งาน Thailand Friendly Design Expo 2022 : มหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 6 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เมื่อเร็วๆนี้ มีเรื่องที่สังคมควรยินดีอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ การผลักดันอารยสถาปัตย์หรือ Friendly Design ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ที่ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้วในปี 2566 นี้
อิทธิพล คุณปลื้ม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ย้ำชัดในงานครั้งนี้ว่า กระทรวงวัฒนธรรมตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของประชากรทั้งในสังคมโลกและในประเทศไทย โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ขณะนี้จำนวนผู้สูงอายุมีมากกว่า 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของประชากรโดยรวมในปัจจุบัน ไม่รวมผู้พิการอีกกว่า 2.1 ล้านคน หรือ 3.2% ของประชากร ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงบริการด้านต่างๆ เช่น ทางลาด ห้องสุขา และที่จอดรถสำหรับผู้สูงวัย และผู้พิการที่ใช้รถเข็น โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ
“กระทรวงวัฒนธรรมปรารถนาอยากให้ผู้สูงวัย และผู้พิการ ตลอดจนผู้ป่วยพักฟื้น หรือผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง รวมถึงครอบครัวที่มีเด็กเล็กซึ่งต้องใช้รถเข็นสำหรับเด็ก ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของไทยได้ โดยสะดวก ปลอดภัย ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศทั่วโลก จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนและพัฒนาอารย สถาปัตย์ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อคนทั้งมวล” อิทธิพลกล่าว
...
รมว.วัฒนธรรม ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายส่งเสริมให้มีการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้มาอย่างต่อเนื่อง มีตัวอย่างที่ได้ดำเนินการแล้วในหลายพื้นที่ เช่น พิพิธภัณฑ สถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ, พระนครคีรี หรือเขาวัง จ.เพชรบุรี และ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จ.เชียงใหม่ ฯลฯ
“สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งแม้จะตั้งอยู่บนภูเขาที่สูงชัน แต่ก็มีการปรับปรุงให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ติดตั้งลิฟต์ มีทางลาดเชื่อมโยงไปยังจุดต่างๆ และมีห้องสุขา เพื่อให้ผู้สูงวัย ผู้พิการ และมนุษย์ล้อหรือคนที่ใช้รถเข็นสามารถ เข้าถึงได้ ใช้บริการได้ ไปเที่ยวชมได้ โดยสะดวกและปลอดภัย ตามกติกาสากลของโลกยุคปัจจุบันที่ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รมว.วัฒนธรรมย้ำ
อิทธิพล ยังกล่าวด้วยว่า การขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ในสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ซึ่งหน่วยงานต่างๆได้มีการขับเคลื่อนไปบ้างแล้ว จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ขณะที่ โชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นี่นับเป็นโอกาสอันดีของกระทรวงวัฒนธรรมอีกครั้งหนึ่ง ได้บูรณาการจัดโครงการร่วมกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เพื่อส่งเสริมการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบางให้สามารถเข้าถึงงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมภายใต้แนวคิด การขับเคลื่อน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อคนทั้งมวล (Cultural tourism for All) เพื่อให้กลุ่มผู้เปราะบางได้มีพื้นที่สร้างสรรค์และสามารถเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมได้อย่างเท่าเทียม
...
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบรางวัล Friendly Design Awards 2022 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อคนทั้งมวล มีสถานที่ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 19 แห่ง
สำหรับแนวคิดเรื่องอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) หรือบางครั้งเรียกว่า Universal Design เป็นแนวคิดการออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งของต่างๆรอบตัว โดยให้ความสำคัญกับการที่ทุกคนในสังคมทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกปลอดภัย
ในประเทศไทย ปัจจุบันเริ่มมีพื้นที่สาธารณะหลายแห่งเริ่มมีการปรับปรุงการออกแบบ Friendly Design กับพื้นที่สัญจรและคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟฟ้าที่มีบริการลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางลาด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ รวมทั้งการจัดสรรพื้นที่ภายในรถไฟสำหรับผู้ใช้งานวีลแชร์ มีราวจับ และบริเวณที่สามารถหมุนรถวีลแชร์ได้อย่างสะดวก หรือรถไฟไทยที่เปิดบริการตู้โดยสารพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ใช้วีลแชร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นความตั้งใจที่ต้องการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเป็นเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) เมืองไมซ์ เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (MICE & Tourism for All) เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง.
...