• Future Perfect
  • Articles
  • "Seeding-Rebirth" กระทงจากเส้นใยเห็ดรา เป็นมิตรต่อโลก หนุนการท่องเที่ยวยั่งยืน

"Seeding-Rebirth" กระทงจากเส้นใยเห็ดรา เป็นมิตรต่อโลก หนุนการท่องเที่ยวยั่งยืน

Sustainability

ความยั่งยืน24 พ.ย. 2567 16:28 น.

เปิดตัว "Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา" ผสมผสานวิทยาศาสตร์ด้านวัสดุและเทคโนโลยีชีวภาพจากไมซีเลียม กับประเพณีลอยกระทง จ.ตาก

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 มีรายงานว่า ภายใต้ความร่วมมือกับโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เหมืองผาแดง) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นำโดยนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และนักวิจัยจากสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับนักวิจัยและพันธมิตรจากหลากหลายองค์กร ได้แก่ 1) โครงการภาคภาษาอังกฤษ โรงเรียนสตรีนนทบุรี 2) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 3) บริษัท เมิร์จ จำกัด 4) เครือข่ายเพื่อนสวนพฤกษ์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 5) กรมป่าไม้ (เหมืองผาแดง) และ 6) สำนักงานเทศบาลเมืองตาก ได้ร่วมกันพัฒนา “Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา”

ที่ได้เปิดตัวครั้งแรกในงานวันลอยกระทง ค่ำคืนที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ สำนักงานเทศบาลเมืองตาก อ.เมืองตาก จ.ตาก ด้วยการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร สู่ผลิตภัณฑ์กระทงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาศักยภาพชุมชนในเรื่องความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต

นักวิจัยทั้งสองได้เผยว่า การนำเสนอนวัตกรรมครั้งนี้เป็นการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ผักตบชวาและขี้เลื่อยไม้ยางพารา โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เชื่อมโยงกับเส้นใยเห็ดราในฐานะกาวธรรมชาติ อีกทั้งได้ให้นักเรียนและครูจากโครงการภาคภาษาอังกฤษ โรงเรียนสตรีนนทบุรี ได้แก่ นางสาวสุภัสสร สังขะวรรณ นางสาวสุภัสสรา สังขะวรรณ นางสาวสุพิชญา เอี่ยมธนากุล และครูปณิธาน จันทราปัตย์ ร่วมกันทำโครงการวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ภาคภาษาอังกฤษ โรงเรียนสตรีนนทบุรี ร่วมด้วย ผศ.ดร.ปรียาพร เกิดฤทธิ์ และ ดร.จักรพล พันธุวงศ์ภักดี จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างสรรค์กระทงดังกล่าว

โดยผลงาน “Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา” เป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดจากผลงาน “ไมซีเลียมปลูกป่ารูปหัวใจ” และ “ไมโค-บล็อกจากกากกาแฟ” ภายใต้โครงการ “การอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในพื้นที่เหมืองผาแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก ตามโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดตาก

นายกานดิษฏ์ สิงหกัน ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์และแผนงานตามแนวพระราชดำริ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ ในฐานะหัวหน้าโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ ได้มอบหมายให้นายคมน์ เครืออยู่ นักวิชาการป่าไม้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่โครงการฯ ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมกับนายณพล ชยานนท์ภักดี นายกเทศมนตรีเมืองตาก และนางสาวธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานตาก โดยโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมฯ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ร่วมกับพันธมิตร ได้นำเมล็ดพืชสำหรับปลูกป่าฝังลงใน “Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา” ซึ่งถูกนำไปสาธิตและประยุกต์ใช้ร่วมในงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง จังหวัดตาก ประจำปี 2567 ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ประเพณีนี้เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

โดยปีนี้มีการลอย "Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา" ร่วมกับกระทงที่ทำจากกะลามะพร้าวและวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ ภายในบรรจุขี้ไต้หรือเชื้อเพลิงที่เตรียมไว้ แล้วจุดไฟปล่อยลงในแม่น้ำปิง ด้วยการจัดระยะห่างที่สม่ำเสมอ ทำให้กระทงส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องน้ำ ลอยไปตามสายน้ำของลำน้ำปิง

โดย "Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา" นำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เหมืองผาแดง ภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯ ด้วย ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เน้นการส่งเสริมพื้นที่เกษตรและป่าชุมชนเพื่อต่อยอดโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ชุมชนแนวใหม่ ก่อให้เกิดช่องทางรายได้เพิ่ม สร้างความตระหนักรู้ของคุณค่าพื้นที่บ้านเกิด และสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อย่างยั่งยืน (Nature-Based Solution)

อีกทั้งคาดว่าจะช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดโลกร้อน และในอนาคตต้นไม้ที่ปลูกนั้นสามารถนำไปสร้างคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับพื้นที่ได้ด้วย ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG model ของประเทศ

นายอิทธิพล พรหมฝาย นักออกแบบจากบริษัท เมิร์จ จำกัด และผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนสวนพฤกษ์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา" ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผสมผสานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ากับการสร้างความยั่งยืนให้กับจังหวัดตาก

โดยกระทงนี้จะถูกนำไปใช้ต่อในโครงการอนุรักษ์ป่า ร่วมกับภาคการศึกษาท้องถิ่นหลังจากลอยกระทงเสร็จ ทั้งยังมีกระทงบางส่วนที่บรรจุเมล็ดพันธุ์พืชสวนครัวและดอกไม้ ซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ให้กับชุมชนและโรงเรียนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ โรงเรียนบ้านสันป่าไร่ รวมถึงเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

นวัตกรรมเกี่ยวกับ "Seeding-Rebirth กระทงจากเส้นใยเห็ดรา" นี้ยังสอดคล้องกับงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในการเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เคยได้รับความสนใจในสื่อสังคม รวมถึงการพัฒนาโครงการเกษตรที่มีคุณค่าและยั่งยืน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาพื้นที่ป่าหลังจากเมล็ดงอกและเจริญเติบโตต่อไป

ทั้งนี้หวังว่าโครงการดังกล่าวยังถูกยกระดับเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ของประเพณีในฐานะหนึ่งใน "soft power" ของจังหวัดตาก ผ่านการสนับสนุนจากเครือข่ายภาคเอกชนและหอการค้าจังหวัดตาก เป้าหมายหลักของความร่วมมือนี้ คือการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพของชุมชนในความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้ยังเน้นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต.

SHARE

Follow us

  • |