คุยกับหัวหน้าวิจัย "อาหารเสริม" ให้พะยูนค่อนข้างได้ผล ทุเลาวิกฤติที่เกิดขึ้น แต่ "หญ้าทะเล" ยังจำเป็น วอนช่วยกันดูแลธรรมชาติ หากระบบนิเวศรวน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ย่อมมีราคาแพง!
ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เกิดเรื่องราวอันน่าสลดสะท้อนวิกฤติทะเลไทย เมื่อ 'พะยูน' หรือ 'หมูน้ำ' (Dugong) 1 ใน 20 สัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ทยอยตายอย่างต่อเนื่องถึง 9 ตัว เกิดเป็นภาพชวนเวทนาส่งต่อว่อนโลกออนไลน์ ด้าน 'สุมนา ขจรวัฒนากุล' ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่ง ถึงกับเอ่ยว่าการตายของพะยูนเมื่อตุลาคม 2567 ทุบสถิติสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกมา!
อ่านเพิ่มเติม : ตุลาสาหัส! "พะยูนไทย" ตายต่อเนื่อง 9 ตัว สะท้อนวิกฤติหญ้าทะเล
เรื่องราวชวนเวทนาเหล่านั้น ล้วนสัมพันธ์กับความแปรปรวนของธรรมชาติ อันเป็นผลสืบเนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิด 'ภาวะโลกเดือด' จนทำให้ 'หญ้าทะเล' อาหารหลักของพะยูนลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง พะยูนจำนวนหนึ่งต้องตายจากการขาดอาหาร บางกลุ่มร่อนเร่แสวงหาที่ใหม่เพื่อเอาชีวิตรอด
อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ทราบถึงปัญหานี้และไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาทางแก้ไขเร่งวิจัยว่า อะไรจะมาช่วยทุเลาวิกฤตินี้และสิ่งไหนจะมาเป็น 'อาหารเสริม' ให้พะยูนไทยได้มีโอกาสไม่ต้องสูญพันธุ์จากหน้าประวัติศาสตร์
หนึ่งในกัปตันผู้ขับเคลื่อนความหวังนี้ คือ 'นายหิรัญ กังแฮ' นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (Phuket Marine Biological Center) ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีของทีมข่าวฯ อย่างยิ่ง ที่ได้สนทนากับเขาในวันนี้
วิกฤติหญ้าทะเลในไทย :
ภาพสถานการณ์หญ้าทะเลของไทย เสื่อมโทรมเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มหญ้าคาทะเล โดยเฉพาะฝั่งอันดามันที่เสื่อมโทรมเป็นวงกว้าง ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัยเริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2562 เป็นต้นมา "ยังดีนิดหนึ่งตรงที่ราไวย์ไม่ค่อยมีผลกระทบตายยกต้นหรือยกแปลง เหมือนกับที่ตรังและกระบี่ประสบอยู่ ถึงอย่างนั้นความเสื่อมโทรมยังมีเหมือนกัน" หิรัญ กล่าวกับเรา
ความเสื่อมโทรมนี้เป็นผลสืบเนื่องจาก 'การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ' (Climate change) ทำให้โลกร้อนขึ้น ประจวบเหมาะกับการขึ้นลงของน้ำทะเล ที่ลงต่ำมากกว่าปกติกว่าจะกลับขึ้นมาก็ใช้เวลานานกว่าเดิม หญ้าทะเลจึงโดนแดดเป็นเวลานานส่งผลให้ตายเยอะขึ้น โดยเฉพาะหญ้าที่มีใบยาวและอยู่บริเวณน้ำตื้น
หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ชวนทีมข่าวฯ ออกจากภาพรวมแล้วมาโฟกัสพื้นที่ราไวย์ ณ เกาะภูเก็ต เขาให้ข้อมูลกับเราว่า 2 ปีแล้วภาพรวมของหญ้าทะเลอยู่ที่ประมาณ 4,800 ไร่ ซึ่งบริเวณป่าคลอกมีอยู่ประมาณ 2,400 ไร่ แต่ขณะนี้กลับเหลือพื้นที่เพียงประมาณ 1,000 ไร่เท่านั้น ลดลงราว 50-60% เลยทีเดียว!
อย่างไรก็ตาม ดั้งเดิมแล้วบริเวณป่าคลอกมีพะยูนอาศัยประมาณ 6-7 ตัว แต่ขณะนี้กลับมีถึง 20 ตัว หิรัญได้ชี้แจงกับเราว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกเดือด ที่ทำให้หญ้าทะเลบริเวณอื่นเสื่อม พะยูนจึงต้องอพยพมาจากที่อื่น เป็นหนทางในการเอาตัวรอดตามธรรมชาติ
อาหารเสริมของพะยูน :
การลดลงของหญ้าทะเลส่งผลให้ 'ปิ่นสักก์ สุรัสวดี' อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รู้สึกไม่สบายใจและคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง จึงได้มอบหมายให้ 'หิรัญ กังแฮ' พร้อมทีมงาน ได้ร่วมมือกันทำวิจัยว่าสิ่งใดที่พอจะมาช่วยทุเลาวิกฤติในท้องทะเลครั้งนี้ได้!
เหตุที่อธิบดีฯ ปิ่นสักก์ ไว้วางใจหัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ ผู้นี้ มาจากการที่หิรัญเคยประสบความสำเร็จในการสร้างศูนย์อาหารเต่าทะเล เต่าตะนุ และเต่ามะเฟือง จนได้จดสิทธิบัตรเป็นครั้งแรกของโลก "ท่านมองว่าผมเป็นนักอาหาร มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเพาะเลี้ยง เลยให้ผมลองดูว่าเราจะทดแทนอาหารธรรมชาติ หรือหญ้าทะเลได้อย่างไร"
"ผมเลยค้นหาข้อมูลทำการศึกษา พบว่าพะยูนไม่ได้กินแค่หญ้าทะเลแต่ยังกินสาหร่ายด้วย โดยเฉพาะสาหร่ายผมนาง เช่น ข้อมูลจากเกาะลิบงและเกาะมุกก็รายงาน พะยูนชอบสาหร่ายทะเลมาก ซึ่งนั่นก็เป็น 1 ใน 10 ชนิดพืชที่ผมใช้อยู่ รวมไปถึงผักกาดขาว ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง เป็นต้น พืชที่กล่าวมาเขากินแน่นอน แต่ผมก็ต้องพยายามหาชนิดอื่นเพิ่มเติม" หิรัญ เอ่ยด้วยเสียงมุ่งมั่น
นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ เล่าเพิ่มเติมว่า ช่วงที่ศึกษาข้อมูลก็พยายามดูพะยูนที่ถูกเลี้ยงในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำทั่วโลก เพื่อหาว่าเขาใช้อะไรเป็นอาหาร ทำให้รู้ว่ามีทั้งผักกาดหอม ผักกาดขาว ผักบุ้ง กวางตุ้ง หรือแม้กระทั่งหญ้าขน และหญ้าเนเปียร์ เราก็เอามารวบรวมแล้วศึกษาองค์ประกอบทางเคมี พบว่าคล้ายคลึงกับหญ้าทะเล
คุณอาจจะคิดว่าเมื่อมีอาหารเสริมแล้ว หากหญ้าทะเลหมดก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะพืชผักที่กล่าวมามีขายทั่วไปตามท้องตลาด แต่หิรัญบอกว่าความจริงไม่ใช่อย่างนั้น "อาหารหลักของเขาคือหญ้าทะเล ส่วนอาหารเสริมก็คืออาหารเสริม คำตอบมันชัดเจนอยู่แล้วว่าอาหารหลักต้องมี ถ้ามีอาหารธรรมชาติก็ไม่จำเป็นต้องมีอาหารเสริม แต่ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะเราต้องมีเผื่อไว้จึงจะดีที่สุด"
โจทย์ใหม่ที่ต้องแก้ไข :
ในหนึ่งวันน้ำทะเลอันดามันจะขึ้นสูงสุด 2 ครั้ง "ตีว่าครั้งละ 5 ชั่วโมง 2 ครั้งก็ 10 ชั่วโมง" หิรัญกล่าว พร้อมเสริมว่า พะยูนจะขึ้นมากินอาหารช่วงน้ำขึ้น แสดงว่าในวงจรชีวิต 24 ชั่วโมง เขากินอาหารประมาณ 8-10 ชั่วโมง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของพะยูนคือการกิน และอาหารหลักก็คือหญ้าทะเล เวลาที่เหลือคือการนอน การผสมพันธุ์ หรือปฏิสัมพันธ์ของฝูง อย่างที่เราเห็นรอยสีขาวบนหลังเขา นั่นคือปฏิสัมพันธ์ของพะยูนในการเอาเขี้ยวมาครูดที่หลังกัน
หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ ระบุว่า พะยูนคือตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งหญ้า เมื่อแหล่งหญ้าที่เขาเคยกินไม่พออีกต่อไป พะยูนก็ต้องพยายามว่ายไปที่อื่น เพื่อแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ ก็ไม่ต่างกับมนุษย์ที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด
"ฉันใดก็ฉันนั้น ตอนแรกที่ราไวย์มีพะยูนอยู่ 3 ตัว ได้แก่ หลังขาวใหญ่ หลังขาวเล็ก และหลังขีด เมื่อหญ้าทะเลเริ่มเสื่อมโทรม ก็เหลือแค่ขาวใหญ่ตัวเดียว ที่ยังคงว่ายโชว์ตัวข้างสะพาน และพยายามกินตอหญ้าทะเลที่ยังเหลือใบอยู่ และหากหญ้าทะเลยังฟื้นตัวได้เขาก็จะกินแบบนั้นต่อไป แต่ถ้าปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ เขาก็จะมากินแปลงอาหารเสริมของผมแน่นอน เหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้"
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เจ้าน้องพะยูนกำลังเจอปัญหาครั้งใหม่! นั่นก็คือ "ฝูงปลาสลิดทะเล" ที่เข้ามาว่ายเวียนวนบริเวณแปลงหญ้าอาหารเสริม ที่คุณหิรัญและทีมงานเตรียมไว้ให้ แสดงท่าทีหวงอาณาเขตราวกำลังสื่อสารผ่านสัญชาตญาณสัตว์ว่า "อย่ามายุ่งกับที่ของพวกฉันนะเจ้าพะยูน!"
หิรัญ เล่าว่า จากภาพหลักฐานที่พะยูนกำลังพุ่งมาที่แปลงผัก เพื่อพยายามเข้ามากินอาหารเสริม พบว่ามีฝูงปลาประมาณ 50-100 ตัว เข้ามาล้อมไว้ทำให้พะยูนต้องหันหนี อีกอย่างเราพบว่ากลุ่มปลาพวกนี้มักแย่งกินอาหารที่เตรียมไว้จนหมดหรือเกือบหมด ตั้งแต่ช่วง 1-2 ชั่วโมงแรกที่น้ำขึ้น
"โจทย์ปัญหาที่ว่ามาก็ต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป เราลองเอาพืชที่ปลาไม่กินมาวางแล้ว แต่ฝูงปลาก็ยังเฝ้าอยู่ตรงนั้น เลยอาจจะต้องลองหาวิธีใหม่ เช่น วางให้ไกลกว่าเดิมหรืออื่น ๆ ตรงนี้เป็นหน้าที่ที่พวกผมต้องรับผิดชอบต่อไป"
สะเทือนมนุษย์หากสูญหญ้าทะเล! :
หากพูดถึงการสูญเสีย 'หญ้าทะเล' หรือ 'พะยูน' คุณผู้อ่านอาจจะยังนึกภาพไม่ออกถึงผลกระทบมากเท่าไรนัก หิรัญจึงได้ชวนปรับเลนส์กว้างสู่เลนส์แคบ กดโฟกัสมองผลกระทบที่จะเกิดกับมนุษย์ ซึ่งนี่แหละน่าจะทำให้เข้าใจความเป็นไปได้มากขึ้น
หิรัญ กังแฮ บอกว่า เมื่อทะเลเกิดคลื่น… หญ้าทะเลคือตัว Bubble Zone ที่เป็นตัวช่วยซึมซับให้คลื่นเบาลง ลดการกัดเซาะผืนดินและผืนทราย เพราะหากเกิดการกัดเซาะมากไป สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ริมน้ำก็มีโอกาสพังลงมาได้ นอกจากนั้นหญ้าทะเลยังเป็นสถานอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งหลายชนิดเป็นอาหารของมนุษย์ "ถ้าหญ้าหายไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีราคาแพง!"
"ผมยกตัวอย่าง ในแหล่งหญ้าจะเป็นที่หลบของลูกปูม้า ที่ตัวเท่าเหรียญบาทเหรียญสิบ ถ้าไม่มีหญ้าให้หลบพวกเขาจะอยู่ไม่ได้ หรือปลาชนิดต่าง ๆ ที่เป็นปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลากระบอก จากที่ลูกปลาจะต้องมาหลบตามแนวหญ้า ถ้าไม่มีหญ้าก็ไม่มีที่หลบ ไม่มีที่หลบก็โดนกิน"
หิรัญ กล่าวต่อว่า หรือหอยบางชนิดต้องวางไข่ที่โคนต้นหญ้าทะเล ถ้าไม่มีหญ้าก็วางไข่ไม่ได้ ไม่มีที่วางไข่ ไม่มีตัวลูกก็ไม่มีอาหารให้มนุษย์ ภาพรวมและตัวอย่างที่กล่าวมาถ้าเกิดว่าขาดแคลน มูลค่าจะมีราคาสูงขึ้น คนเดือดร้อนก็คือมนุษย์ที่ต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้น!
"เมื่อเป็นอย่างนี้จะบอกว่าพะยูนไม่สำคัญก็ไม่ใช่ เพราะเวลาพะยูนกินหญ้าเข้าไปในกระเพาะอาหาร เขาจะปล่อยเป็นอึแล้วมีเมล็ดออกมาด้วย เมล็ดเหล่านั้นจะงอกออกมาตามที่ต่าง ๆ เป็นความหลากหลายทางชีวภาพ ทุกอย่างคือห่วงโซ่ที่ทำให้เกิดระบบนิเวศวิทยา ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ย่อมมีผลกระทบต่ออีกสิ่งอย่างแน่นอน ฉะนั้น มนุษย์ต้องเข้าใจก่อนว่าพะยูนยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ"
การคัดเลือกโดยธรรมชาติ? :
จากที่ทีมข่าวฯ เคยเขียนเรื่องเกี่ยวพะยูนไปก่อนหน้านี้ มีผู้อ่านบางส่วนตั้งคำถามประมาณว่า การลดจำนวนลงของพะยูน เกี่ยวข้องหรือว่าถือเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural selection) หรือไม่?
"จริง ๆ การที่พะยูนอยู่มาถึงปัจจุบันก็เป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติ" หิรัญเริ่มตอบคำถามของเรา "พะยูนอยู่มาได้โดยใช้เวลาวิวัฒนาการหลายสิบล้านปี แต่ผมอยากสื่อสารให้เข้าใจว่า หากเราไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ปล่อยเวลาให้ทรัพยากรพัง วันหนึ่งธรรมชาติก็จะคัดเลือกมนุษย์ และเราก็คงสูญหายกันไปด้วย"
หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกจากการทิ้งขยะลงทะเล ผมต้องถามกลับไปว่า "เราควรภูมิใจเรื่องแบบนี้หรือไม่" หรือมนุษย์คิดว่ามันจะไม่มีผลกลับมาถึงตัวเรา
"สุดท้ายแล้วขยะเหล่านั้นจะแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติก กลับเข้ามาอยู่ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งตอนนี้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ผลกระทบเริ่มออกมาให้เห็นเป็นข่าว ประชาคมโลกเริ่มพูดถึงการเจ็บป่วยจากพลาสติกจิ๋วนี้ แต่ถ้าถามกลับไปว่าปัญหานี้ใครเป็นคนเริ่ม ก็มนุษย์เรานี่แหละที่สร้างมา"
หิรัญ เสริมว่า หากมองการตายของพะยูนเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติ เราก็ต้องตระหนักว่าวันหนึ่งมนุษย์ก็จะโดนไม่ต่างกัน แค่อยากให้ตรงเรื่องดีให้ดีและถี่ถ้วน พวกเราไม่ได้บอกว่าอย่าใช้ทรัพยากร แค่อยากให้ช่วยดูแล ใช้อย่างเหมาะสมและจำเป็น
************
ขอบคุณภาพจาก : ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน