ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “รัชกาลที่ 9” ซึ่งทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร จนเกิดโครงการมากมายจากพระราชดำริที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศได้ทุกภาคส่วน ชมรมภูมิพลังแผ่นดิน แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดกิจกรรม เรื่องเล่า ร.9 น้อมเกล้าภักดี โดยมีศิษย์เก่าภูมิพลังแผ่นดินทั้ง 5 รุ่นมาร่วมงาน บริเวณสนามหน้าตึกสวยโก้โบราณ ธนาคารไทยพาณิชย์ ตลาดน้อย พร้อมฟังเรื่องราว น้ำพระทัยของรัชกาลที่ 9 จากผู้ที่เคยถวายงานใกล้ชิด โดยมี ม.ร.ว.อุษณิษา สุขสวัสดิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการหนึ่งในผู้ได้รับเชิญ
...
ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ เล่าว่า รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้พระราชธิดาพระราชโอรสได้ไปโรงเรียน มีเพื่อน เมื่อ “ทูลกระหม่อมอุบลรัตนฯ” ประสูติ จึงเปิดโรงเรียนที่พระที่นั่งอัมพรฯ ซึ่งมีนักเรียนเพียง 6 คน เมื่อเด็กมากขึ้น จึงขยายไปจิตรลดา ทรงใส่พระทัยกับการเรียนของเด็กๆ อ่านสมุดพกของ “ลูกท่าน” และเด็กอื่นๆ ดูคะแนนแต่ละวิชา ถ้าไม่ดีเหมือนเทอมก่อน ก็จะทรงถามว่าเกิดอะไร เด็กไม่ตั้งใจเรียน หรือครูสอนไม่ดี ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบครูไปด้วย และทรงวางระบบให้โรงเรียนจิตรลดา มีระบบการเรียนการสอนแบบองค์รวม โดยให้นักเรียนปลูกผักสวนครัวในโรงเรียน และนำผักไปให้โรงครัวปรุงอาหาร และทรงย้ำว่าห้ามโรงเรียนเอื้อสิทธิพิเศษให้ลูกท่าน ถ้าทำผิดก็ต้องถูกทำโทษ ครั้งหนึ่ง “ทูลกระหม่อม อุบลรัตนฯ” หนีโรงเรียน ก็ทรงขับรถไปตามและนำตัวกลับมาส่งโรงเรียนเอง ให้ขอโทษครูและลงโทษตามระเบียบ
ส่วน พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เล่าว่า ได้มาทำงานเพื่อช่วยเกษตรกรและจะได้แก้ปัญหาการถางป่าปลูกฝิ่นด้วย โดยต้องหาอาชีพยั่งยืนให้เกษตรกรเลี้ยงตัวได้ แบบธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งใหม่ๆก็ขาดทุนก็ค่อยๆปรับ นำผลผลิตไปแปรรูป ทำผลไม้แห้ง น้ำผลไม้ ลองผิดลองถูก เรียนรู้จนเกิดแบรนด์ดอยคำ ซึ่ง ใหม่ๆคนคงซื้อเพราะสงสาร จนวันนี้เห็นคุณภาพเป็นที่ยอมรับ “พระองค์ทรงทราบว่าขาดทุน แต่รับสั่งว่า ขาดทุนไม่ใช่เรื่องเสียหาย อย่าไปคิดว่า ขาดทุนแล้วไม่ดี เพราะที่จริงเป็นกำไร คือบริษัทขาดทุนการเงิน แต่มีกำไรในแง่อื่น คือช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ มีชีวิตดีขึ้น”
ปิดท้าย ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน อายุ 83 ปี ที่ยังจดจำทุกเรื่องตอนตามเสด็จฯทรงงาน เล่าว่า เวลาท่านแปรพระราชฐานไปแต่ละภาค ปีละ 6-7 เดือน จะทรงงานตลอด โดยดูจากฎีกาชาวบ้านแล้วนำมาประมวล อย่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทรงเรียกผู้เกี่ยวข้องมาถาม และ “ให้การบ้าน” ตรงนี้ไม่มีน้ำจะทำอย่างไร ซึ่งทุกคนก็รีบกลับไปหาข้อมูลอย่างเร่งรีบ จนได้แผนงานมาถวายภายใน 20 วัน ทำให้โครงการเดินหน้าได้เร็ว เพราะทรงตามจี้ เร่งรัดตลอด ถ้าไม่ใช่พระองค์ท่าน ไม่มีทางเสร็จได้ภายใน 10 ปีแน่...งาน “เรื่องเล่า ร.9 น้อมเกล้าภักดี” จึงสร้างความระลึกจงรักถึงพระองค์ท่าน ด้วยความสุขใจ ที่ได้เกิด ได้เห็น มีความทรงจำที่งดงาม ตลอดรัชสมัย.
...
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่