การเจ็บไข้ได้ป่วย หรือโรคต่างๆที่รุมเร้าเข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่มีสาเหตุและต้นเหตุมาจากสุขลักษณะนิสัยส่วนบุคคล การกินอยู่ หลับนอน รวมถึงสภาพแวดล้อมที่จะส่งผลกระตุ้นให้เกิดโรคร้ายหลายชนิด

ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ ทั้งเรื่องงบประมาณด้านการสาธารณสุข การศึกษาที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องขบคิดและหาวิธีป้องกัน ถ้าหากป้องกันไม่ได้ก็ควรให้ความรู้เพิ่มเติม

อาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายในการนำไปเสริมสร้างการเจริญ เติบโต และในทางกลับกันอาหารก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่เข้ามากระตุ้นทำให้เกิดโรค ทั้งการมีเชื้อแบคทีเรีย เชื้อจุลินทรีย์ หรือสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร

นอกจากนี้ ยังมีวัตถุเจือปนในอาหารบางชนิดที่หากมีอยู่ในร่างกายในปริมาณมาก จะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว เช่น โซเดียม โซเดียมคือ เกลือแร่ (สารอาหาร) ชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย

โดยโซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย) ตลอดจนการดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไต และลำไส้เล็ก

โซเดียมที่เราบริโภคกันเป็นประจำก็คือ โซเดียมที่อยู่ในรูปของ “เกลือแกง” และน้ำปลา ซึ่งมีรสเค็ม อาหารทุกชนิดมีส่วนประกอบของโซเดียม ในปริมาณที่ต่างกัน แบบปรุงสำเร็จก็จะมีปริมาณบอก แต่ถ้าเป็นอาหารแบบที่ต้องเติมรสชาติตามความต้องการก็จะเพิ่มปริมาณเข้าไปอีก

เรากินอาหาร 3 มื้อ เติมทุกมื้อ ปริมาณของโซเดียมในร่างกาย ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ข้อมูลสำคัญคือ ปริมาณโซเดียมที่ร่างกายต้องการคือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่าเพียงเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 4–5 ช้อนชาเท่านั้น

...

เกินกว่านี้ หากร่างกายขับออกไม่หมดหรือสะสมในร่างกายนาน จะส่งผลให้เกิดโรคต่างๆตามมา ทั้งไต หัวใจ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

วันนี้สถาบันอาหารจึงทำการสุ่มตัวอย่างอาหารใกล้ตัว เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปริมาณของโซเดียมที่มีผสมอยู่ในซอสพริกและซอสมะเขือเทศ

ผลที่ได้น่าตกใจมาก เพราะทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมใน ปริมาณสูง หากหลีกเลี่ยงที่จะรับประทานไม่ได้ ควรรับประทานแต่น้อย หรือรับประทานอาหารชนิดอื่นแทน.