เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนแบ่งออกเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับทารก

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ที่พบได้บ่อย คือ ภาวะเลือดออกก่อนเจ็บท้องคลอด การคลอดก่อนกำหนด และภาวะครรภ์เป็นพิษ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับทารก ได้แก่ ทารกพิการแต่กำเนิด และทารกโตช้ากว่าปกติ

ภาวะเลือดออกก่อนเจ็บท้องคลอด

เกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ เกิดจากภาวะรกเกาะต่ำ โดยสามารถตรวจพบได้มากในคุณแม่ที่เคยผ่าท้องคลอดมาก่อน หรือในคุณแม่ที่เคยตั้งท้องครรภ์แฝด ส่วนในคนทั่วไป ก็พบภาวะรกเกาะต่ำได้เช่นกัน โดยจะสามารถตรวจพบได้ในช่วงที่ทำอัลตราซาวนด์ ช่วงอายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ และหากตรวจพบว่ามีภาวะรกเกาะต่ำ ก็จะมีการตรวจติดตามด้วยอัลตราซาวนด์เป็นระยะ ในบางรายเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นรกสามารถเลื่อนขึ้นไปได้เอง สามารถคลอดธรรมชาติทางช่องคลอดได้เมื่อครบกำหนดคลอด แต่ในบางรายเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น แต่รกไม่สามารถเลื่อนขึ้นไปได้ ก็จะต้องคลอดโดยการผ่าตัด

นอกจากนี้ ในรายที่มีรกเกาะต่ำ อาจทำให้มีเลือดออกก่อนถึงเวลาเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินและอันตรายมาก คุณแม่จึงต้องสังเกตตัวเองว่าหากมีเลือดออกปริมาณมาก โดยอาจจะสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กับการเจ็บครรภ์คลอดก็ได้ โดยเฉพาะเลือดออกก่อนที่จะครบกำหนดคลอดที่ 37 สัปดาห์ ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้ว ในกรณีที่คนไข้เลือดออกไม่มาก จะมีการให้ยาระงับการเจ็บครรภ์คลอด และรอจนกว่าจะครบกำหนดคลอด แต่ถ้ามีเลือดออกปริมาณมากจนอาจเป็นอันตราย จะต้องทำการผ่าตัดคลอดฉุกเฉินแม้ว่าจะยังไม่ครบกำหนดก็ตาม

...

การคลอดก่อนกำหนด

เป็นภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อในมดลูก ตั้งครรภ์แฝด ทารกตัวโต หรือครรภ์แฝดน้ำ รวมถึงในรายที่ไม่มีภาวะเหล่านี้ ก็มีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน

อาการคลอดก่อนกำหนด คุณแม่จะมีอาการเจ็บท้อง ท้องแข็งถี่ บีบคลายๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ มีมูกเลือด หรือมีน้ำเดินก่อนครบกำหนดที่ 37 สัปดาห์ คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเอง ถ้ามีอาการเหล่านี้ก็ควรรีบมาโรงพยาบาล

เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะให้ยาระงับการเจ็บครรภ์คลอดไว้อย่างน้อย 48 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่จะให้ยากระตุ้นปอดทารกในครรภ์ นอกจากนี้จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดเพื่อทำการรักษาได้อย่างเหมาะสม

ภาวะครรภ์เป็นพิษ

พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม ดังต่อไปนี้ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคไต ดังนั้น คุณแม่ที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์ว่าโรคสงบหรือยัง และสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ อย่างไรก็ตามคนที่ไม่มีภาวะเสี่ยงดังกล่าว ก็อาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ คนที่มีความเสี่ยง เช่น ตั้งครรภ์แรก อายุมาก อ้วน ตั้งครรภ์แฝด โดยมักจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์

อาการ

คุณแม่จะมีความดันโลหิตสูงมากขึ้นเรื่อยๆ นั่งพักแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีอาการปวดหัว ตาพร่ามัว และจุกแน่นลิ้นปี่ ซึ่งอาการเหล่านี้บรรเทาไม่ได้ด้วยยา หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และหากวินิจฉัยว่าคุณแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ แพทย์ก็จะรับคนไข้ไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาป้องกันการชัก และยาลดความดัน และพิจารณาให้คลอดโดยเร็วแม้ว่าบางรายอาจจะยังไม่ครบกำหนดคลอดก็ตาม เนื่องจากภาวะครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ทั้งหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์

สัปดาห์หน้ายังมีความรู้เรื่องภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับทารก ได้แก่ ทารกพิการแต่กำเนิด และทารกโตช้ากว่าปกติ รอติดตามกันนะคะ

@@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

อ. พญ.ชยดา ตั้งชีวินศิริกุล สาขาวิชาเวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล