“เจ้าแม่กวนอิม” มีประวัติและตำนานเกี่ยวข้องกับประชาชนเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบหลักฐานทางวรรณกรรม และประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวความเป็นมาหลายตำนาน “เจ้าแม่กวนอิม” เป็นพระโพธิสัตว์ที่มีจิตใจเมตตาต่อชาวโลกตามหลักของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน

เชื่อว่าตำนานประวัติของเจ้าแม่กวนอิมเกี่ยวข้องกับความทุกข์ยากของคนสมัยก่อนที่พบเจอกับภาวะภัยสงครามอย่างยาวนาน การนับถือพระโพธิสัตว์ต่างๆ จึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจยามเผชิญทุกข์ยาก

เจ้าแม่กวนอิม ศาสนาอะไร

ประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่กวนอิม ชัดเจนขึ้นในยุคที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานได้รับความนิยมในประเทศจีน และประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียตะวันออก ควบคู่กับการแพร่หลายของลัทธิขงจื๊อและเต๋า ในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยพบรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมในลักษณะต่างๆ เช่น รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมพันมือ รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมในชุดขาว

รูปปั้น “เจ้าแม่กวนอิม” ในประเทศต่างๆ

รูปปั้นเป็นงานประติมากรรมพุทธศิลป์ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของผู้คนในยุคต่างๆ กัน สืบทอดต่อมานับพันปี โดยมีหลักฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมในประเทศต่างๆ แตกต่างกัน ดังนี้

ประเทศอินเดีย
พบหลักฐานการสร้างรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหลายพระกร ราวพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นยุครุ่งเรืองของพุทธศาสนานิกายตันตระ อันเป็นส่วนหนึ่งของนิกายมหายาน โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนตร์ คาถา พิธีกรรมบูชาสักการะพระโพธิสัตว์ต่างๆ

ประเทศจีน
ชาวจีนที่นับถือเจ้าแม่กวนอิมเป็นเทพเจ้าตามความเชื่อในนิกายมหายาน และเชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีเมตตาต่อมวลมนุษย์ สมัยราชวงศ์ฮั่น และซ่ง สร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมตามแบบอินเดีย ไม่มีเพศ ต่อมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน พบหลักฐานการสร้างรูปปั้นพระโพธิสัตว์เป็นสตรีเพื่อความอ่อนโยน แสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์เช่นเดียวกับที่มารดาแสดงต่อบุตร คาดว่าเป็นการออกแบบจากผู้อพยพจากอินเดียมาอยู่ในประเทศจีน เพื่อแสดงออกถึงการระลึกถึงบ้านเกิดที่ห่างไกล

...

รูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในรูปแบบเพศหญิง เป็นที่เคารพยอมรับของชาวจีนอย่างกว้างขวาง พบตำนานที่สอดคล้องกับการเกิดเจ้าแม่กวนอิม เรื่องเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน (Miaoshan) ในสมัยราชวงศ์ซ่ง

ตำนานประวัติเจ้าแม่กวนอิม

ตำนานเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน

เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน เป็นบุตรีคนที่ 3 ของพระราชาเมี่ยวจง กับพระนางโปยาเทวี เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านไม่ประสงค์จะอภิเษกสมรส จึงถูกพระบิดาบัญชาให้ไปบวชเป็นภิกษุณีที่วัดนกขาว เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านได้บำเพ็ญบารมี โปรดสัตว์ ทำทานแก่สัตว์น้อยใหญ่ จนเจริญญาณขั้นสูง วันหนึ่งพระบิดาได้สั่งให้แม่ทัพเข้ามาทำลายวัด ประหารพระธิดาเมี่ยวซ่าน หลังจากเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านสิ้นพระชนม์ ก็ได้ไปจุติเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม

ตำนานเจ้าแม่กวนอิมพันมือ

ตำนานเกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิมพันมือ จากศิลปะจีนยุคหลังราชวงศ์ซ่ง ที่พบการปั้นรูปเคารพเจ้าแม่กวนอิมมาเป็นลักษณะสตรีเพศ เกี่ยวข้องกับเรื่องราวตำนานเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านเช่นกัน

รูปเคารพพระโพธิสัตว์กวนอิมปรากฏเป็นสตรีเพศ พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือแจกัน บรรจุน้ำทิพย์และกิ่งหลิว บางรูปเคารพสร้างพระหัตถ์ไว้ 4 กร หรือมากกว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านเคยเสด็จไปช่วยพระบิดาให้หายป่วยจากอาการประชวร โดยหมอเทวดาที่รักษาให้พระบิดาแจ้งว่า ต้องใช้พระหัตถ์จากพระโพธิสัตว์ และควักพระเนตรมาทำยา หลังจากพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญทานเสียสละครั้งยิ่งใหญ่นี้ก็ปรากฏพระเนตรกลับคืนมา และมีพระหัตถ์งอกขึ้นมาใหม่ถึงพันพระกร

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ที่กล่าวถึงช่วงอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อแม่น้ำฮวงเหอล้นท่วมบ้านเรือนราษฎร พระโพธิสัตว์กวนอิมบันดาลให้พระกรมีพระเนตรบนพระหัตถ์เข้าช่วยเหลือประชาชน แสดงให้เห็นความกรุณาอันไม่มีที่สิ้นสุด

นับถือเจ้าแม่กวนอิม ห้ามทำอะไรบ้าง

ชาวไทยเชื้อสายจีนที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม จะไม่กินเนื้อวัว ในช่วงเทศกาลกินเจ และบางคนก็งดเนื้อวัวตลอดชีวิต และงดถวายอาหารที่มีเนื้อสัตว์ต่อท่าน เพราะเชื่อว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีความเมตตากรุณา โปรดสัตว์ ละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ในประเทศไทยมีศาลเจ้าที่ประดิษฐานรูปเคารพเจ้าแม่กวนอิม อันเป็นความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่หลายแห่ง ยกตัวอย่างศาลเจ้าแม่กวนอิมในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่

  • ศาลเจ้ากวนอิมเนี้ย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
  • ศาลเจ้าแม่กวนอิม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
  • วิหารเจ้าแม่กวนอิม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
  • ศาลเจ้าแม่กวนอิม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
  • ศาลเจ้าแม่กวนอิม เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร
  • พระโพธิสัตว์กวนอิม อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
  • วิหารพระแม่กวนอิม อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี
  • เจ้าแม่กวนอิมองค์ยืน อ.สามพราน จ.นครปฐม
  • ศาลเจ้าแม่กวนอิม เขตบางกอกน้อย จ.นครปฐม
  • ศาลเจ้าแม่กวนอิม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
  • มูลนิธิพระมหามงคลพุทธนิมิตอวโลกิเตศวร อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

...

การสักการะเจ้าแม่กวนอิม ใช้ธูป 9 ดอก เทียน 2 เล่ม น้ำชา 1 ถ้วย แจกัน 2 ใบใส่ดอกบัว หรือกิ่งหลิว ดูบทสวดเจ้าแม่กวนอิมเพิ่มเติม ได้ที่นี่