เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 52 ในฐานะองค์กรหลักในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ในการก้าวสู่ปีที่ 53 ด้วยการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
52 ปีที่ผ่านมา กนอ.ได้ดำเนินงานตามพันธกิจ ในการพัฒนา บริหาร และจัดการนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ ส่งเสริมการลงทุน สร้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้าง “นิคมอุตสาหกรรมยั่งยืน” ใน 3 มิติ ควบคู่กันไป ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ : ส่งเสริมการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม
มิติสังคม : ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สนับสนุนการศึกษา และพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม
มิติสิ่งแวดล้อม : อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลดมลพิษ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และบริหารจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ผลลัพธ์แห่งความมุ่งมั่น สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนของ กนอ.ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ Smart Park หรือนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะโฉมใหม่แห่งอนาคต ที่พร้อมเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบ ต้อนรับนักลงทุนด้วยระบบสาธารณูปโภคที่ทันสมัยตอบโจทย์ New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ หุ่นยนต์ และดิจิทัล ด้วยพื้นที่ 1,300 ไร่ และ Smart Park จะเป็นมากกว่านิคมอุตสาหกรรม เพราะเป็นเมืองอัจฉริยะที่ผสมผสานเทคโนโลยี นวัตกรรม ความยั่งยืน เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ที่จะเปิดดำเนินการในปีหน้า
ขณะที่ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ที่เป็น โครงสร้างพื้นฐานอันแข็งแกร่ง เพิ่มขีดความสามารถการขนส่ง รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยท่าเรือของเหลว ท่าเรือก๊าซธรรมชาติ และคลังสินค้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และความคล่องตัวในการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงประเทศไทยกับเศรษฐกิจโลก มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 90%
ที่สำคัญเม็ดเงินลงทุน 17.24 ล้านล้านบาท ที่หมุนเวียนในนิคมอุตสาหกรรม คือบทพิสูจน์ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั่วโลกต่อศักยภาพของประเทศไทย โดยมีนักลงทุนต่างชาติหลักๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ สหรัฐฯ และไต้หวัน กระจายตัวอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 71 แห่ง ใน 17 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ 190,000 ไร่ มีโรงงาน 5,318 โรง และมีแรงงาน 1 ล้านคน
สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของ กนอ.ในการดึงดูดการลงทุน สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ รักษาการผู้ว่าการ กนอ. กล่าวย้ำว่า กนอ.มีความมุ่งมั่นในการสร้าง “นิคมอุตสาหกรรมยั่งยืน” โดยยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวคิด Eco Industrial Town สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ของสหประชาชาติ ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และยกระดับโรงงานให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว 100% ผ่านการใช้เทคโนโลยีสะอาด
“เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนระยะยาว มุ่งสู่การเข้าถึงน้ำสะอาด พลังงานสะอาด การจ้างงานที่ดี การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน”
เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อๆไป
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่