ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทั่วโลกนี้ วัคซีนที่ได้รับการรับรองจากประเทศต่างๆ จะต้องมีผลช่วยยับยั้งอาการรุนแรงได้ วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) เป็นวัคซีนจากประเทศจีนตัวแรกที่ใช้ยับยั้งสายพันธุ์อู่ฮั่นตั้งแต่ปี 2563 ใช้ใน 36 ประเทศ คุณสมบัติและประสิทธิภาพของซิโนแวคยังคงศึกษาอยู่อย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยผลการทดลองทางคลินิกในประเทศบราซิล อินโดนีเซียและตุรกี แสดงให้เห็นว่าหลังผู้เข้ารับวัคซีนครบ 2 เข็ม เป็นเวลา 14 วัน จะช่วยลดความรุนแรงและการเข้ารักษาในโรงพยาบาลอยู่ที่ 100% และป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการอยู่ที่ 51-83%
ซิโนแวค (Sinovac) เจ้าของคือใคร
เจ้าของวัคซีนซิโนแวค คือ Sinovac Biotech เป็นบริษัทมหาชนในประเทศจีน วัคซีนป้องกันโควิด-19 จากซิโนแวคเป็นวัคซีนประเภทเชื้อตาย ในเอกสารกำกับยาใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า โคโรนาแวค (CoronaVac) ใช้ป้องกันโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสในผู้ที่อายุ 18-59 ปี ภายใต้การอนุญาตผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
...
ข้อกำหนดในการใช้วัคซีนโคโรนาแวค 1 โดส ปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร ประกอบด้วยเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ตายแล้ว ทำหน้าที่เป็นสารก่อภูมิต้านทาน 600 SU อายุของผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 6 เดือน หลังผลิต ในประเทศไทยผู้ที่ได้รับอนุญาตผลิต หรือนำ หรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรคือองค์การเภสัชกรรม ขึ้นทะเบียนตำรับยา ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
การฉีดวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) และผลข้างเคียง
จำนวนโดสของผู้เข้ารับวัคซีนต้องได้รับวัคซีน 2 โดส โดยเว้นระยะระหว่างโดส 2 สัปดาห์ การฉีดวัคซีนซิโนแวค ต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อเดลตอยด์ (Deltoid Muscles) เท่านั้น ผลข้างเคียงเมื่อฉีดวัคซีนโควิดซิโนแวค (Sinovac) จากการทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ ปวดบริเวณที่ฉีด และ ปวดกล้ามเนื้อ
- ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคในเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์
ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะวิเคราะห์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงหญิงตั้งครรภ์
- ซิโนแวคป้องกันไวรัสโควิดกลายพันธุ์ได้หรือไม่
ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่มากพอที่จะประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคกับไวรัสกลายพันธุ์ในประเทศต่างๆ แต่การศึกษาในประเทศที่พบการกลายพันธุ์พบว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรครุนแรง การเข้ารักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิต องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำการใช้วัคซีนซิโนแวคในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนก่อน แม้จะมีรายงานพบการกลายพันธุ์ในประเทศนั้น
- ข้อห้ามและข้อควรระวังของการใช้วัคซีนซิโนแวค
ผู้ที่มีประวัติแพ้อะนาฟิแลกซิส ต่อส่วนผสมใดในวัคซีนรุนแรง ควรห้ามใช้ และผู้ที่มีปฏิกิริยาอะนาฟิแลกติกรุนแรงหลังได้รับวัคซีนโดสแรก ไม่ควรได้รับวัคซีนเข็มสองเป็นชนิดเดียวกัน (อ้างอิง WHO)
แนวทางการใช้วัคซีนซิโนแวคที่ WHO รับรอง
แนวทางการใช้วัคซีนซิโนแวคขององค์การอนามัยโลก ฉบับย่อบนเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก เขียนไว้ 3 ประเด็น ดังนี้
• ประโยชน์ของวัคซีนซิโนแวคมีมากกว่าความเสี่ยง
• วัคซีนซิโนแวคสองโดสป้องกันการเกิดโรครุนแรง การเข้ารักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้ในระดับสูง
• กลุ่มเปราะบางซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรครุนแรง ควรได้รับวัคซีนก่อนเป็นอันดับแรกๆ ในบริบทที่มีปริมาณวัคซีนจำกัด
...
ประเทศที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ให้แก่ประชาชน
ข้อมูลอัปเดต 19 กรกฎาคม 2564 จากเว็บไซต์ ourworldindata ซึ่งเป็นเว็บที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก ระบุว่าปัจจุบันนี้มีประเทศที่ใช้วัคซีนซิโนแวคแล้ว 36 ประเทศ ดังนี้
1. แอลเบเนีย
2. อาร์มีเนีย
3. อาเซอร์ไบจาน
4. สาธารณรัฐเบนิน
5. บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
6. บราซิล
7. กัมพูชา
8. ชิลี
9. จีน
10. โคลอมเบีย
11. สาธารณรัฐจิบูตี
12. สาธารณรัฐโดมินิกัน
13. เอกวาดอร์
14. อียิปต์
15. เอลซัลวาดอร์
16. ฮ่องกง
17. อินโดนีเซีย
18. ลิเบีย
19. มาเลเซีย
20. เม็กซิโก
21. นอร์ทมาซิโดเนีย
22. นอร์เทิร์นไซปรัส
23. โอมาน
24. ปากีสถาน
25. ปารากวัย
26. ฟิลิปปินส์
27. สิงคโปร์
28. โซมาเลีย
29. ซูดาน
30. ทาจิกิสถาน
31. ไทย
32. ติมอร์เลสเต
33. ตูนีเซีย
34. ตุรกี
35. ยูเครน
36. อุรุกวัย
ผลการศึกษาวัคซีนซิโนแวคในต่างประเทศ 2564/2021
...
การศึกษาประสิทธิภาพซิโนแวคในประเทศบราซิลจากอาสาสมัคร 12,607 คน
ระยะเวลาศึกษา มกราคม - กุมภาพันธ์ 2564
NEWS Medical Life Science เผยผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคอ้างอิงจากการฉีดในบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ 50.39% หลังฉีดครบ 2 เข็มในระยะ 2 และ 3 สัปดาห์
การทดลองดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร medRxiv เก็บข้อมูลจากจำนวนอาสาสมัครผู้เข้าร่วม 12,607 คน พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 360 คน เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในเมืองเซาเปาโล (Sao Paolo) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ไม่เป็นไปตามแนวโน้มเดียวกันกับการระบาด
ภาพแสดงจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เส้นสีดำคือจำนวนผู้ป่วยในเมืองเซาเปาโล เส้นสีน้ำเงิน คือจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยเซาเปาโล
ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวคในบราซิลก็พบการระบาดของสายพันธุ์กลายพันธุ์ P1 และ B.1.1.7 ในการศึกษานี้ได้ผลว่า เมื่อรับวัคซีนครบ 2 เข็มประสิทธิภาพของวัคซีนในสับดาห์ที่สองอยู่ที่ 50.7% และสัปดาห์ที่สามอยู่ที่ 51.8% และเพิ่มขึ้นในอีกสองสัปดาห์ถัดมา
...
สรุปผลการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์บราซิลนี้ พบว่านับตั้งแต่ฉีดวัคซีนเข็มแรกจำนวนผู้ป่วยก็ลดลง
อย่างไรก็ดีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่เผยแพร่ใน medRxiv เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเป็นแนวทางและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ยังไม่ถือเป็นข้อสรุปที่ยอมรับ จึงควรใช้ผลวิจัยอื่นๆ รองรับประกอบความน่าเชื่อถือ
การศึกษาประสิทธิผลการฉีดวัคซีนเชื้อตายในประเทศชิลี จากอาสาสมัคร 10.2 ล้านคน
ระยะเวลาศึกษา กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2564
วัคซีนโควิด-19 ที่ฉีดให้แก่ประชาชนชิลี ได้แก่ Sinovac เป็นวัคซีนประเภทเชื้อตาย, Pfizer เป็นวัคซีนประเภท mRNA, วัคซีน AstraZeneca และ CanSino เป็นวัคซีนประเภท Viral Vector
การศึกษาประสิทธิผลการฉีดวัคซีนเชื้อตาย SARS-CoV-2 ในประเทศชิลี ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The New England Journal of Medicine จากผู้ที่เข้ารับบริการสาธารณสุขแห่งชาติมาประเมินผลจำนวน 10.2 ล้านคน เริ่มศึกษาตั้งแต่กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2564 เพื่อศึกษาถึงประสิทธิผลของวัคซีนโควิด SARS-CoV-2 ถีงผลต่อการป้องกันการเสียชีวิต และการเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก (ICU)
- ป้องกันความรุนแรงของโรคด้วยการวิเคราะห์จากการเข้ารักษาในโรงพยาบาล ร้อยละ 87.5
- ป้องกันการเข้ารับการรักษาใน ICU ร้อยละ 90.3
- ป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19 ร้อยละ 86.3
ประสิทธิภาพของซิโนแวคในสื่อต่างประเทศ
- Reuters เผยประสิทธิภาพซิโนแวค 50.4% (ข้อมูล 12 มกราคม 2564)
- News-Medical เผยประสิทธิภาพซิโนแวค 50% (ข้อมูล 19 เมษายน 2564)
- WHO เผยประสิทธิภาพซิโนแวค 51% (ข้อมูล 2 มิถุนายน 2564)
ที่มา :
1. Performance of vaccination with CoronaVac in a cohort of healthcare workers (HCW) - preliminary report., medrxiv.org
2. New Brazil data shows disappointing 50.4% efficacy for China's CoronaVac vaccine.,Reuters
3. Sinovac COVID-19 vaccine shows 50% effectiveness in a cohort of Brazilian healthcare workers.,News-Medical
4. The Sinovac COVID-19 vaccine: What you need to know., WHO
5. ข้อมูลผลิตภัณฑ์วัคซีน CoronaVac., gpo
6. Statistics and Research Coronavirus (COVID-19) Vaccinations., ourworldindata
7. Effectiveness of an Inactivated SARS-CoV-2
Vaccine in Chile., nejm.org