หากใช้หลักเซียนวงการ ดูพิมพ์ไว้ก่อน ถ้าพิมพ์ใช่ ค่อยๆพิจารณา “เนื้อ” พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่องค์ในคอลัมน์วันนี้ ก็ต้องถือว่า “ผิดพิมพ์” เหตุเพราะ ติดพิมพ์ลึก คม นูนเด่น “เกิน” ไปทุกเส้นสาย

ตำแหน่งที่ดูว่าเกิน...แถบสังฆาฏิหนาปื้นใหญ่ เส้นขอบจีวรเป็นเส้นตรง แต่ไม่ยาวเรียวอ่อนช้อนเข้าหารักแร้...เหมือนเส้นขอบจีวรพิมพ์ทรงเจดีย์องค์เจ๊แจ๋ว

นี่คือเป็นประเด็นสำคัญที่จะถกแถลงกันในวันนี้ ตำแหน่งที่ดูว่าติดเกินมานี้เป็นเส้นสายแม่พิมพ์เดิมๆควรจะดูไว้เป็นองค์ครู เทียบเคียงองค์ที่อาจจะเจอะเจอต่อไป

หรือตัดบทไปเลยเป็นพระเก๊

ทิ้งประเด็น “คาใจ” กันไว้...ขอผ่านเลย ไปพูดถึงเส้นสายอื่น...ในองค์พระ ที่ติดมาเต็มๆ เหมือนกัน

ดูเผินๆ พระเพลาซ้าย ส่วนที่จับต้องเห็นเป็นสีขาวขุ่น ตัดผิวผ้าพื้นผนังสีเหลืองคล้ำ เริ่มจาก “ปมนูนหนา” ตามสูตรพิมพ์ใหญ่วัดระฆัง ค่อยๆลาดลงไปจนถึงปลายพระบาท...ใช้ภาษาชาวบ้านเห็นข้อเท้าไปถึงปลายเท้า แบบไม่ต้อง “มโน” ช่วย

ตำแหน่งเกินนูนเด่น ที่สามคือ ฐานชั้นที่ 3 เส้นลวดกันลายบนและล่างสีขาว แยกออกจากร่องกลางฝ้าเหลือง

ดูรวมๆสามตำแหน่งที่ดูเหมือนเกินนี้ เก้งก้างไม่ค่อยกลมกลืน แต่ก็บังเอิญเข้าเป็นเค้าโครงเดียวกับเส้นซุ้ม ที่พูดๆกันติดปากว่าเหมือน “หวายผ่าซีก”

หรือจะเหลือบตาดูเส้นกรอบกระจกบน และขวาซ้ายเข้าเป็นองค์รวมเดียวกัน...ก็ไม่ว่ากัน

ในทุกตำแหน่งที่ไม่ว่าจะดูให้เก้งก้างขัดตาหรือดูให้กลมกลืน นี่คือสภาพของพิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์มาตรฐานพิมพ์หนึ่ง...ที่เห็นๆกันเจนตา แต่องค์นี้ท่านบังเอิญติดพิมพ์ลึกเกินหน้าเกินตา ...และถูกจับต้องน้อยกว่า

...

นึกถึงพิมพ์ใหญ่องค์ดังๆสักองค์ องค์ “เสี่ยหน่ำ” เส้นสายลายพิมพ์พอไปกันได้

ย้อนไปหาวิชา จากตำราครู “ตรียัมปวาย”... อธิบายตำแหน่งที่ดูว่าเกินไว้ ในหัวข้อ พระอังสา

พิมพ์ทรงนี้ มีช่วงพระอังสากว้าง และงามสง่ายิ่งกว่าพิมพ์ทรงอื่นๆ

สำหรับองค์ที่สมบูรณ์ชัดเจน จะเห็นแนวพระอังสาเป็นลอนขึ้นมารางๆและวาดเว้าในลักษณะปีกกา (แนวพระอังสา ก็แนวขอบจีวร นั่นล่ะ) อันมีส่วนลึกพอสังเขปที่แสดงส่วนของพระรากขวัญ (ไหปลาร้า) ซึ่งวาดโค้งกลมกลืนลงมาต่อเข้ากับลำพระพาหาทั้งสอง

หัวข้อ ลำพระองค์ หมายรวมถึงพระอุระ (อก) พระกฤษฎี (เอว) พระอุทร (ท้อง)...องค์ที่ชัดเจนจะปรากฏพระสังฆาฏิเป็นเส้นทิวนูนรางๆยาวทอดไปตามลำแนวพระองค์ ลักษณะโค้งน้อยๆ บริเวณใกล้ขอบพระปรัศว์ (สีข้าง) ซ้าย

และเส้นขอบจีวรเป็นทิวนูนรางๆพาดเฉียงจากพระอังสาซ้าย ผ่านพระอุระไปจรดพระกัจฉะ (รักแร้) ขวา ลักษณะเป็นแนวโค้งหลังเต่าน้อยๆ (ต่างจากสังฆาฏิพระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิ ซึ่งเป็นแนวโค้งกระทะหงาย)

เอาหลักครูข้อนี้ ไปเทียบเคียงกับเส้นขอบจีวรองค์ในคอลัมน์ ที่ดูเป็นเส้นตรง แม้ไม่ตรงคำครู แต่ก็ถือว่าเหลื่อมซ้อนกันบ้างไม่มาก

คำอธิบายครูข้อนี้ ช่วยชี้ให้เห็นว่า เส้นขอบจีวรพิมพ์ใหญ่วัดระฆัง ที่ดูจะไม่เคยเห็นกัน หรือเห็นกันแล้ว“เมิน”นั้น รุ่นครูท่านก็เห็นมาก่อนแล้ว

ทั้งยังเมตตาเขียนไว้ เป็นแนวทางให้คนรักพระสมเด็จรุ่นหลังๆ ไม่“หลงเพลิน” ดุ่มเดินเกินเลยจนผิดทิศผิดทาง

ข้อแนะนำ...พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่สภาพที่ดูว่าผิดพิมพ์นี้ ผมว่าเซียนวงการเมิน หากดูเนื้อหาและธรรมชาติว่าใช่...ก็ไม่ควรจ่ายแพง พระสภาพนี้มีไว้สำหรับคนเป็นพระที่แน่ใจสายตาหาไว้ขึ้นคอคุ้มตัว.

พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม