เห็ดขี้ควาย รู้จักกันดีในคนไทยทั่วไปและในชนบท เช่นเดียวกับพืชกระท่อมและพืชกัญชาซึ่งใช้กันมาเนิ่นนานแต่โบราณ ในวิถีชีวิตของคนไทยและรู้จักนำมาใช้ในบริบทของสุขภาพ ความรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์สนุกสนาน สดใส เบิกบานและช่วยเรื่องของการเจ็บป่วยทั่วไป
แต่แล้วเนื่องจากกฎหมายตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งเดินตามรอยต่างประเทศ จัดพืชเหล่านี้เป็นยาเสพติดและเกิดมีการออกกฎระเบียบมากมาย รวมทั้งมีการจับกุมปราบปรามขั้นเด็ดขาด เหมือนเช่นเป็นยาเสพติดร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังโชคดีที่มีการรับรองการใช้พืชเหล่านี้เพื่อเป็นประโยชน์ทางการแพทย์
ไม่ว่าจะเป็นกัญชงและกัญชา ทั้งนี้โดยเป้าหมายให้เป็นการควบรวมการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันเข้าด้วยกัน โดยยกย่องภูมิปัญญาชุมชนและชาวบ้านและนำมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ในตำรับตำราแพทย์แผนไทยที่จารึกไว้มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ดังที่กรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดขึ้นทะเบียนสูตรตำรับแพทย์แผนไทยที่มีกัญชาหลายขนาน รวมทั้งตำรับกัญชาเจือจางของท่านอาจารย์เดชา และตำรับเมตตาและการุณย์โอสถ ที่เข้าสารออกฤทธิ์ที่เป็น THC enriched และ CBD enriched เด่น ตามลำดับ
ในส่วนของเห็ดขี้ควายนั้น รู้จักกันในชื่อพืชสายเคลิ้ม และรู้จักกันทั่วโลกในชื่อของเห็ดวิเศษ (magic mushroom) ในประเทศไทยเองนั้น เป็น สปีชีส์ psilocybe cubensis รู้จักกันในชื่อ Psilocybe Samuiensis Thailand (คงเดากันได้ว่ามีการเพาะ และใช้ประโยชน์ที่ไหน) โดยมีสารสำคัญคือ psilocybin และ psilocin ทั้งนี้ เห็ดขี้ควายสปีชีส์นี้ สามารถพบได้ทั่วไปและกระบวน การไม่ยากในการเพาะ
...
การที่เห็ดขี้ควายมีข้อกังขาและกริ่งเกรง ถึงกับขั้นเกรงกลัว เนื่องจากคุณสมบัติของการที่ทำให้มีอาการเคลิ้มล่องลอย และอาจจะหลุดโลกไปจนกระทั่งถึงสภาวะภาพหลอน และหูแว่ว ไซคีเดลิค ดังสมัยยุคฮิปปี้ที่มีการใช้โอสถหลอนจิตนานาชนิด จนเป็นภาพลบของสารเสพติด
อย่างไรก็ตาม พืชและสมุนไพรต่างๆ เหล่านี้มีความมหัศจรรย์อยู่ในตัว ถ้ารู้จักใช้
เห็ดขี้ควายนั้น หมอเองได้รับทราบ จากการอ่านวารสารวิทยาศาสตร์ (Science) เมื่อสองสามปีที่แล้วและจัดเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้น ในคุณสมบัติที่จะนำมาใช้ในการสงบอารมณ์ช่วยรักษาอาการหดหู่อย่างรุนแรง และได้รับฟังจากผู้มีความรู้ภูมิปัญญาชุมชนในเมืองไทยเอง (ซึ่งหมอเองยังไม่มีโอกาสได้ใช้ ตามคำแนะนำและยืนยันจากท่านต่างๆ เหล่านี้นะครับ)
ในรายงานจากคณะผู้วิจัยจากศูนย์ วิจัยภาวะหลอน ไซคีเดลิค และสติจิตสำนึก (Johns Hopkins Center for Psychedelic and Consciousness Research) ของจอห์นส์ ฮอปกินส์ ใน
วารสารทางสมาคมแพทย์ อเมริกัน ทางจิตเวช (JAMA psychiatry) วันที่ 4 พฤศจิกายน 2020 พบประโยชน์ของเห็ดวิเศษในการรักษาโรคหดหู่ ซึมเศร้า (major depressive disorder-MDD/clinical depression)
ทั้งนี้ MDD จะทำให้การดำเนินชีวิตแปรปรวน จากการที่มีอารมณ์เศร้าหมอง หดหู่และหมดความกระตือรือร้น รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า ไม่อยากทำอะไร หมดพลัง อยากจะเอาแต่นอน ปรวนแปรในด้านความอยากอาหาร จนผอมหรืออ้วนผิดปกติ อาการเหล่านี้อาจมีรุนแรงมากขึ้นจน กระทั่งคิดไม่อยากอยู่ ทำร้ายตัวเอง
คณะผู้วิจัยได้เคยรายงานมาก่อนในปี 2016 ถึงการใช้เห็ดวิเศษในการบรรเทาอาการหดหู่และวิตกกังวลในคนป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในขั้นรุนแรง ผลการศึกษาวิจัยใหม่นี้ ได้ผลในการขยายขอบเขตของโรค และครอบคลุมอาการที่กว้างขวางกว่ามาก
ทั้งนี้ ผลดีที่ได้รับนั้น พบว่าได้ประโยชน์มากกว่ายาซึมเศร้าหดหู่ที่ใช้กันในท้องตลาดขณะนี้ประมาณสี่เท่า โดยเฉพาะยาปัจจุบันที่ใช้อยู่ขณะนี้กว่าที่จะเริ่มได้ผล ต้องรอหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนด้วยซ้ำและนอกจากนั้นยังมีผลข้างเคียงหรือผลแทรกซ้อนที่ไม่ต้องการ ทั้งนี้เป็นการให้ความเห็นจากผู้วิจัยและคณะเอง
การศึกษาครั้งนี้ มีคนป่วย 24 รายและมีการประเมินผล จนกระทั่งถึงสี่สัปดาห์ โดยที่คนป่วยจะได้รับเห็ดวิเศษสองช่วงระยะด้วยกันและแต่ละระยะนั้นจะใช้เวลา 5 ชั่วโมง ผู้ป่วยทั้ง 24 รายนี้มีประวัติหดหู่ ซึมเศร้ามานาน โดยมีอาการต่อเนื่องกันอย่างน้อยสองปี ก่อนที่จะได้เข้ามาทำการศึกษา โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 39 ปี และเป็นสตรี 16 คน ในจำนวนนี้ 22 ราย คนผิวขาว 1 รายเป็นคนเอเชีย และ 1 รายเป็นแอฟริกัน-อเมริกัน
ผู้ป่วยทั้งหมดจะทำการค่อยๆลดขนาดของยาที่ใช้อยู่ทีละน้อยตามคำแนะนำของแพทย์ที่ดูแล โดย 13 รายได้รับการรักษาด้วยเห็ดวิเศษทันทีที่เข้าร่วมในกระบวนการวิจัยและอีก 11 รายนั้นเริ่มการรักษาที่หลังจากหกสัปดาห์ไปแล้ว
การรักษานั้นประกอบไปด้วยสองช่วงระยะ แต่ละช่วงนั้นห่างกันสองสัปดาห์ การบริหารการให้ยา กระทำที่ Bayview Medical Center Behavioral Biology Research Building ใช้เวลา 5 ชั่วโมงในการรักษาแต่ละครั้ง โดยผู้เข้ารับการรักษาขณะที่ได้รับยาจะมีการบังสายตา และใส่หูฟังที่มีดนตรีบรรเลงอยู่
...
การประเมินใช้ GRID–Hamilton Depression Rating Scale ซึ่งปกติใช้เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษา ก่อนได้ยา และประเมินที่หนึ่งและสี่สัปดาห์หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาทั้งหมดแล้ว
คะแนนที่ใช้ในการประเมิน ถ้ามีอาการหดหู่ ซึมเศร้ามากอย่างรุนแรงจะมีคะแนนที่ 24 หรือมากกว่า ซึมเศร้าปานกลางคะแนนจะอยู่ที่ 17 ถึง 23 และอาการน้อยจะอยู่ที่คะแนนแปดถึง 16 ในขณะที่คะแนนที่เจ็ดหรือน้อยกว่าแสดงว่าไม่มีอาการหดหู่แล้ว
คะแนนของผู้ที่เข้ารับการศึกษาก่อนรักษาจะอยู่ที่ 23 และเมื่อทำการประเมินที่หนึ่งและสี่สัปดาห์หลังจากการรักษา ทั้งหมดจะมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่แปด โดยที่ผู้ได้รับการรักษาจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนและมากกว่าครึ่งจะจัดอยู่ในสภาวะที่โรคสงบ
คะแนนของการประเมินที่หนึ่งสัปดาห์ หลังการรักษาพบว่า 67% จะมีอาการลดลงมากกว่า 50% และที่สี่สัปดาห์จะมีอาการลดลงมากกว่า 71% ทั้งนี้ 54% จะอยู่ในเกณฑ์ที่โรคสงบ (remission)
คณะผู้วิจัยได้ลงความเห็นว่าผลของการศึกษานี้เป็นบทพิสูจน์ที่มีความสำคัญมาก ในลู่ทางอนาคตที่จะมีการนำเอาเห็ดวิเศษเข้ามาใช้ในการรักษาอย่างจริงจัง นอกจากนั้นคณะผู้วิจัยยังจะทำการติดตามต่อไปจนถึงหนึ่งปี และจะทำการรายงานต่อเนื่อง
...
ในปัจจุบันการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำเห็ดวิเศษมาใช้ในทางการแพทย์มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่ได้มีแต่เพียง psilocybin เท่านั้น ยังมีสารออกฤทธิ์ทางไซคีเดลิคตัวอื่นๆ ที่รวมอยู่ในแผนการนำมาใช้ประโยชน์ด้วย
อย่างที่ว่า ทุกอย่างมี 2 ด้าน จะเหมารวมเลวร้ายไป ทั้งหมดอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป อยู่ที่การเข้าใจ การรู้จักนำส่วนที่ดีบริสุทธ์ที่ซ่อนอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนะครับ.
หมอดื้อ