อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะน้ำตาลทรายที่ผลิตจากอ้อยถือเป็นวัตถุดิบต้นทางที่สำคัญของหลายภาคอุตสาหกรรม แต่ด้วยวิถีชีวิตของชาวไร่อ้อยมีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมมายาวนาน อย่างการเผาใบอ้อยเพื่อความสะดวกในการตัดอ้อยและหาแรงงานได้ง่ายกว่า นำมาซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กลุ่มมิตรผล ในฐานะผู้ประกอบการในภาคเกษตรอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ทุกภาคส่วน ได้ส่งเสริมเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรแบบดั้งเดิม สู่การทำเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด “มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม” (Mitr Phol Modern Farm) โมเดลการทำไร่อ้อยด้วยหลักเกษตรสมัยใหม่ ที่พัฒนาโดยกลุ่มมิตรผล เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นองค์ความรู้และทักษะในการบริหารจัดการไร่อ้อยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงเทคโนโลยีสนับสนุนการทำไร่อ้อยที่ทันสมัย ด้วยความมุ่งหวังเพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรไทย ทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงการช่วยลดต้นทุนให้กับชาวไร่อ้อย เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ พร้อมยกระดับคุณภาพและปริมาณของผลผลิต ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ท้าทายในการที่จะเปลี่ยนแนวทางการทำไร่อ้อยแบบดั้งเดิมของเกษตรกรที่สืบทอดวิถีกันมายาวนาน

คุณไพฑูรย์ ประภาถะโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานอ้อย กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “เราเชื่อว่าแนวคิดและองค์ความรู้การทำเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบูรณาการเทคโนโลยีร่วมกับการใช้เครื่องจักร ตั้งแต่การกำหนดระยะแปลงปลูก การเก็บเกี่ยวอ้อยสดด้วยรถตัด ไปจนถึงการใช้ประโยชน์จากใบอ้อยที่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล รวมทั้งการบริหารจัดการไร่และน้ำอย่างเป็นระบบ จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน แต่การจะนำโมเดลเกษตรสมัยใหม่มาให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยปฏิบัติจริงไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องท้าทายที่จะเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ทำกันมายาวนาน ต้องอาศัยความตั้งใจและมุ่งมั่นผ่านการลงมือทำจริงในแปลงสาธิตเพื่อโชว์ผลลัพธ์การปลูกอ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตอ้อยคุณภาพดี สดสะอาด เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจถึงแนวคิดนี้อย่างแท้จริง พร้อมเดินหน้าส่งเสริมองค์ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง”

ซึ่งในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรชาวไร่อ้อย นำโดย คุณพิมล สุภาพเพชร ประธานกลุ่มหนองแซงโมเดล ที่ได้นำโมเดลมิตรผล โมเดิร์นฟาร์มมาปรับใช้ในชุมชน โดยคุณพิมลเล่าว่า “ในช่วงปี พ.ศ.2553-2554 เจอปัญหาหนักที่สุดคือเรื่องการขาดแคลนแรงงาน คนในชุมชนก็ต่างคนต่างทำไร่ของตัวเอง เราจึงมารวมกลุ่มกันโดยมีกลุ่มมิตรผลเข้ามาให้ความรู้และแนะแนวการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ นำเครื่องจักรทางการเกษตรมาใช้ทดแทนการขาดแคลนแรงงาน เราจึงนำเครื่องจักรจากเจ้าของไร่ในชุมชนหนองแซงมารวมกัน และแบ่งกันใช้แบ่งกับรับเหมาให้เหมาะสมกับหน้างานในแต่ละไร่ ช่วยทุ่นแรงงานและระยะเวลาในการทำงาน ลดต้นทุน ทำให้มีเวลาในการบำรุงรักษาอ้อยมากยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพให้ผลผลิต มากไปกว่าเรื่องของเครื่องจักร นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนในเรื่องระบบน้ำและไฟฟ้า โดยนำโซลาร์เซลล์เข้ามาใช้ในไร่ ช่วยให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้หลังจากปรับวิธีคิดวิธีทำที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือ ในชุมชนไม่มีการเผาอ้อย ส่งผลดีให้หน้าดินไม่เสียหาย ไม่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แถมเพิ่มรายได้โดยนำใบอ้อยส่งขายให้โรงงานไปทำไฟฟ้าชีวมวลได้อีกด้วย”

นอกจากนี้ สำหรับเกษตรกรรายเล็กที่ตัดอ้อยด้วยแรงงานคน กลุ่มมิตรผลได้จัดตั้งสถานีขนถ่ายย่อยในชุมชนเพื่ออำนวยความสะดวก โดยเกษตรกรไม่ต้องนำอ้อยมาส่งเองถึงโรงงาน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งได้อีกทางหนึ่ง


การนำใบอ้อยมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล นับเป็นการเปลี่ยนของเหลือทิ้งในภาคเกษตรให้มีคุณค่าและยังช่วยลดการเผาอ้อยที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยกลุ่มมิตรผลเปิดรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรมากว่า 7 ปี รวมปริมาณใบอ้อยที่รับซื้อทั้งสิ้นกว่า 1.7 ล้านตัน ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรไปแล้วกว่าพันล้านบาท

ด้านตัวแทนนักวิชาการ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เผยมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เราเห็นตัวอย่างที่ดีของภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนและปรับเปลี่ยนการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรแบบไม่เผา โดยนำมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ลำพังภาครัฐฝ่ายเดียวมีข้อจำกัดในแง่ของงบประมาณ กำลังคน เครื่องไม้เครื่องมือ เราต้องการความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาคชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งภาควิชาการ สถาบันการศึกษา การที่กลุ่มมิตรผลสร้างองค์ความรู้อย่างมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขึ้นมาซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบคาร์บอนต่ำ นอกจากจะช่วยลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ถูกกีดกันด้านการค้า ซึ่งเป็นประโยชน์และสามารถตอบโจทย์วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน”

การเดินทางกว่า 10 ปีของแนวคิด “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” โดยกลุ่มมิตรผล ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในภาคเกษตรอุตสาหกรรมของประเทศไทย นับเป็นความมุ่งมั่นและตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงเกษตรดั้งเดิมสู่วิถีเกษตรแบบยั่งยืน ผ่านโมเดลการทำเกษตรสมัยใหม่ที่ทำได้จริง ได้ผลผลิตเป็นอ้อยสดสะอาด งดเผา และสร้างพลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือทิ้งในภาคเกษตร พร้อมสร้างความยั่งยืนให้แก่คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยให้ก้าวไกลทัดเทียมระดับสากล
