• Future Perfect
  • Articles
  • "GC-OR-การบินไทย" ผนึกกำลัง ผลักดันเชื้อเพลิงอากาศยั่งยืน

"GC-OR-การบินไทย" ผนึกกำลัง ผลักดันเชื้อเพลิงอากาศยั่งยืน

Sustainability

ความยั่งยืน20 พ.ย. 2567 14:32 น.

GC, OR และ TG ผนึกกำลัง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินไทยสู่ยุคพลังงานยั่งยืน เดินหน้าผลักดัน SAF เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ปฏิวัติอุตสาหกรรมการบินไทยอย่างเต็มรูปแบบ

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC, บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TG ประกาศความร่วมมือ ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อผลักดันการใช้ด้านเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ภายใต้พันธกิจร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบิน สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลกที่กำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่คาร์บอนต่ำ

ความร่วมมือระหว่าง GC, OR และ TG ครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการวิจัยและพัฒนาการผลิต รวมถึงส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิง SAF ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบจากของเสียทางการเกษตร การตรวจสอบคุณภาพเชื้อเพลิง ไปจนถึงการจำหน่าย และการใช้ในการชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการขยายการใช้พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมการบินไทย อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงการนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) มาปฏิบัติจริง ผลิตภัณฑ์ SAF ไม่เพียงแต่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของการเดินทางทางอากาศ แต่ยังเสริมสร้างการตระหนักรู้ในระดับสากลถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ 

คุณทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ GC เปิดเผยว่า GC ภูมิใจที่ได้เป็นองค์กรผู้บุกเบิกการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน โดยใช้การแปรรูปน้ำมันพืชใช้แล้ว ร่วมกับน้ำมันดิบ ภายใต้โครงการ Biorefinery เป็นรายแรกของประเทศ  ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโรงกลั่นชีวภาพ GC จึงสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการผลิต SAF ในระดับเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่

โดยในระยะแรกมีกำลังการผลิต 5,000 ตัน หรือ 6 ล้านลิตรต่อปี และจะขยายเป็น 25,000 ตัน หรือ 24 ล้านลิตรต่อปีในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 15,000 ตันต่อปีในระยะแรก และ 60,000 ตันต่อปีในระยะที่สอง กระบวนการนี้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการแปรรูปวัสดุชีวภาพ แต่ยังสร้างความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมการบินไทยจะสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก และมีส่วนร่วมสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน เรามั่นใจว่าการนำนวัตกรรมนี้มาใช้จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมตอบโจทย์ความท้าทายด้านพลังงานในยุคปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ด้าน คุณสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท OR เปิดเผยว่า OR มีความมั่นใจในความสามารถที่จะให้บริการด้านการจำหน่าย การจัดส่ง และรองรับเทคโนโลยีเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน โดย OR และ GC ได้ร่วมพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนสำหรับการผสม SAF โดยนำกระบวนการ Co-Processing ของ GC มาใช้ในอุตสาหกรรมการบินเป็นครั้งแรกเพื่อรองรับนโยบายการบังคับใช้ SAF ของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ด้วยระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งของ OR ที่ครอบคลุมการจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วประเทศ OR จึงมีความพร้อมในการจัดส่ง SAF ไปยังทุกภูมิภาคของประเทศไทย และด้วยความร่วมมือร่วมกับการบินไทย (TG) เพื่อใช้ SAF ในเที่ยวบินของการบินไทยทั้งเส้นทางบินในประเทศและต่างประเทศ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ธุรกิจยั่งยืน จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อแสดงถึงการตระหนักในความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการร่วมลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ทั้งสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการบินระหว่างประเทศตามข้อบังคับของ ICAO ในอนาคต รวมทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจของ OR ที่มุ่งสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน OR SDG เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2608

คุณเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะ SAF ถือเป็นทางเลือกที่สำคัญในการช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ที่ต้องการบรรลุ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งการบินไทยจะได้ทำงานเคียงข้างกับ OR และ GC โดยมีเป้าหมายที่จะร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะเทคโนโลยีในการผลิต การใช้งาน และการรักษาคุณภาพของเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน รวมถึงการทำงานร่วมกันในการพิจารณาโครงการใหม่ๆ ในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก สำหรับการดำเนินธุรกิจอากาศยานของไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินไทยให้ก้าวไปข้างหน้าในทิศทางที่ยั่งยืน

ความร่วมมือในการผลักดันการใช้ SAF ของ GC, OR และ TG ไม่เพียงเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการบินไทย แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดผลกระทบต่อโลก

SHARE

Follow us

  • |