ปัญหาการเจริญเติบโตของเด็กคลอดก่อนกำหนด จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ถ้าดูแลรักษาถูกวิธีตั้งแต่เริ่มต้น ข้อมูลจากชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราเด็กคลอดก่อนกำหนดมากขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละประมาณ 8-10% หรือประมาณ 80,000 คนต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว พบว่ายังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยอยู่ โดยเด็กที่คลอดก่อนกำหนดเหล่านี้ ต้องอยู่ในความดูแลของกุมารแพทย์ที่ดูแลทารกแรกเกิดโดยเฉพาะ คือ Neonatologist และต้องอยู่ในหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ (Neonatal In– tensive Care Unit : NICU) อย่างใกล้ชิด 17 พ.ย.ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันทารกเกิดก่อนกำหนดโลก (World Prematurity Day)
พญ.อรวรรณ อิทธิโสภณกุล กุมารแพทย์สาขาทารก แรกเกิดและปริกำเนิด หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ รพ.กรุงเทพ อธิบายว่า การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Birth) เป็นภาวะการคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ทารกเหล่านี้ถึงแม้ว่าอวัยวะต่างๆ จะครบสมบูรณ์ แต่การทำงานของอวัยวะบางส่วนอาจยังไม่ดีเท่าทารกที่ครบกำหนด ซึ่งช่วงหลังคลอดทารกมักต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลนานกว่าปกติ
“ปัจจัยที่ทำให้คลอดก่อนกำหนดเกิดได้ทั้งจากมารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งยิ่งอายุครรภ์น้อยยิ่งพบปัญหารวมถึงภาวะแทรกซ้อนตามมามาก” คุณหมอ อรวรรณบอก
สำหรับปัจจัยจากมารดา ได้แก่ มารดามีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป หรือต่ำกว่า 16 ปี ล้วนมีความเสี่ยงที่ลูกจะคลอดก่อนกำหนด หรือมารดามีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ เบาหวาน หรือเป็นโรคในระหว่างตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ แม่ที่เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน มีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนดได้มากกว่าแม่ที่ตั้งท้องโดยไม่มีปัจจัยเหล่านี้ นอกจากนี้การที่มารดามีมดลูกผิดปกติ ปากมดลูกสั้น ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์ และการติดเชื้อก็เป็นปัจจัยของการคลอดก่อนกำหนดได้ทั้งสิ้น
...
พญ.อรวรรณบอกว่า นอกจากปัจจัยในส่วนของมารดาแล้ว ปัจจัยในส่วนของทารกก็มีผล ถ้าทารกในครรภ์มีความผิดปกติ อาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้ ปัญหาสำคัญในทารกคลอดก่อนกำหนด คือ เรื่องของการหายใจ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการขาดสารลดแรงตึงผิวที่เคลือบอยู่ในปอดและกล้ามเนื้อในการหายใจไม่แข็งแรง ทำให้เด็กหายใจได้ไม่เพียงพอ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจโดยรักษาระดับออกซิเจนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติไม่สูงหรือต่ำเกินไป
“เด็กที่คลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่จะมีปัญหาซับซ้อนในหลายๆอวัยวะและระบบต่างๆของร่างกาย” กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ บอกพร้อมกับขยายความว่า เช่น ปัญหาทางด้านหัวใจ อาจมีปัญหาเส้นเลือดเกินทำให้มีโอกาสเกิดหัวใจล้มเหลวได้ “สมอง” เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกในสมอง เนื่องจากเส้นเลือดในสมองค่อนข้างเปราะบาง ภายในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด แพทย์จึงต้องทำอัลตราซาวนด์เพื่อประเมินภาวะเลือดออกในสมองและตรวจเช็กอีกครั้งก่อนที่เด็กจะกลับบ้าน
พญ.อรวรรณบอกว่า ในส่วนของลำไส้ เราพบว่าบางครั้งเด็กที่คลอดก่อนกำหนด มีปัญหาเรื่องของการย่อยและการดูดซึมอาหาร เนื่องจากลำไส้ยังบอบบาง จำเป็นต้องให้สารอาหารทางหลอดเลือดร่วมด้วยในระยะแรก เมื่ออาการคงที่แล้วจึงเริ่มให้นม โดยเฉพาะนมแม่ ซึ่งในช่วงของการเริ่มให้นมแม่นี้ คุณแม่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ข้อดีของนมแม่คือย่อยง่าย มีภูมิต้านทานโรค ลดการเกิดภาวะลำไส้อักเสบ และไม่เพียงแต่อวัยวะที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด จำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมินจอประสาทตาเป็นระยะโดยจักษุแพทย์ เนื่องจากจอประสาทตายังพัฒนาไม่สมบูรณ์ รวมทั้งรับการตรวจประเมินการได้ยินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน
“เด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะมีปัญหาในหลายอวัยวะที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ รวมทั้งเฝ้าระวังภาวะการติดเชื้อที่ทารกกลุ่มนี้มีความเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มที่ การล้างมือก่อนสัมผัสทารกตลอดจนเทคนิคปราศจากเชื้อต่างๆก็เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญมาก”
กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ บอกด้วยว่า การรักษาทารกกลุ่มนี้ เน้นการวางแผนการรักษาร่วมกันของสูตินรีแพทย์และกุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด รวมทั้งพ่อและแม่ด้วย โดยแพทย์จะแนะนำขั้นตอนการรักษา ให้ข้อมูล อธิบายรายละเอียด ตั้งแต่ก่อนคลอด และหลังคลอด รวมทั้งติดตามอาการของทารกอย่างสม่ำเสมอ
“ส่วนใหญ่แล้วเราจะดูแลรักษาเด็กจนมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 2,000 กรัม มีอาการคงที่ ดูดนมได้ดี จึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้ ซึ่งจะมีการเตรียมความพร้อมให้กับคุณพ่อคุณแม่ก่อนกลับบ้าน หลังจากนั้นจะมีการติดตามอาการเป็นระยะ ทั้งเรื่องการเจริญเติบโตและพัฒนาการ” คุณหมออรวรรณบอกและว่า สำคัญที่สุดคือควรปรึกษาแพทย์ในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งถ้าทารกคลอดก่อนกำหนด ก็จะต้องได้รับการดูแลที่ถูกต้องตั้งแต่แรกคลอดโดยแพทย์และพยาบาลที่มีความชำนาญในด้านทารกแรกเกิดโดยเฉพาะ เพื่อให้ทารกน้อยปลอดภัยและเติบโตอย่างสมวัยได้ต่อไป.