางกรณีการมีเพศสัมพันธ์ก่อนหน้าวันที่ไข่ตกซึ่งตัวอสุจินั้นมีอายุ 72 ชั่วโมง หรือก่อนที่ไข่ตก 2-3 วัน ก็สามารถทำให้ตั้งครรภ์ได้ แต่หากมีเพศสัมพันธ์หลังไข่ตกนั้นโอกาสในการตั้งครรภ์เกือบจะเป็นศูนย์ ดังนั้นหากต้องการมีบุตรคุณผู้ชายต้องหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองและทำการบ้านอย่างสม่ำเสมอ
...
การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ตัวช่วยในการมีบุตรอีกอย่างคือการรับประทานอาหาร การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทั้งวิตามินเกลือแร่ และทำการตรวจสุขภาพเพื่อวัดความฟิต ความพร้อมของร่างกาย ดูความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด การเอกซเรย์ปอด ซึ่งเป็นการตรวจร่างกายทั่วๆ ไป
แบบไหนเรียกว่ามีบุตรยาก
หากพยายามมีบุตรด้วยวิธีตามธรรมชาติเป็นระยะเวลา 1 ปี แล้วยังไม่สามารถมีบุตรได้ จะเรียกว่า “มีบุตรยาก” ซึ่งอายุของคุณพ่อและคุณแม่ก็มีส่วนในการตั้งครรภ์ เช่น คุณแม่ที่มีอายุในช่วง 35 ปีขึ้นไปจะมีปัญหาของไข่ทั้งจำนวน ปริมาณ หรือแม้แต่คุณภาพที่ด้อยลง ในด้านคุณพ่อหากมีอายุที่มากขึ้นประสิทธิภาพของตัวอสุจิก็จะลดลงตามไปด้วย
ซึ่งหากทำด้วยวิธีธรรมชาติและยังไม่ตั้งครรภ์ควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนในการตั้งครรภ์ เพราะหากปล่อยให้เวลาล่วงเลยอาจทำให้การตั้งครรภ์นั้นมีความเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งอัตราคู่ที่แต่งงานที่ไม่สามารถมีบุตรได้มีถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการเข้ามาตรวจและพบแพทย์เพื่อวางแผนการมีบุตรจะช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์มากขึ้น
ผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป หากต้องการมีบุตรนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และหาสาเหตุเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งแพทย์จะนำเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์เข้ามาช่วยเพื่อนำไปสู่การตั้งครรภ์ได้ อาทิ การทำกิฟต์ การปฏิสนธินอกร่างกาย หรือ เด็กหลอดแก้ว เป็นต้น
วิธีการช่วยให้มีบุตรง่ายขึ้น
1. IUI (Intrauterine Insemination)
IUI (Intrauterine Insemination) คือ การนำตัวอสุจิฉีดเข้าไปในโพรงมดลูก ซึ่งเราสามารถทำการติดตามวันที่ไข่ตก นำอสุจิของฝ่ายชายเข้ามาในห้องแล็บ เพื่อตรวจและเลือกตัวที่แข็งแรงปริมาณมาก ใส่น้ำยาที่ได้ทำการเตรียมไว้ฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง ซึ่งการฉีดอสุจิเข้าไปโดยตรงนั้นไม่สามารถทำได้และเป็นอันตรายอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ฝ่ายหญิงเกิดอาการแพ้ หรือเกิดภาวะช็อก อีกทั้งเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ ได้
...
ดังนั้นน้ำยาจึงเป็นตัวช่วยในการลดอาการแพ้ในฝ่ายหญิง วิธีนี้มักทำในเพศชายที่มีตัวอสุจิน้อยหรืออสุจิมีปัญหา เพื่อย่นระยะทางในการปฏิสนธิ โดยมีโอกาสสำเร็จ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ในครอบครัวที่มีบุตรยาก ซึ่งหากทำ 3-4 ครั้งแล้วยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ แพทย์จะใช้กระบวนการที่เหมาะสมในขั้นต่อไป
2. ICI (Intracervical Insemination)
ICI (Intracervical Insemination) คือ การนำตัวอสุจิฉีดเข้าไปในช่องคลอดของฝ่ายหญิง ซึ่งผู้หญิงบางคนไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติได้ รวมถึงมีปัจจัยต่างๆ อาทิ สภาพจิตใจ ทำให้เกิดอาการต้านการมีเพศสัมพันธ์ หรือแม้แต่ในฝ่ายชายนั้นไม่สามารถเข้าไปในช่องคลอดและหลั่งในช่องคลอดได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำการเก็บตัวอสุจิในคอนเทนเนอร์แล้วทำการฉีดเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเกี่ยวกับการมีบุตรเท่านั้น
3. การทำกิฟต์ (GIFT)
การทำกิฟต์ (GIFT) คือ วิธีการนำไข่ที่สุกเต็มที่ของฝ่ายหญิงออกมา และนำอสุจิของฝ่ายชายที่ทำการคัดเลือกฉีดเข้าไปในท่อนำไข่ ซึ่งเป็นที่ปฏิสนธิตามธรรมชาติ วิธีนี้เป็นการช่วยเหลือให้ไข่และตัวอสุจิได้มีการปฏิสนธิในบริเวณและในเวลาที่เหมาะสม
เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ในปัจจุบัน สำหรับผู้มีบุตรยาก (Assisted Reproductive Technologies - ART)
เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือ ART (Assisted Reproductive Technologies) นอกจากจะเป็นกระบวนการช่วยครอบครัวที่ประสบปัญหามีบุตรยาก ให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้แล้ว ยังสามารถตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน ก่อนใส่กลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดโรคพันธุกรรมหรือความผิดปกติทางโครโมโซมหรือโรคต่างๆ ที่จะเกิดในทารกได้อีกด้วย
...
1. การทำกิฟต์ (GIFT)
การทำกิฟต์ (GIFT) คือ วิธีการนำไข่ที่สุกเต็มที่ของฝ่ายหญิงออกมา และนำอสุจิของฝ่ายชายที่ทำการคัดเลือกฉีดเข้าไปในท่อนำไข่ ซึ่งเป็นที่ปฏิสนธิตามธรรมชาติ วิธีนี้เป็นการช่วยเหลือให้ไข่และตัวอสุจิได้มีการปฏิสนธิในบริเวณและในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่นิยมเนื่องจากต้องทำการเจาะหน้าท้อง อีกทั้งไม่สามารถทราบแน่ชัดว่าในวันถัดไปจะมีการปฏิสนธิหรือไม่ ซึ่งมีโอกาสประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ และได้ในกรณีที่ท่อรังไข่ปกติและไม่อุดตันเท่านั้น
2. เด็กหลอดแก้ว หรือ IVF และ ET (In Vitro Fertilization / Fertilization)
เด็กหลอดแก้ว หรือ IVF และ ET (In Vitro Fertilization / Fertilization) คือ การปฏิสนธิภายในหลอดแก้ว เป็นวิธีการที่นำไข่สุกเต็มที่แล้ว ไปผสมกับเชื้ออสุจิในหลอดทดลอง หรือจานแก้วที่มีสารเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิขึ้นในหลอดทดลอง หลังจากนั้น 48 ชั่วโมง จะเกิดเป็นมีตัวอ่อนขึ้นเรียกว่า Embryo ทำการเลี้ยงตัวอ่อนให้มีอายุครบ 3-5 วัน หรือเรียกว่า Blastocyst ก่อนย้ายคืนกลับเข้าโพรงมดลูก เพื่อฝังตัวและเติบโตเป็นตัวอ่อนในครรภ์คุณแม่ เหมาะกับครอบครัวที่หาสาเหตุไม่พบว่าทำไมจึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ทั้งๆ ที่สภาพร่างกายมีความพร้อม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาช่วย โดยมีโอกาสปฏิสนธิถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ การจะทำวิธีนี้ทำได้ก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศไทยในการมีบุตร
3. อิ๊กซี่ หรือ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection)
อิ๊กซี่ หรือ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) คือ วิธีฉีดอสุจิ 1 ตัวเข้าไปในเซลล์ไข่ 1 ใบ เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิและโอกาสการตั้งครรภ์ได้โดยตรง ซึ่งวิธีนี้สามารถเลี้ยงตัวอ่อนให้เติบโตได้โดยทำการแช่แข็งเก็บตัวอ่อนเอาไว้ในห้องปฏิบัติการ หากต้องการมีบุตรในครั้งถัดไปได้
วิธีนี้สามารถทำให้เกิดการตั้งครรภ์แฝดได้ กลไกในการตั้งครรภ์ลูกแฝดนั้นเป็นการนำไข่สองใบฉีดเข้าไปยังโพรงมดลูก ซึ่งเหมาะสมกับครอบครัวที่ทำวิธีการต่างๆ แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
วิธีนี้มีความละเอียดเป็นอย่างมากในการตั้งครรภ์ สามารถคัดกรองโรคร้ายๆ ในตัวเด็กได้ อาทิ เมื่อตั้งครรภ์ 4 เดือน สามารถตรวจความผิดปกติระดับโครโมโซมได้ เช่น โรคดาวน์ซินโดรม โรคทรานสโลเคชั่น หรือแม้แต่โรคที่เกิดจากความผิดปกติภายในยีน เช่น โรคเบต้าธาลัสซีเมีย โรคอัลฟาธาลัสซีเมีย โรคซิสติกไฟโบรซิสต์ หรือแม้แต่ความผิดปกติภายในไมโตคอนเดรีย ความผิดปกติในยีนที่มากกว่ายีนเดียว
อีกทั้งสามารถตรวจสอบได้ว่าเด็กมีอาการผิดปกติทางสมองหรือเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ หรือไม่ เพื่อยุติการตั้งครรภ์ได้ หรือแม้แต่เพศที่สามารถทำการตรวจได้ เป็นต้น ซึ่งวิธี ICSI นั้นมีโอกาสปฏิสนธิมากถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ และเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายกันในปัจจุบัน
บทความโดย : นพ.มฆวัน ธนะนันท์กูล สูตินรีแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ รพ. สมิติเวช ศรีนครินทร์