วันไหว้สารทจีนปีนี้ ตรงกับวันที่ 2 กันยายน 2563 แต่เนื่องจากเป็นวันพุธ ครอบครัวส่วนใหญ่จึงนัดหมายกันไหว้ในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันที่สะดวกพร้อมหน้าพร้อมตา ในช่วงเทศกาลสารทจีนนี้ถือเป็นการไหว้เจ้าครั้งที่ 5 จากทั้งหมด 8 ครั้งต่อปี เป็ดไก่ และชุดของไหว้ต่างๆ จึงขายดีในวันสารทต่างๆ นี้ ไทยรัฐออนไลน์พามาดูเรื่องราวที่มาของการไหว้สารทจีนที่คุณอาจไม่เคยรู้
ที่มาของการไหว้สารทจีน
ประวัติและที่มาของการไหว้สารทจีนนั้นเล่าขานกันต่อมาหลายตำนาน แต่ตำนานที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือเชื่อกันว่าวันสารทจีน ในวันที่ 15 ของเดือน 7 เป็นเดือนที่ประตูผีเปิดให้วิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วสามารถกลับมาหาลูกหลานเพื่อรับกุศลผลบุญได้ โดยจะมียมบาลคอยตรวจรายชื่อวิญญาณเพื่อส่งขึ้นสวรรค์ นอกจากนี้ชาวจีนยังรู้สึกสงสารวิญญาณเร่ร่อน จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ด้วย
จากวิกิพีเดียสารานุกรมสาธารณะระบุถึงอีกตำนานคือเล่าว่า แม่ของมู่เหลียนชายผู้เคร่งครัดในพระพุทธศาสนา (พระมหาโมคคัลลานะ) ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ในช่วงเวลากินเจจึงเชิญผู้ถือศีลมากินอาหารที่บ้านหนึ่งมื้อ โดยแกล้งใส่น้ำมันหมูลงในน้ำแกง การกระทำครั้งนี้เป็นกรรมที่ทำให้นางต้องตกนรกขุมที่ลึกที่สุด ได้รับความทุกข์ทรมาน แม้ว่ามู่เหลียนจะขอรับโทษแทน แต่พระพุทธเจ้าได้โปรดว่ากรรมที่ใครก่อ ย่อมเป็นของผู้นั้น และได้มอบคัมภีร์ให้ท่องเพื่อเรียกเซียนจากทุกสารทิศมาช่วยให้มารดาหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน และมู่เหลียนจะต้องถวายอาหารแก่เหล่าเซียนทุกปี เพื่อเป็นการตอบแทน
คาดว่าการไหว้สารทจีนเป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อนที่ต้องการให้ลูกหลานมีความสามัคคีกัน และได้รำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนที่มาของการไหว้สารทจีนที่สามารถอ้างอิงได้มาจากเว็บไซต์สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงพิธีการไหว้สารทจีน ดังนี้
...
ที่มาของอาหารคาวที่ใช้ไหว้สารทจีน
ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมใช้เป็ดไก่ทั้งตัวมาไหว้สารทต่างๆ โดยใช้ทั้งตัว หรือผ่าเอาเครื่องในออก เมื่อไหว้เสร็จค่อยมาสับแยกภายหลัง และเลือกตัวที่สมบูรณ์ที่สุด ไม่มีลักษณะลำตัวบิดเบี้ยว หรือแตกหัก และนิยมใช้ของคาว 5 อย่าง เรียกว่า โหง้วแซ ดังนี้
1. ไก่ มีความหมายแสดงถึงความก้าวหน้า
2. เป็ด หมายถึงความสมบูรณ์
3. หมูพะโล้ หมายถึงความมีกินมีใช้
4. กุ้ง หมายถึง โชคลาภ
5. ปลา หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์เพื่อให้ลูกหลานมีอันจะกิน
ที่มาของการใช้ขนมเข่ง ขนมเทียน ไหว้สารทจีน
มีตำนานเล่าว่า เพื่อปิดปาดเทพเจ้าจีนที่ต้องขึ้นไปถวายรายงานความดีความชั่วของมนุษย์แก่เง็กเซียนฮ่องเต้ มีมนุษย์คิดทำขนมเข่งขึ้นมาเพื่อเซ่นไหว้เทพเจ้าองค์นี้ เผื่อว่าเมื่อเคี้ยวแล้วจะพูดไม่ถนัด เพราะลักษณะของขนมเข่งทำมาจากแป้งที่เหนียวหนืด
แต่อีกนัยหนึ่งคือ ขนมเข่งเป็นการแปรรูปอาหารให้เก็บได้นาน เป็นเสบียงที่คนจีนใช้พกพามาขณะอพยพมาประเทศไทย การไหว้ขนมเข่งจึงเป็นการระลึกถึงช่วงเวลาที่บรรพบุรุษเคยใช้ชีวิตยากลำบาก ชาวไทยเชื้อสายจีนจึงนิยมนำมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษช่วงวันตรุษจีนและสารทจีน
ขั้นตอนการไหว้สารทจีน
อาหารไหว้สารทจีนจะถูกจัดเป็น 3 ชุด คือ ชุดอาหารสำหรับไหว้เจ้าที่, ชุดอาหารไหว้บรรพบุรุษ และชุดอาหารไหว้สัมภเวสี
- ช่วงเช้าจะเป็นการตั้งโต๊ะจัดอาหารไหว้สารทจีนแก่เจ้าที่ ลูกหลานจะนำชุดอาหารที่จัดไว้ไปตั้งไว้ที่ศาลเจ้าที่ พร้อมกับตั้งชุดไหว้บรรพบุรุษของครอบครัวที่บ้านใดบ้านหนึ่งเป็นหลัก และลูกสาวที่แต่งงานออกไปแล้วก็ต้องกลับมาไหว้ที่บ้านเดิมของตน
- ช่วงบ่าย เป็นการเซ่นไหว้สัมภเวสี ผีไม่มีญาติ แต่หากจัดไหว้พร้อมกันในช่วงเช้าก็ได้
1. ชุดไหว้เจ้าที่
ตั้งอาหารไหว้คาวหวาน ใช้ขนมถ้วยฟู กุ้ยช่าย ที่แต้มจุดสีแดง และขนมเข่ง ขนมเทียน รวมถึงผลไม้ น้ำชา เหล้าจีน กระดาษเงิน กระดาษทอง
2. ชุดไหว้บรรพบุรุษ
อาหารไหว้บรรพบุรุษสารทจีน ใช้กับข้าวเป็นของคาว ของหวาน และน้ำชา และต้องมีน้ำแกงหรือขนมที่มีน้ำใสๆ วิธีการตั้งคือ วางชามข้าวสวยไว้ด้านหน้า วางช้อนตะเกียบไว้ข้างชาม ถัดมาจัดวางอาหารไว้กลางโต๊ะไหว้ รวมถึงผลไม้ และขนมต่างๆ ส่วนกระดาษเงินกระดาษทอง วางถัดต่อมาจากอาหาร
...
3. ชุดไหว้ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ หรือผีไม่มีญาติ
พิธีไหว้สัมภเวสี ชาวจีนจะตั้งของไหว้ไว้นอกบ้าน แตกต่างกันตรงที่อาจมีอาหารแบบพิเศษที่เรียกว่า คอปึ่ง และกระดาษเงินกระดาษทองสำหรับไว้วิญญาณพเนจรโดยเฉพาะ.
อ่านเพิ่มเติม :