ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2564 ทางการประกาศ ทางเดินสู่ชัยชนะ เปิดประเทศ ใน 120 วัน นั่นก็คือใช้ชีวิตตามปกติ รวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศและสำหรับพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวอาจจะเปิดเร็วขึ้นถ้าได้รับวัคซีนครบถ้วนเรียบร้อย
สถานการณ์ในประเทศไทยวันที่ 17 มิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อใหม่ 2,672 รายและจากเรือนจำที่ต้องขัง 457 ราย รวม 3,129 รายและเสียชีวิต 30 ราย
ทั้งนี้มีรายงานหายป่วยกลับบ้าน 4,651 ราย ชัยชนะรายวันไม่ใช่จำนวนที่หายเพราะที่หายเองไม่ต้องเข้า รพ. จะต้องมีจำนวนอย่างน้อย 80% ของผู้ติดเชื้อ
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมีอยู่แออัดแน่นใน รพ. จนหาเตียงเข้าไม่ได้ รวมทั้งเตียงในไอซียู เป็นตัวเลขจริงที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
รายงานตัวเลขในห้องไอซียู อาจจะดูเหมือนคงที่ เพราะเตียงเต็มสุดขีดตามกำลังความสามารถ แต่ที่ยังคงต้องพยุงชีวิตในห้องแยกโดยเข้าไอซียูไม่ได้ เพราะเตียงเต็มดังกล่าว
และต้องยื้อด้วยการใช้ออกซิเจนที่เรียกว่า ไฮโฟล (high flow)
...
เปรียบเสมือนการเป่าลมเพื่อไม่ให้ถุงลมแฟบพอประทังอยู่ได้ ยังมีอยู่มาก
ผู้ป่วยที่อาการหนักทั้งหมดเหล่านี้จะใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่ใช่อยู่เพียง 10 ถึง 14 วัน
อย่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดแต่อาการน้อยมากโดยที่หายเองโดยไม่ต้องใช้ยารักษาด้วยซ้ำ แต่กักตัวเพื่อให้แน่ใจว่าหมดเชื้อแล้ว หรือเชื้อน้อยลงมากและไปกักตัวที่โรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล หรือที่บ้านต่อ
ผู้ป่วยอาการหนักจะมีโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโควิดเองและที่เกิดจากการติดเชื้อซ้ำซ้อนในโรงพยาบาลซึ่งจะมากขึ้นกว่าโรคอื่น เพราะผู้ป่วยโควิดที่อาการหนักจะแทรกด้วยอาการอักเสบในร่างกายและจำเป็นต้องให้ยากดการอักเสบ ซึ่งมีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและมีติดเชื้อซ้ำซ้อนต่อไปอีก
ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราก็ตาม
ยิ่งถ้าผู้ป่วยอาการหนักเหล่านี้เพิ่มขึ้น แสดงว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อจริงในประเทศต้องมีมหาศาลมากมาย
ดังนั้นถ้าทราบสถานการณ์จริงในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ คงต้องประเมินกลับ หมายถึงบุคลากรทางสาธารณสุขทุกระดับ และจำนวนของผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำแนะนำแพทย์อายุรกรรมทั่วไป ที่เป็นด่านหน้าสาหัสอยู่ในขณะนี้ และวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เพียงพอหรือไม่
รวมทั้งความเหนื่อยล้า เพราะบุคลากรมีจำกัดต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน
กระบวนการควบคุมโรคเช่นในกรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑล ในตลาดและชุมชน ใช้สุ่มตรวจเช่น 75 ราย/ กลุ่ม และประเมินผลบวกตามเปอร์เซ็นต์มากน้อยในการควบคุมหนักเบา การตรวจใช้ตัวอย่างน้ำลาย หลายตัวอย่างรวมตรวจครั้งเดียวหรือแยงจมูก
ทั้งนี้ด้วยเหตุผลของข้อจำกัดในการตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งไม่สามารถกระทำได้ในทุกคนในทุกพื้นที่และจำเป็นต้องใช้วิธีการที่สะดวกที่สุด ทั้งนี้จะทำให้ความไวในการตรวจจับผู้ติดเชื้อลดทอนลง
อีกทั้ง การสุ่มตรวจ เป็นเพียงการประเมินพื้นที่ที่มีการแพร่รุนแรงเพียงใด แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการติดต่อ ต่อเนื่องไปได้
และโดยเฉพาะในชุมชนแออัดหรือในสถานประกอบการมีติดเชื้อเพียงหนึ่งคนที่หลงเหลืออยู่จะสามารถแพร่ไปได้มากมายอีกเป็น 10 คนและแต่ละคนที่ติดเชื้อใหม่จะแพร่กระจายออกไปอีก
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการสุ่มดังกล่าวไม่สามารถควบคุมการกระจายของโรคและในที่สุดจะปะทุขึ้นมาใหม่ และสัดส่วนของผู้ที่มีอาการหนักจะแปรตามจำนวนของผู้ติดเชื้อ โดยจะมีจำนวนได้สูงถึง 20% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดที่ต้องเข้ารับการรักษาใน โรงพยาบาล
...
ก่อนที่จะถึง 120 วันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคุม การแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อไม่ให้ระบบในโรงพยาบาลรวนเร และแน่นอนบุคลากรในโรงพยาบาล มีการติดเชื้อไปด้วยอย่างต่อเนื่อง
การฉีดวัคซีนที่หวังว่าจะเป็นอาวุธวิเศษ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ แต่ถ้าป้องกันไม่อยู่เกิดมีการติดเชื้อขึ้นจะสามารถบรรเทาให้ไม่ต้องเข้าโรง พยาบาลไม่มีอาการหนัก ไม่เสียชีวิต
รวมทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว และติดเชื้อจะสามารถลดการแพร่เชื้อให้คนอื่นติด ตามไปอีกได้มากน้อยเพียงใด
เป้าหมาย 120 วันทั้งประเทศ จะเป็นทางโค้งที่สำคัญ และอาจไม่ได้หมายถึงการที่ต้องได้วัคซีนอย่างเดียวแต่รวมถึงตัวเชื้อว่าจะอ่อนข้อลงหรือไม่
และประการสำคัญคือกระบวนการตรวจต้องแม่นยำไม่หลุดครอบคลุมถ้วนทั่วทุกคนในพื้นที่ จนสามารถนำมาประเมินได้ว่ามาตรการทั้งหลายเหล่านี้ สัมฤทธิผลจริงหรือไม่
ถ้าไม่เช่นนั้นถึงแม้จะฉีดวัคซีนครบ 90% ของคนไทยสองเข็มก็ตาม ในที่สุดก็ต้องเริ่มใหม่สาหัสกว่าเก่าหรือไม่.
...
หมอดื้อ