โครงการคอนกรีตคาร์บอนต่ำ สูตรต้นแบบไร้ซีเมนต์ อัปเลเวลความกรีนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50% มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อม
SCG ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้างและบำรุงรักษา (CONTEC) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ สิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัท ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) จํากัด และ บริษัท ฟูจิ โพลี่ (ประเทศไทย) จำกัด นำร่องโครงการทดสอบใช้งานคอนกรีตคาร์บอนต่ำ สูตรต้นแบบไร้ซีเมนต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50% ครั้งแรกในประเทศไทย ณ ไซต์งานถนนภายในโรงงานบริษัท ฟูจิ โพลี่ (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมนวนคร โดย CPAC ผู้นำด้านคอนกรีตผสมเสร็จคุณภาพสูง ใน SCG เพื่อก้าวสำคัญสู่เป้าหมาย Net Zero ในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย
นวัตกรรมคอนกรีตคาร์บอนต่ำสูตรต้นแบบ จากการนำวัสดุทดแทนปูนซีเมนต์ ที่ทาง SCG พัฒนาขึ้นมาต่อยอดและประยุกต์ใช้ร่วมกับ By-Product นับเป็นองค์ความรู้และโครงการนำร่องทดสอบ เพื่อประยุกต์ใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่างๆ ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง ทั้งงานโครงสร้างพื้นฐาน งานสาธารณูปโภค งานโครงการที่พักอาศัย งานก่อสร้างภาคอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตาม Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap
โดย ศ.ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้างและบำรุงรักษา (CONTEC) จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คอนกรีตสูตรใหม่ไร้ซีเมนต์นี้ ใช้วัตถุดิบจากกากอุตสาหกรรมแทนซีเมนต์ปกติ สามารถลดการปล่อย CO2 อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมคุณสมบัติด้านวิศวกรรมที่ทัดเทียมคอนกรีตทั่วไป นอกจากนี้สีของคอนกรีตยังมีความแปลกใหม่ เช่น สีน้ำตาลที่ช่วยเพิ่มมิติในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม
"การพัฒนาคอนกรีตสูตรต้นแบบไร้ซีเมนต์ มีจุดมุ่งหมายในการทำคอนกรีตให้มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ต่ำมากๆ ในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์หรือติดลบเลยก็ได้ การใช้วัตถุดิบประเภทที่ปล่อย CO2 ต่ำ โดยที่เราไม่ใช้ปูนซีเมนต์เลยและเป็นวัตถุดิบพวกกากอุตสาหกรรม ซึ่งเป็น Combination ที่ดี อัตราส่วนเหมาะสม ทำให้ได้มาซึ่งคอนกรีตไร้ซีเมนต์ที่มีคุณสมบัติทางด้านวิศวกรรมเทียบเท่าการใช้คอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์ทั่วไป ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สำหรับสีของคอนกรีตจากเดิมที่เราเคยเห็นโครงสร้างสีเทาๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามีคอนกรีตที่มีสีแปลกจากสีคอนกรีตเดิมๆ น่าจะเป็นจุดที่น่าสนใจและเป็นจุดขายในอนาคต" ศ.ดร.สมนึก กล่าว
ด้าน นายเฉลิมวุฒิ สงวนญาติ Concrete and Construction Technology Director จาก SCG กล่าวว่า ทาง SCG ได้ตระหนักถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เราเลยมีเป้าหมายในการเดินหน้าสู่การเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์และคอนกรีตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดย SCG ได้รับความร่วมมือจาก สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ไทยเซอิ ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมถึง ฟูจิ โพลี่ ที่ให้สถานที่ในการทดลอง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นต้นแบบของการที่จะนำนวัตกรรมวัสดุทดแทนปูนซีเมนต์ที่มีความเป็นกรีนมาพัฒนาให้เป็น "คอนกรีตที่มีคาร์บอนต่ำ" ที่เราจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อในอุตสาหกรรมการก่อสร้างของไทยต่อไป และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเพิ่มประสบการณ์ของผู้ใช้งานได้เรียนรู้ถึงนวัตกรรมตัวใหม่ๆ และให้อุตสาหกรรมประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
ส่วน นายนาโอฮิโตะ โอบะ Managing Director บริษัท ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทรับเหมาก่อสร้างสัญชาติญี่ปุ่น กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน เรามุ่งหวังที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ โดยคอนกรีตใหม่นี้เมื่อเทียบกับคอนกรีตเดิมมีการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลงถึง 50% ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นผลดีมากสำหรับสังคมไทย เรามุ่งไปที่อนาคตของประเทศไทยโดยคอนกรีตนี้จะเปลี่ยนวงการการก่อสร้างทั้งหมด คอนกรีตนี้เป็นคอนกรีตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก โดยมีสีน้ำตาลซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักออกแบบ ยังสามารถนำไปใช้กับหน่วยงานการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งยังมีข้อดีทั้งในด้านคุณภาพและสีสัน ในอนาคตเรามั่นใจว่าด้วยเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นและเทคโนโลยีจากกลุ่มบริษัท SCG จะทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตเป็นไปในทางที่ดีและพร้อมมุ่งสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน
ในขณะที่ นายฮิโรฮิโกะ มินาเอะ President บริษัท ฟูจิ โพลี่ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของโครงการก่อสร้าง กล่าวว่า ทั้งนี้หนึ่งในเป้าหมายบริษัท ของเราก็มีแผนที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งตามเป้าหมายนี้เราก็ได้เริ่มคิดเกี่ยวกับว่าจะทำอย่างไรถึงจะสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ แต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราสามารถดำเนินการเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้นั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ถ้าโครงการนี้สำเร็จ ผมเชื่อว่าจะเป็นการขยายขอบเขต การมีส่วนร่วมในกิจกรรมลดคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสังคมได้