ว่ากันด้วยแม่พิมพ์ พระสมเด็จองค์ในคอลัมน์ องค์พระรักษารูปทรงกรวยชะลูด ครูตรียัมปวายบอกว่า นี่คือรูปทรงของเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ สมัยสุโขทัย ประทับนั่งบนฐานแบบคมขวาน ฐานสิงห์สามชั้น มีเส้นแซมอีกสองเส้นชัดเจน มองไปที่พระพักตร์ติดพระกรรณคมกริบสองเส้น นี่คือพระสมเด็จที่คนโบราณเรียกขาน อกร่องหูยานฐานแซม

รวมกับเนื้อหาหนั่นแน่นละเอียดขาว สีนมข้น ไม่ปรากฏร่องรอยสัมผัสสึกช้ำ ฝ้าผิวนุ่มที่ปรากฏไม่ส่อเค้าว่าเป็นพระเข้ากรุ จึงพอสรุปได้ไม่ยากเกินไป องค์นี้เป็นพระสมเด็จวัดระฆัง

นี่แค่เป็นข้อสรุปขั้นประมาณการ สภาพพระดิบๆเดิมๆ ทั้งเนื้อออกไปทางแกร่ง ระดับความหนึก ความนุ่มน้อย จึงน่าจะตั้งหลัก ค่อยๆพิจารณากันอย่างละเอียดลออ และใส่คะแนนไปตามลำดับขั้น

เริ่มกันที่แม่พิมพ์ ...“ตรียัมปวาย” จำแนกพิมพ์ฐานไว้ 8 แม่พิมพ์ 6 แม่พิมพ์แรก พิมพ์เขื่อง พิมพ์โปร่ง พิมพ์ชะลูด พิมพ์ป้อม พิมพ์สันทัด พิมพ์ย่อม

2 แม่พิมพ์ต่อมา ช่างแกะแตกหน่อต่อยอดให้เส้นสายลายพิมพ์เล็กเรียวบาง...พิมพ์อกร่องหูยานฐานเส้น และพิมพ์อกร่องหูยานฐานบาง...มีเฉพาะพระที่ได้จากกรุบางขุนพรหม

องค์ในคอลัมน์จำแนกได้ว่า เป็นวัดระฆัง...ดูองค์จริงจากเส้นสายลายพิมพ์ และขนาด น่าจะจัดท่านไว้ในพิมพ์ย่อม ซึ่งมีข้อแตกต่างจากห้าพิมพ์ต้นๆ

พิมพ์นี้มีเส้นกรอบกระจกด้านซ้าย ที่วางระยะช่องไฟห่างจากเส้นซุ้มน้อยกว่าพิมพ์อื่นๆ

บางผู้รู้อาจคุ้นตากับเส้นกรอบกระจกซ้าย...ที่วางระยะห่างจนด้านเบนเบนออก เส้นซุ้มพิมพ์ฐานแซมส่วนที่หักโค้งเข้าหาครึ่งวงกลมจะดูอ้วน...คนตัดกรอบตามเส้นกรอบกระจกตามถนัด จึงปรากฏเนื้อส่วนบนพิมพ์ฐานแซมผายออกกว้างกว่าด้านล่าง

แต่ก็มีบางพิมพ์ที่ผมว่าน่าจะเป็นพิมพ์ย่อม ที่เส้นกรอบกระจกด้านซ้าย ระยะห่างจากเส้นซุ้มน้อย คนที่ตัดก็ประคองมือตัดขนานตาม จึงทำให้เป็นพิมพ์ฐานแซมส่วนน้อย ที่ด้านบนไม่กว้างกว่าด้านล่าง

...

พระสมเด็จพิมพ์ฐานแซมองค์ในคอลัมน์วันนี้ จึงถือเป็นองค์ส่วนน้อยที่ปรากฏข้อแตกต่างจากฐานแซมทั่วไป

เมื่อเห็นพิมพ์ฐานองค์ที่มีเส้นกรอบกระจกติดครบ และชัดสี่ด้าน ข้อดีก็คือ ได้ถือเป็นองค์ครู

เปิดหนังสือพระเครื่องมาตรฐานวงการ... หาองค์เทียบเอาไว้...ก็พอมีให้เทียบหลายองค์

ผ่านประเด็นเส้นกรอบกระจก จากเส้นสายลายพิมพ์หน้ามาดูด้านหลัง...หลังฐานแซมองค์นี้แปลกตา รวมเอาสัญลักษณ์หลังวัดระฆังแท้หลายข้อเอาไว้ บางส่วนเกิดรอย เหนอะแบบรอยย่นตะไคร่น้ำผสมบางส่วนแบบสังขยา

ขอบสี่ด้านปรากฏรอยปริร่อย แบบเดิมๆจากแม่พิมพ์เอาไว้

ถ้าใช้หลักให้คะแนน หลังแบบนี้เป็นหลังสมเด็จวัดระฆัง...คุณสมบัติเด่นด้านหลัง จึงช่วยเติมสภาพแม่พิมพ์ เนื้อและผิวที่ดิบๆ เดิมๆด้านหน้า ตัดสินใจได้ว่าเป็นสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแท้ที่ดูได้ด้วยสายตา

นานๆทีลองใช้ทฤษฎีหูฟังพระช่วยบ้าง...องค์นี้เป็นมรดกตกทอดของคนสกุลสมเด็จเจ้าพระยา แล้วก็มาในตลับทองคำฝังเพชร...ยกขึ้นส่องแว่นประกายแสงวูบวาบจากเพชรกระทบตา...

คะแนนพระที่ตั้งใจให้เฉียดร้อย ก็จึงต้องเติมให้เต็มร้อยได้พอดีตอนมึนๆ นี่เอง.

พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม