หากจะเอ่ยคำว่า พระปิดตา หลวงพ่อเอี่ยม (พระภาวนาโกศลเถระ) วัดหนัง พิมพ์ยันต์ยุ่ง เนื้อตะกั่ว ถ้าไม่ใช่ผู้รู้จริง คงมีคำถาม มีจริงหรือ และเป็นพระแท้แน่หรือ
เท่าที่เห็นตีพิมพ์ในหนังสือมาตรฐานวงการ เนื้อตะกั่ว วัดหนังที่เห็นคุ้นตา มีพิมพ์นะหัวเข่า พิมพ์ข้าวตอกแตก พิมพ์สังฆาฏิ ฯลฯ ส่วนพิมพ์ยันต์ยุ่งนั้น เห็นแต่เนื้อสำริด หรือเนื้อโลหะผสม
วัดหนังพิมพ์ยันต์ยุ่ง เนื้อสำริด อาจารย์ชื้น วัดมหรรณพ์ (ช.อิสรรานนท์) ให้ความรู้ไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยาชลประทานธนารักษ์ พ.ศ.2515 ว่า สร้างด้วยเนื้อปัญจโลหะ ทองแดง ทองเหลือง เงิน ดีบุก
ส่วนผสมอย่างไหนมากน้อยกว่ากันอย่างไรไม่ทราบ ทราบแต่ว่าถ้าแก่เงินปรอท เนื้อกลับสีค่อนข้างขาว ถ้าเพิ่มชินหรือมีส่วนเข้าตะกั่ว เนื้อจะคล้ายเนื้อชินสีเทาดำปนกัน ถ้าแก่ทองแดงเงิน เนื้อกลับสีค่อนข้างดำสวย ผิวงาม
ลวดลายของยันต์ คล้ายๆกันทุกองค์ ไม่มียันต์มีเหมือนกัน แต่น้อยองค์
สำหรับขนาด อาจารย์ชื้นบอกว่า...มีเล็กมีใหญ่ต่างๆกันไป
รูปร่างพระปิดตาวัดหนังมีหลายแบบปิดตาอย่างเดียวก็มี ทำครึ่งซีกหรือสองหน้าก็มี ทุกๆองค์มียันต์เส้นเล็กพอควรเป็นลวดลายเป็นยันต์ทั้งหมด ก็มี
แต่ที่เป็นเครื่องหมายระบุยี่ห้อปิดตาวัดหนัง คือมีอักขระตัวขอมที่หัวเข่าสองข้าง
มีแปดพระหัตถ์ หรือสี่คู่ ปิดพระเนตรสอง ปิดพระกรรณสอง ปิดพระนาภีสอง ปิดทวารเบื้องล่างสอง
ส่วนที่ปิดทวารเบื้องล่างหรือปิดก้นนั้น พระหัตถ์ทั้งสองข้างปิดพาดข้ามพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ล้วงงอพระดรรชนี (นิ้ว) ลงไปปิดพระทวารเบื้องล่าง
ชุดความรู้เรื่องพระปิดตายันต์ยุ่งวัดหนัง...มีให้เห็นเป็นเค้ารวมๆ ดูจะเท่านี้
...
แตกต่างจากพระปิดตายันต์ยุ่งของหลวงพ่อทับ วัดทอง ที่ “ตรียัมปวาย” ค้นคว้ามาเขียนไว้ในนิตยสารพระเครื่องยุคแรกๆ และมีผู้ลักลอบเอามาพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ข้อดีที่ทำให้ความรู้เรื่องการหล่อพระปิดตายันต์ยุ่ง แพร่หลาย
ในขณะที่ความรู้เรื่องพระปิดตายันต์ยุ่ง วัดหนัง จำกัดไว้ในหมู่ผู้สนใจจำนวนน้อย
ในหนังสือพระเครื่องยุคหลังบอกไว้ว่า ตอนหลวงพ่อจะสร้างเขื่อนหน้าวัดหนัง ท่านทำพระปิดตาเต็มเจ็ดพานไว้แจกคนทำบุญ แต่ไม่จำแนกแยกแยะว่าเป็นพิมพ์ไหน เนื้ออะไร
นอกจากพระชัยวัฒน์รุ่นสร้างเขื่อน ก้นอุดชันโรงแล้ว เรื่องพระปิดตา ก็ไม่มีรายละเอียดว่า มีพระปิดตาพิมพ์ไหน เนื้ออะไร โดยเฉพาะพิมพ์ยันต์ยุ่ง เนื้อสำริด ไม่พูดถึงไว้เลย
ตามประวัติหลวงพ่อเอี่ยมเป็นศิษย์หลวงปู่รอด วัดโคนอน ระหว่าง พ.ศ.2410-2413 เมื่อหลวงปู่รอดมรณภาพก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอน พ.ศ.2441 สมัย ร.5 เป็นเจ้าอาวาสวัดหนังได้ 28 ปี จึงมรณภาพ
เล่ากันต่อๆมาว่า หลวงปู่เอี่ยมสร้างพระปิดตา ตั้งแต่อยู่วัดโคนอน ต่อเนื่องมาอยู่วัดหนัง
จึงประมาณการเชื่อมโยงกันว่า เมื่อมีพระปิดตายันต์ยุ่งเนื้อสำริดเป็นแบบอย่างและเมื่อหลวงพ่อสร้างพระปิดตาเนื้อตะกั่วแบบหน้าเดียวไว้หลายพิมพ์ เช่น พิมพ์นะหัวเข่า พิมพ์ข้าวตอกแตก พิมพ์สังฆาฏิ ฯลฯ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ท่านจะสร้างพระปิดตายันต์ยุ่ง เนื้อตะกั่วไว้ด้วย
แต่คงสร้างจำนวนน้อยมาก
ในหนังสือสุดยอดพระปิดตาเมืองสยาม ที่จัดพิมพ์โดยหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก แจกเป็นรางวัลงานประกวดพระเครื่องที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า 5 เมษายน พ.ศ.2552 ถือเป็นหนังสือมาตรฐานวงการ ตีพิมพ์พระปิดตายันต์ยุ่ง เนื้อตะกั่วไว้สามองค์
ทุกองค์คล้ายกันแน่นอน ยันต์ไม่เหมือนกัน
พระปิดตายันต์ยุ่ง เนื้อตะกั่ว องค์ในคอลัมน์วันนี้ สภาพของพระสมบูรณ์ เรียบร้อย เทียบเคียงกันได้ ไม่แพ้กันเลย ใครที่เป็นเจ้าของถือได้ว่าเป็นคนมีวาสนาบารมีมากทีเดียว.
พลายชุมพล