ธุรกิจจัดเลี้ยงหรือจัดงานอีเวนต์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องใช้ดอกไม้จำนวนมากในการตกแต่งเพื่อสร้างความสวยงามให้กับบรรยากาศของงาน แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สร้างขยะจากดอกไม้ที่เหลือทิ้งหลังจากจบงานในจำนวนไม่น้อย “นครโต๊ะ” ผู้จัดธุรกิจงานจัดเลี้ยงจึงเกิดไอเดียสร้างความยั่งยืนด้วยการนำ “ผักสวนครัว” มาใช้ตกแต่งแทนดอกไม้ ที่นอกจากสร้างความแปลกใหม่แล้วยังต่อยอดสู่ความยั่งยืนด้วยการนำผักที่ใช้ในการจัดงานไปแจกจ่ายให้คนในชุมชนนำไปประกอบอาหารต่อเพื่อก่อให้เกิด Zero Waste
คุณอัศรี จารุโกศล หรือ เปิ้ล เจ้าของธุรกิจจัดเลี้ยง “นครโต๊ะ” เล่าให้กับทีมไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการนำผักมาใช้แทนดอกไม้ว่ามาจากไอเดียของดาราสาว แมท-ภีรนีย์ คงไทย ที่ต้องการจัดงานแต่งงานที่สะท้อนความเป็นตัวตนของเธอให้มากที่สุด พร้อมกับยื่นภาพตัวอย่างสไตล์การจัดงานที่นำผักมาใช้จัดโต๊ะให้ดู จึงได้นำมาต่อยอดสู่การจัดงานเลี้ยงอย่างยั่งยืน
“ตอนนั้นยังไม่ได้ต่อเรื่องความยั่งยืนอย่างเต็มที่ แต่พอเราเริ่มต้นด้วยธีมผัก ซึ่งไม่เคยมีการจัดรูปแบบนี้มาก่อน เราก็มีการทดลองว่าจะจัดแต่งยังไงถึงจะสวย ซึ่งทุกครั้งที่ทดลองก็จะมีผักที่เอาไปใช้ต่อได้เลย ครั้งแรกได้แกง 2 หม้อ ครั้งถัดไปพนักงานก็ได้ผักกลับบ้านไป ทำให้เราเกิดไอเดียว่าในวันจริงจะมีผักจำนวนมากเข้ามาในงาน ซึ่งไอเดียนี้จะทำให้เกิด Zero Waste ทำให้เรามาวางแผนเป็นระบบขั้นตอนว่า จะเอาผักนี้ไปทำอะไรต่อ ซึ่งธีมแบบนี้อยากทำมานานแล้ว เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นมาได้ยังไง รอบนี้เราก็ประชุมกับทุกแผนกที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ตอนแรกว่าเราจะเตรียมผักอะไรไปจัดบ้าง พอจัดเสร็จแล้วผักเหล่านี้เราจะบริหารจัดการยังไง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเราอยากให้ภาพนี้เกิดขึ้นชัดในมุมของลูกค้าด้วย”
คุณเปิ้ลเผยว่าหลังจากที่จบงานแต่งงานของแมท ภีรนีย์ ไป ส่งผลให้หลายคนเห็นรูปแบบการจัดเลี้ยงที่ใช้ผักมาตกแต่งมากขึ้นจึงทำให้มีลูกค้าหลายคนเข้ามาสอบถามถึงรูปแบบการจัดงานแบบยั่งยืนนี้ว่าต้องทำอย่างไร และนำผักไปแจกจ่ายอย่างไร ซึ่งทางนครโต๊ะได้มีการสื่อสารกับชุมชนที่จะนำผักไปแจกจ่ายให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นการแบ่งปันจากงานจัดเลี้ยงที่เกิดขึ้น และคาดหวังอยากให้สิ่งนี้เกิดผลกระทบต่อการสร้าง Zero Waste ต่อประเทศไทยในระยะยาว
“เราทำคลิปวิดีโอสื่อสารกับทางลูกค้าให้เห็นไอเดียว่าถ้าใครสนใจงานที่ทำให้เกิด Zero waste และงานก็ออกมาสวยงาม เราเริ่มตั้งแต่ไอเดีย จัดงานเสร็จจนจบงานก็ให้คนเอาไปใช้ต่อได้ เราเริ่มต้นให้เห็นว่าถ้ามันทำแบบนี้ขึ้นมาก็น่าจะดี”
ความท้าทายที่ต้องรับมือ
แม้ว่าการนำผักสวนครัวมาใช้ตกแต่งงานจัดเลี้ยงจะมีราคาย่อมเยากว่าการใช้ดอกไม้มากกว่าหลายเท่าตัว แต่ก็มีความท้าทายกว่าด้วยเช่นกัน ตั้งแต่วิธีการจัดวางที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นว่าจะต้องทำอย่างไรให้ออกมาสวยงามไปจนถึงการดูแลรักษาให้ผักมีสีสันที่ดูสดใหม่ตลอดเวลา เพราะไม่ได้ปักอยู่ในแจกันหรือใช้โอเอซิสเป็นน้ำหล่อเลี้ยงเหมือนการใช้ดอกไม้ ทำให้ทีมงานของนครโต๊ะต้องคิดค้นและหาวิธีเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้อยู่เสมอ อีกทั้งการค้นหาผักสดที่สวยงามตามต้องการก็ต้องหาจากหลาย ๆ แหล่งเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการและทำให้งานออกมาสวยงามที่สุด แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ผลลัพธ์ที่ได้เธอก็ยอมรับว่ามันคุ้มค่ากับการที่ได้ลองทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริง
อีกหนึ่งข้อจำกัดของการใช้ผักคือ “ธีมสี” เนื่องจากผักส่วนใหญ่เป็นสีเขียว ขณะที่ลูกค้าหลายรายก็อยากจัดงานในธีมสีสันต่างๆ ที่ต้องการ จึงทำให้ต้องมีการสื่อสารให้เข้าใจถึงข้อจำกัดนี้ และมองว่าการจัดงานรูปแบบนี้คืออีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
ปัจจุบันการจัดเลี้ยงด้วยผักสวนครัวเริ่มมีการตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะยังน้อยกว่าการใช้ดอกไม้ แต่เธอก็มองว่าเป็นแนวโน้มที่ดีกว่าไม่เคยมีเลยแบบที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่ให้ความสนใจจะเป็นกลุ่มวัยกลางคนที่มีความสนใจเรื่อง Zero waste
“เราตั้งใจป๊อปอัปเรื่องนี้มาเป็นไอเดียถ้าทำไปได้ไกลกว่านี้ในเรื่อง Zero waste แต่การจะทำอะไรออกมาหลายคนก็ต้องเห็นดีเห็นงามด้วยเหมือนกัน เช่น ลูกค้ารู้สึกดีที่อยากจัดงานแบบนี้ คนจัดงานก็อยากจะเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้ เราก็เลยพยายามเริ่มก่อนแล้วทำให้มันดีพอที่หลายคนจะเห็นดีเห็นงามด้วย”
นอกจากการนำผักสวนครัวมาใช้แทนดอกไม้เพื่อสร้างความยั่งยืนแล้ว นครโต๊ะยังมีจุดยืนเรื่องความยั่งยืนในการทำธุรกิจมาเนิ่นนาน ตั้งแต่การลดใช้พลาสติกสำหรับห่อสิ่งของแล้วหันมาใช้วัสดุทดแทนอื่นๆ ที่สามารถชำระล้างทำความสะอาดได้เพื่อลดการเกิดขยะ ไปจนถึงการออกแบบโต๊ะเก้าอี้สำหรับใช้ในการจัดเลี้ยงเองที่สามารถนำไปใช้ตกแต่งงานอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องซื้อใหม่ รวมถึงการจัดเลี้ยงตามธีมสีที่ลูกค้าอยากได้ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำมาเพื่อรองรับความต้องการลูกค้า และสามารถนำไปใช้ซ้ำได้หลายครั้งอีกด้วย