เสาชิงช้า เป็นสิ่งก่อสร้างที่อยู่คู่เกาะรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่สร้างเมือง แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป ผู้คนก็ยังแวะเวียนมาที่ย่านเสาชิงช้า ทั้งการติดต่อราชการกับศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หรือไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองตั้งแต่ถนนดินสอมาถึงวัดสุทัศน์

เสาชิงช้าสมัยก่อน

เสาชิงช้า ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่ในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้าเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย หรือพิธีโล้ชิงช้า ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพระนคร และเป็นการแสดงความกตัญญูต่อเทพ 3 องค์ ได้แก่ พระอิศวร พระพิฆเณศวร และพระนารายณ์

ประวัติเสาชิงช้าเป็นสิ่งก่อสร้างสมัยยุคต้นรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2327 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตามคติความเชื่อแบบพราหมณ์ เสาชิงช้าสร้างขึ้นบนพื้นที่สะดือเมือง เป็นศูนย์กลางของพระนคร โดยวัดจากกำแพงเมืองด้านแม่น้ำเจ้าพระยาตะวันตกถึงป้อมมหากาฬ

เสาชิงช้าตั้งอยู่บนฐานปูนสูงเป็นวงกลม เสาไม้สูงใหญ่ประดับด้วยแผ่นไม้ฉลุที่ฐานเสาทั้ง 2 ข้าง มีเสาตะเกียบปลายเป็นรูปทรงมัณฑ์ขนาบข้างละ 2 ต้น ทาด้วยสีแดงชาด

...

เสาชิงช้าที่ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์ ณ ปัจจุบันเป็นเสาต้นใหม่เป็นไม้สักทองเมืองแพร่ผ่านพิธีสมโภชน์ เมื่อวันที่ 11 - 13 กันยายน พ.ศ. 2550 เนื่องจากเสาต้นเก่าชำรุดทรุดโทรม ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นครั้งที่ 4

เนื่องจากเสาชิงช้าเป็นสิ่งก่อสร้างสูงย่านพระนคร จึงต้องติดตั้งสายล่อฟ้าไว้บนกระจังด้านบนลงดิน เพื่อป้องกันความเสียหาย กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ปัจจุบันมีอายุ 238 ปี

เสาชิงช้าทำไมต้องใช้ “ไม้สักทอง”

เสาชิงช้านอกจากจะเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ยังเป็นเทวสถานที่มีความเชื่อตามคติแบบพราหมณ์ ดังนั้นการซ่อมแซม ทำนุบำรุง จะต้องดำเนินตามความเชื่อ จึงใช้ไม้สักทองต้นใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นไม้ที่มีความแข็งแรง ลักษณะของไม้ที่นำมาทำเสาชิงช้าได้จะต้องมีเส้นรอบวงขนาดโคนไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร ยอดมีเส้นรอบวงไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร และสูงไม่ต่ำกว่า 20 เมตร

การสำรวจไม้สักทองต้องได้รับการตรวจสอบความแข็งแรงและเหมาะสม ทั้งไม้ที่นำมาทำเสาตะเกียบ และไม้ตะเกียบพยุง เพื่อใช้ในพระราชพิธีตรียัมปวาย

พระราชพิธีตรียัมปวาย เสาชิงช้า

พระราชพิธีตรียัมปวาย หรือพิธีโล้ชิงช้า เป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพื่อต้อนรับการแสดงเสด็จมาเยือนโลกมนุษย์ของพระอิศวร นับเป็นศักราชใหม่ของพราหมณ์

ความเชื่อของพิธีตรียัมปวาย จำลองมาจากตำนานที่กล่าวถึงพระอุมาเทวีที่พนันกับพระอิศวร เกี่ยวกับการวิบัติของโลก โดยให้พญานาคแกว่งตัวให้พระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง หากพญานาคไกวตัวแล้วพระบาทพระอิศวรไม่ตกลงมาถือว่าโลกนั้นยังมั่นคงแข็งแรง

พิธีกรรมโล้ชิงช้านี้มีลักษณะหวาดเสียว จึงถูกยกเลิกไปตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)

เสาชิงช้า 5 ที่เที่ยวที่ไม่ควรพลาด

เสาชิงช้าเป็นสถานที่ยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวกรุงเทพฯ เพื่อมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และถ่ายรูปเช็กอินสวยๆ ในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตของชุมชนเก่าแก่ย่านถนนดินสอ ถนนมหรรณพ

  • เทวสถานโบสถ์พราหมณ์

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เป็นอาคารโบราณประดิษฐานเทวรูปพระพรหม ตั้งอยู่กลางบ่อน้ำ มีอาคารทรงไทย 3 หลัง เป็นเทวสถานของพระอิศวร, พระพิฆเนศ และ พระนารายณ์ โดยมีแผ่นป้ายแสดงลำดับการเข้าสักการะเพื่อขอพรจากเทพเจ้า รวมถึงข้อห้ามและข้อปฏิบัติ

  • วัดสุทัศนเทพวราราม

วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2350 เดิมเรียกว่าวัดเสาชิงช้า ประดิษฐานองค์พระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ นามคล้องกันว่า "พระศรีศากยมุนี", "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี"

  • วัดมหรรณพารามวรวิหาร

...

วัดมหรรณพารามวรวิหาร สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 โดยกรมหมื่นอุดมรัตนราษี หรือพระองค์เจ้าอรรณพ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 ตามความเชื่อพุทธศาสนิกชนที่นิยมสร้างวัดในพระนครช่วงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เป็้นวัดที่น่าสนใจคือสร้างโดยสถาปัตยกรรมแบบไทยจีน ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อสุโขทัย นามพระร่วงทองคำ

  • ชุมชนเสาชิงช้า

ชุมชนเสาชิงช้า ตั้งอยู่รอบพื้นที่เสาชิงช้า ประกอบด้วยบ้านเรือนของผู้ที่อยู่อาศัยสืบทอดกันมาตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยบางหลังยังคงศิลปะแบบโบราณ ตั้งเป็นร้านค้า คาเฟ่ ที่น่าสนใจ ถ้าแวะมาย่านเสาชิงช้าอย่าลืมเดินเข้าไปชม

  • ศาลเจ้าพ่อเสือ

ศาลเจ้าพ่อเสือ สร้างขึ้นตามความเชื่อการตั้งศาลของชาวไทยเชื้อสายจีน ประดิษฐานเทพเจ้า เสียนเทียนซั่งตี้ และรูปเคารพของเทพเจ้ากวนอู และเจ้าแม่ทับทิม ตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีนมักจะมาแก้ชงตามปีเกิด

เสาชิงช้า ร้านอาหาร ของกินอร่อยๆ

ร้านอาหารย่านเสาชิงช้า มีให้เลือกทั้งอาหารจานหลัก เครื่องดื่ม และบรรยากาศคาเฟ่ให้ทุกคนได้มาแวะเวียนพักผ่อนถ่ายรูปเช็กอินสวยๆ หลังจากเดินไหว้พระ เที่ยวชมสถาปัตยกรรมของชุมชนย่านเสาชิงช้า ร้านอาหารย่านเสาชิงช้า อาทิ

...

  • ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยตาชัย 119/1 ถนนบำรุงเมือง
  • ร้านอาหารนายอ้วนเย็นตาโฟ 41 ซอยนาวา
  • ภัตตาคาร ย่งฮั้ว 101 ถนนศิริพงษ์
  • ร้านอาหารจิตเตาถ่าน ผัดไทย 69 ถนนมหรรณพ
  • บ้านผัดไทย 105 ถนนมหรรณพ
  • ร้านอาหารนิยมโภชนา 109 ถนนมหรรณพ
  • ร้านแซ่พุ้น ข้าวหน้าไก่ 80 ปี 112 ถนนมหรรณพ
  • ร้านอาหารศิริพร โภชนา 152 ถนนมหรรณพ
  • ร้านอิ่มอร่อย 189 ถนนมหรรณพ
  • ร้านขนมปังขิง 47 ถนนดินสอ
  • ข้าวหมูแดงนายชุน 142 ถนนดินสอ
  • ร้านอาหารอร่อย 152 ถนนดินสอ
  • มนต์นมสด 160 ถนนดินสอ
  • ครัวอัปษร 169 ถนนดินสอ
  • ร้านอาหารมิตรโกหย่วน 186 ถนนดินสอ
  • ร้านอาหารครัวตรอกจันทน์ 212 ถนนดินสอ

เสาชิงช้า จอดรถที่ไหน

การเดินทางมายังเสาชิงช้า สามารถเดินทางได้โดยรถยนต์ส่วนตัว รถไฟฟ้าใต้ดินลงสถานีสนามไชย รถประจำทางสาย 12, 24 หรือรถปรับอากาศสาย 12 จอดรถยนต์ส่วนตัวได้ที่ถนนรอบวัดสุทัศน์ ถนนดินสอ และลานจอดเอกชนใกล้เคียง โดยสังเกตป้ายรับฝากรถ และป้ายจอดรถวันคู่ วันคี่

...

ที่ตั้ง : หน้าวัดสุทัศน์ฯ ถนนบำรุงเมือง แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ

แนะนำกิจกรรมน่าสนใจใน "กรุงเทพ"