เช่าที่ราชพัสดุพลิกชีวิต

Sustainability

ความยั่งยืน26 พ.ย. 2567 06:12 น.

“ที่ราชพัสดุ” คืออสังหาริมทรัพย์ อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ราว 12.60 ล้านไร่ โดยบางพื้นที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ บางพื้นที่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า บางพื้นที่ถูกประชาชนบุกรุกเพื่อทำมาหากินมาอย่างยาวนาน

ทุกรัฐบาลต่างมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้แก่พี่น้องประชาชน เพื่อความกินดี อยู่ดี ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่นเดียวกับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายที่จะทำให้ประชาชนมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

ทำให้ “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง ในฐานะกำกับกรมธนารักษ์ ที่ดูแลที่ราชพัสดุทั่วประเทศ เดินหน้าเต็มสูบกับนโยบายจัดทำกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ประชาชนได้จับจองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้โครงการ “ธนารักษ์เอื้อราษฎร์ : สัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน” เช่าที่ราชพัสดุได้ในระยะเวลา 3-30 ปี หรืออาจเช่าระยะยาว 99 ปี ด้วยอัตราค่าเช่าถูกมาก แบ่งเป็นดังนี้

ราคาเช่าที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย หากไม่เกิน 100 ตารางวา อัตราเช่า 0.25 บาทต่อตารางวาต่อเดือน  หากเกิน 100 ตารางวา อัตราเช่า 0.50 บาทต่อตารางวาต่อเดือน และราคาเช่าที่ดินเพื่อประกอบการเกษตร เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ อัตราเช่า 20 บาทต่อไร่ ต่อปี และหากเกิน 50 ไร่ อัตราเช่า 30 บาทต่อไร่ต่อปี

โดยปีงบประมาณ 2567 ได้ดำเนินการทั้งสิ้น 12 จังหวัด รวมผู้เช่าที่ราชพัสดุ 3,200 ราย เนื้อที่ประมาณ 11,587 ไร่ 1 งาน 94.90 ตารางวา ส่วนปีงบประมาณ  2568 มีแผนมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ 13 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดหนองบัวลำภู 34 ราย 97 ไร่ นครสวรรค์ 1,081 ราย 19,466 ไร่ มุกดาหาร 200 ราย 687 ไร่ เพชรบูรณ์ 139 ราย 100 ไร่ อุดรธานี 221 ราย 1,142 ไร่ กาฬสินธุ์ 728 ราย 5,219 ไร่ สระบุรี 120 ราย 46 ไร่ เชียงราย 500 ราย 75 ไร่ ลำปาง 230 ราย 254 ไร่ นครราชสีมา 151 ราย 273 ไร่ กาญจนบุรี 172 ราย 248 ไร่ ราชบุรี 200 ราย 1,728 ไร่ และสุราษฎร์ธานี 206 ราย 1,936 ไร่ รวม 3,982 ราย

นอกจากนี้ยังมีนโยบายเจรจาหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ปล่อยให้ที่ราชพัสดุรกร้างว่างเปล่า ไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ นำมาจัดสรรให้ประชาชนเช่า เพื่อจะได้มีที่อยู่อาศัย และมีที่ดินทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องบุกรุกพื้นที่ป่าหรือพื้นที่คนอื่นอีก

การมีสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ถือเป็นก้าวแรกที่ประชาชนจะได้ถือครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีอาณาเขตการถือครองที่ชัดเจน สามารถสืบสิทธิการเช่าให้กับทายาทได้

เพราะนอกจากมีสัญญาเช่าการันตี การใช้ที่ดินได้ยาวๆแล้ว สัญญาเช่าใบนี้ยังสามารถนำไปยื่นขอใช้ไฟฟ้า ใช้น้ำ ขอทะเบียนบ้าน และบ้านเลขที่ได้ด้วย เพื่อจะได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง สามารถนำไปยื่นขอสินเชื่อได้ด้วย โดยในเร็วๆนี้กรมธนารักษ์จะทำข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับสถาบันการเงิน เพื่อให้พิจารณาการให้สินเชื่อสำหรับกลุ่มประชาชนที่มีสัญญาเช่าที่ราชพัสดุด้วย

และที่สำคัญสุด คือการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล กรณีที่มีมาตรการต่างๆออกมาช่วยเหลือประชาชน ที่ผ่านมาหลายคนไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล เนื่องจากไม่มีทะเบียนราษฎร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

การมีที่ดิน มีที่อยู่อาศัยถือเป็นรากฐานสำคัญของการดำรงชีวิตมีรายได้ที่มั่นคง มีโอกาสอย่างเท่าเทียม มีความเป็นอยู่ที่ดี “มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” ตามคำประกาศลั่นเวทีปราศรัยหาเสียง และคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร”

อย่างไรก็ตาม การมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง มีบ้านเป็นของตัวเอง ถือเป็นความสุขที่สุดของชีวิตมนุษย์ แต่อย่าหลงลืมประเด็นที่มีคนทักท้วงไว้ โดยเฉพาะการแจกที่ดิน ที่มากเกินไป เพราะคน 1 คน หรือ 1 ครอบครัวไม่ควรมีที่ราชพัสดุมากเกินไป จนเข้าขั้นเรียก ว่า “คนมีฐานะ มีอันจะกิน”

ขณะที่มีอีกหลายคน ยังไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง มิเช่นนั้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเช่นเดิม ที่ว่าคนจนไม่จริงได้สิทธิ แต่คนจนจริงๆ ไม่ได้รับสิทธิใดๆ

มิเช่นนั้น! ความตั้งใจของรัฐบาลที่จะสร้างโอกาสความเท่าเทียมให้ประชาชน ก็จะไม่สัมฤทธิผล และยังคงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมดังเดิม มิแปรเปลี่ยนใดๆ.

ดวงพร อุดมทิพย์

คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม

SHARE

Follow us

  • |